จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 77 – ศึกษาปริทัศน์ เรื่อง แนวทางการแก้ไขการเสพติดเทคโนโลยีและลดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

Newsletters

แนวทางการแก้ไขการเสพติดเทคโนโลยีและลดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
(Strategies for Overcoming Technology Addiction and Enhancing Social Interaction)

เรื่อง : ดร.มนัสวี มนต์ปัญญาวัฒนา

        บทความนี้ผู้เขียนจัดทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการเสพติดเทคโนโลยีและผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ รวมถึงนำเสนอถึงแนวทางในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้มากขึ้น กล่าวคือการค้นหาความสมดุลระหว่างโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้ ดังนั้น ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะได้แสดงรายละเอียดต่าง ๆ ที่่เกี่ยวกับประเด็นของบทความเพื่อความเป็นประโยชน์และเป็นแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง
ความหมายของการเสพติดเทคโนโลยี
        ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน เราใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการทำงาน การเรียนรู้ และความบันเทิง แต่เมื่อการใช้งานนี้เกินขอบเขตย่อมเกิดกระทบต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ได้ พร้อมกันนี้ การเสพติดเทคโนโลยีก็อาจกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงได้เหมือนกัน เพราะผู้คนจำนวนมากไม่สามารถแยกตัวเองออกจากหน้าจอได้แม้ในช่วงเวลาที่ควรให้ความสำคัญกับครอบครัว เพื่อน หรือการใช้ชีวิตจริงนั่นเอง ดังนั้น การเสพติดเทคโนโลยีก็คือการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เกมออนไลน์ หรือการชมวิดีโอต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน กล่าวคือการเสพติดนี้ได้ทำให้เกิดผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ความเครียด ปัญหาสุขภาพ หรือแม้แต่การลดลงของประสิทธิภาพการทำงานและการเรียนรู้
สาเหตุของการเสพติดเทคโนโลยี
        การเสพติดเทคโนโลยีมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญของการเสพติดเทคโนโลยีก็คือความสะดวกสบายและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสาร การรับชมวิดีโอ หรือการเล่นเกม ดังนั้น เทคโนโลยีจึงช่วยให้ทุกอย่างอยู่เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสและทำให้ผู้ใช้เพลิดเพลินจนไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้เวลากับมันมากเกินไปด้วย นอกจากนี้ การออกแบบของแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ก็ยังถูกพัฒนาขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมมากขึ้นตามไปด้วย เช่น มีการแจ้งเตือนที่ดึงดูดความสนใจ หรือมีการให้รางวัลจนทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีทุกครั้งที่มีปฏิสัมพันธ์กับแอป ส่วนสาเหตุที่สำคัญอีกหนึ่งประการคือความต้องการทางสังคม ได้แก่ ผู้คนทั้งหลายมักใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างตัวตนในโลกออนไลน์และแสวงหาการยอมรับจากผู้อื่นผ่านการโพสต์รูปภาพ การได้รับไลก์ และการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสร้างความรู้สึกพึงพอใจที่อาจนำไปสู่พฤติกรรมการเสพติดเทคโนโลยีได้เลย ดังนั้น การทำงานและการเรียนรู้ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากขึ้น ย่อมอาจทำให้หลายคนไม่สามารถแยกชีวิตดิจิทัลออกจากชีวิตจริงได้ ซึ่งน่าจะเป็นการนำไปสู่การใช้งานที่มากเกินไปโดยไม่รู้ตัวจนกลายเป็นการเสพติดไป
ผลกระทบของการเสพติดเทคโนโลยี
        1. ด้านจิตใจและอารมณ์
        การเสพติดเทคโนโลยีสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียเป็นระยะเวลายาวนาน กล่าวคือผลเสียดังกล่าวนั้นอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้ ทั้งนี้ ผู้เสพติดเทคโนโลยีดังกล่าวอาจเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตของผู้อื่นบนแพลตฟอร์มออนไลน์จนทำให้รู้สึกด้อยค่าและขาดความมั่นใจในตัวเองนั่นเอง นอกจากนี้ การรับข้อมูลมากเกินไปยังอาจนำไปสู่ภาวะสมาธิสั้นและขาดความสามารถในการตัดสินใจร่วมด้วย อีกประการหนึ่ง การเสพติดเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นการเล่นเกมออนไลน์มากเกินไปอาจทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นที่ยังขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ สืบเนื่องจากเนื้อหาของเกมนั้นเน้นความรุนแรงจนสามารถไปกระตุ้นพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นที่อยู่่ร่วมกันได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการทำให้เกิดปัญหาด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั่นเอง
        2. ด้านสุขภาพกาย
        สำหรับการใช้เทคโนโลยีเป็นเวลานานย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือการจ้องหน้าจอเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดอาการ “Digital Eye Strain” หรืออาการเมื่อยล้าทางสายตา ซึ่งมีอาการต่าง ๆ เช่น ตาแห้ง ตาพร่า และปวดศีรษะ นอกจากนี้ การนั่งอยู่กับที่นาน ๆ โดยไม่เคลื่อนไหวอาจนำไปสู่โรคอ้วนและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคหัวใจและเบาหวาน ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีจึงไม่ใช่แค่มีประโยชน์อย่างเดียว แต่ทำให้เกิดโทษทางกายได้ ได้แก่ เกิดผลกระทบทางสายตาเมื่อมีการใช้สมาร์ทโฟนก่อนนอนจนทำให้ผู้ใช้มีปัญหาการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท จนส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางกายและจิตใจในระยะยาว
