จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 77 – สาระน่ารู้ : โรคสมองเสื่อม

Newsletters

โรคสมองเสื่อม

เรื่อง : อนงค์ ตังสุหน

        ปัจจุบันนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) เราได้เตรียมความพร้อมกันหรือยัง โรคที่พบในผู้สูงวัยโรคหนึ่งคือภาวะสมองเสื่อม เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์สมอง ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการจดจำ การรับรู้ การเข้าใจ หลงลืมจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ โรคนี้ส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งตัวผู้สูงอายุที่สูญเสียความสามารถ และผู้ที่ดูแล ที่ต้องเผชิญกับความเครียดที่เกิดจากการดูแลเป็นเวลานาน ๆ เราควรเตรียมความพร้อมไว้เพื่อดูแล ช่วยเหลือ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง สมาชิกในครอบครัว

ปัจจัยเสี่ยงอาจทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม

  1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น
  2. พันธุกรรม เช่น พ่อแม่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม
  3. มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
  4. ได้รับยาที่มีผลต่อจิตประสาทต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่นยานอนหลับ
  5. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  6. สูบบุหรี่เป็นประจำ
  7. ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
  8. มลภาวะทางอากาศ
  9. หูตึง การได้ยินลดลง
  10. ภาวะซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล
  11. การแยกตัว ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น

อาการเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อม

  • สูญเสียความทรงจำระยะสั้น
  • พูดไม่รู้เรื่อง เรียงลำดับคำในการสื่อสารผิด
  • สับสนเรื่องเวลา หรือสถานที่
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หงุดหงิดโมโหง่ายขึ้น
  • เป็นคนเฉื่อย ซึม ไม่กระตือรือร้น นิ่งเฉยต่อสิ่งรอบตัว
  • ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ภาวะสมองเสื่อมแบ่งออกได้ 4 ระยะ
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่จะมีอาการน้อย อาจมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์หรือความสนใจรอบข้างลดลง
ระยะที่ 2 ระยะกลาง เริ่มมีความบกพร่องด้านความเข้าใจ ความสามารถในการเรียนรู้ รวมไปถึงการตัดสินใจ อาจมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย เช่นประสาทหลอน
ระยะที่ 3 ระยะที่มีความรุนแรง ไม่สามารถจดจำเรื่องราว หรือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ เคลื่อนไหวช้า กลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะไม่ได้ มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
ระยะที่ 4 ระยะติดเตียงผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองทั้งด้านการเคลื่อนไหวและรวมไปถึงการลืมกลืนอาหาร

การรักษาโรคสมองเสื่อม

  • การรักษาโดยการไม่ใช้ยา จะใช้วิธีการฝึกกระตุ้นสมอง เช่น การเล่นเกม ปรับพฤติกรรม ลดความเคลียด ความกังวล ออกกำลังกาย ปรับที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้น
  • รักษาโดยการใช้ยา แพทย์พิจารณาให้ยาที่ออกฤทธิ์บรรเทาอาการทางสมองเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาดูแลตัวเองได้

การรับมือกับอาการหลงลืมของผู้สูงอายุ

  • เมื่อพ่อ แม่ ผู้สูงอายุถามคำถามหรือพูดซ้ำ ๆ เราผู้ดแลไม่ควรโต้เถียง ตำหนิ หรือพยายามอธิบายด้วยเหตุผล เนื่องจากการกระทำเหล่านี้มีแต่จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกหงุดหงิดมากขึ้น
  • ถ้าหากต้องรับประทานยาเป็นประจำทุกวัน ควรจัดยาให้ในแต่ละวัน ไม่ควรจัดไว้หลายวัน เพราะจะทำให้ลืมรับประทานยา
  • คนรอบข้างพูดคุยเรื่องในอดีต เพื่อช่วยกระตุ้นความทรงจำให้กับผู้สูงอายุ หรือชื่นชมเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

        ผู้ดูแลจะให้ผู้สูงอายุพกข้อมูลเบื้องต้นติดตัวอยู่เสมอ หรือใช้สัญญาณติดตามตัว เพื่อให้สามารถระบุตำแหน่งหรือช่วยเหลือเมื่อพลัดหลงออกจากบ้าน


ที่มา :

จากการเข้าพบปรึกษา การดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ที่บ้านลลิศา ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุผู้ป่วยระยะพักพื้น ศาลายา
https://baanlalisa.com/loved-ones-advice-how-to-take-care-alzheimers/
โรคสมองเสื่อม สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2568

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%A1-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93/
โรคสมองเสื่อม สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2568

สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 0 views