        3. ด้านสังคม
        ผลกระทบที่สำคัญของการเสพติดเทคโนโลยีคือการลดลงของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยมีอยู่ก่อนหน้าการใช้เทคโนโลยี เพราะผู้คนมักเลือกสื่อสารผ่านข้อความหรือโซเชียลมีเดียแทนการพูดคุยแบบตัวต่อตัวนั่นเอง จนในที่สุดได้ทำให้ทักษะการสื่อสารและความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวและการทำงานตามไปด้วย (Turkle, 2015) และอีกปัญหาอีกหนึ่งประการที่พบคือ “Social Isolation” หรือการแยกตัวออกจากสังคม กล่าวคือผู้ที่ใช้เทคโนโลยีมากเกินไปอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและห่างเหินจากคนรอบข้าง จนได้ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในระยะยาวได้ด้วย (Haidt & Twenge, 2020)
แนวทางการแก้ไขการเสพติดเทคโนโลยี
        1. การสร้างสมดุลในการใช้เทคโนโลยี
        แนวทางการแก้ไขการเสพติดเทคโนโลยีประการแรกคือการกำหนดเวลาการใช้เทคโนโลยีให้เป็นรูปธรรม ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดการเสพติดเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี โดยควรตั้งเวลาในใช้เทคโนโลยีหรือจำกัดการใช้โซเชียลมีเดียไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน หรือแม้แต่การใช้โหมด “Focus Mode” หรือแอปพลิเคชันจำกัดเวลาหน้าจอ เช่น Digital Wellbeing หรือ Screen Time ก็อาจช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ดียิ่งขึ้น (Rosen et al., 2013) นอกจากนี้ ในครอบครัว ก็ควรกำหนดกฎหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี เช่น งดใช้มือถือระหว่างมื้ออาหาร หรือกำหนดช่วงเวลา “No Screen Time” ในช่วงก่อนนอน ย่อมจะช่วยสร้างนิสัยที่ดีในการใช้เทคโนโลยีอย่างสมดุล (Rideout & Robb, 2019) ด้วย
2. การส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่ใช้เทคโนโลยี
นอกจากนี้ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ควรได้มีการส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่ใช้เทคโนโลยีร่วมไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ ก็เป็นวิธีที่ดีในการลดการใช้เทคโนโลยีได้เหมือนกัน หรือแม้แต่กิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าจอ เช่น การอ่านหนังสือ เล่นดนตรี หรือทำงานฝีมือ เพื่อให้สมองได้รับการผ่อนคลายจากโลกดิจิทัล (WHO, 2020) ก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่แตกต่างกันนัก ตลอดจนกิจกรรมอาสาสมัครหรือกิจกรรมทางสังคม เช่น การทำงานอาสาสมัคร หรือการเข้าร่วมชมรมที่สนใจ ย่อมจะช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและลดพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปได้อีกทางหนึ่ง (Putnam, 2000)
บทสรุป
        ในยุคปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียนรู้ หรือความบันเทิง แต่อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีมากเกินไปย่อมอาจนำไปสู่การเสพติดจนส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมได้ กล่าวคือเมื่อใช้เทคโนโลยีเป็นเวลานาน ๆ หรืออยู่กับหน้าจอมากไปจนละเลยการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างแน่นอน เช่น เกิดปัญหาทางด้านสายตา โรคอ้วน และการนอนไม่หลับ หรือแม้แต่เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกโซเชียลมีเดียจนนำไปสู่ความเครียด ภาวะซึมเศร้า จนทำให้เกิดการแยกตัวออกจากสังคม ดังนั้น จึงควรจัดการลดสาเหตุของการเสพติดเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย เช่น ไม่ติดความสะดวกสบายหรือความรวดเร็วที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีมากนัก ตลอดจนหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดดังกล่าวจนสามารถทำให้เกิดความสมดุลในการใช้เทคโนโลยีได้ โดยมีการกำหนดเวลาใช้งาน ลดการพึ่งพาโซเชียลมีเดีย รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ภายในครอบครัว และการส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีให้มากขึ้นด้วย


บรรณานุกรม
– Putnam, R. D. (2000). Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community. New York, NY: Simon & Schuster.
– Rosen, L. D., Whaling, K., Carrier, L. M., Cheever, N. A., & Rokkum, J. (2013). The Media and Technology Usage and Attitudes Scale: An empirical investigation. Computers in Human Behavior, 29(6), 2501-2511.
– Turkle, S. (2015). Reclaiming Conversation: The Power of Talk in a Digital Age. New York, NY: Penguin Press.
– Twenge, J. M., Haidt, J., Joiner, T. E., & Campbell, W. K. (2020). Underestimating digital media harm. Nature Human Behaviour, 4(4), 346-348.
– World Health Organization. (2005). แนวคิด หลักฐาน และแนวทางปฏิบัติ. World Health Organization. https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/43286/9241562943-tha.pdf.

สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 1 view