Forum

ค่านิยมต่อการศึกษา ...
 
แบ่งปัน:
การแจ้งเตือน
ลบทั้งหมด

ค่านิยมต่อการศึกษา Values for education

1 โพสต์
1 ผู้ใช้
1 Reactions
11 K เข้าชม
IL Admin
(@il-admin)
Reputable Member Admin
เข้าร่วม: 7 ปี ที่ผ่านมา
กระทู้: 134
หัวข้อเริ่มต้น  

          สถานการณ์ทางการศึกษาของไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะบรรยากาศทางการศึกษาของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ที่การฝึกฝนในเยาว์วัยจะเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาเป็นหลัก ดังนั้น ประชาชนในสังคมจะเป็นอย่างไร จะคิดจะพูดหรือจะทำอะไร ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากการฝึกฝนหรือปลูกฝังของสถาบันการศึกษาทั้งสิ้น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันสถาบันการศึกษาไม่ได้เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาประชาชนเหมือนเดิม เพราะประชาชนในปัจจุบันมีวิธีการแสวงหาความรู้เพื่อเอาตัวรอดในสังคมโดย ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการศึกษาแล้ว

          จากที่กล่าวมาทำให้เห็นได้ว่า การศึกษาที่คนในปัจจุบันมองนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร โดยที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถเป็นศูนย์กลางหรือเป็นเจ้าของแห่งการฝึกฝนอบรมพัฒนาประชาชนในสังคมได้เหมือนเดิม จึงเป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อประชาชนเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการแสวงหาความรู้แบบพึ่งพาสถาบันการศึกษาน้อยลงหรือบางทีแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษาเลย จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงการศึกษาที่มีอยู่ในสังคมว่าจะเป็นแบบใด บทความเรื่องนี้จึงต้องการแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับค่านิยมที่คนในยุคนี้มีต่อการศึกษา การศึกษาที่ดำเนินการอยู่ในสังคมจะหมดบทบาทหรือหมดอิทธิพลต่อประชาชนในสังคมด้วยค่านิยมทางการศึกษาหรือไม่ ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ดังนี้

ค่านิยมคืออะไร

          จากข้างต้นการศึกษาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อประชาชนในสังคม วิธีการคิด พูด และทำล้วนได้รับอิทธิพลจากการฝึกฝนหรือการอบรมที่ทางสถาบันการศึกษาจัดให้ ประชาชนเลือกการศึกษาแบบใด มักมาจากค่านิยมที่ประชาชนมีต่อการศึกษานั่นเอง หากประชาชนมองเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นหลัก การศึกษาที่ประชาชนเลือกศึกษาจากสถาบันการศึกษาก็จะเป็นสายวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าประชาชนสนใจสายวิชาชีพเป็นหลัก ย่อมเป็นไปได้ว่าจะเลือกศึกษาสายอาชีวะ

         สรุปแล้ว ค่านิยมนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการศึกษาหรือแนวคิดต่อการศึกษาที่ประชาชนเลือก โดยความหมายของคำว่า ค่านิยม ได้แก่ สิ่งที่มีคุณค่า ควรแก่การยกย่อง มีความสำคัญต่อการแสดงออกของบุคคล ดังที่ ศรีนวล พูลเลิศ กล่าวว่า “ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่สังคมถือว่ามีค่า พึงปราถนา ต้องการให้เป็นเป้าหมายของสังคมและปลูกฝังให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ค่านิยมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้เช่นเดียวกันกับความเชื่อและมีความแตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรม ค่านิยมส่วนใหญ่เนื่องมาจากความเชื่อ” (ค่านิยม, http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/phayao/srinual_p/social/sec02p%2003.html , 14 กุมภาพันธ์ 2562) หรือทีมงานทรูปลูกปัญญา เสนอไว้ว่า “ค่านิยม หมายถึง วิธีจัดรูปพฤติกรรมของมนุษย์ที่ฝังแน่นอยู่ในตัวคน และเป็นสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติกันต่อๆ มา หรืออาจหมายถึง การยอมรับนับถือและพร้อมที่จะปฏิบัติตามคุณค่าที่คนหรือกลุ่มคนที่มีอยู่ต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจเป็นวัตถุ มนุษย์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมทั้งการกระทำด้านเศรษฐกิจ สังคม จริยธรรม และสุนทรียภาพ โดยได้ประเมินค่าจากทัศนคติต่างๆ อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบแล้ว” (ค่านิยม หมายถึงอะไร, http://www.trueplookpanya.com/new/asktrueplookpanya/questiondetail/16421, 14 กุมภาพันธ์ 2562)

ค่านิยมที่ไม่ถูกต้องต่อการศึกษา

          การศึกษาของแต่ละคนทำให้เห็นถึงการมีค่านิยมว่าเป็นอย่างไร การศึกษาของบางคนก็มุ่งไปที่สถาบันการศึกษา โดยมีค่านิยมว่าการศึกษาจะดีหรือมีประโยชน์นั้นต้องเป็นการศึกษาที่มาจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงเท่านั้น หรือค่านิยมที่ยอมรับว่าการศึกษาของต่างประเทศดีกว่าในประเทศ ค่านิยมจึงเป็นลักษณะร่วมของทุกอย่างในคนและสังคม ซึ่งผู้เขียนมองไปที่ค่านิยมต่อการศึกษาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ดี มีลักษณะดังนี้

          1. ค่านิยมคาดหวังความรู้จากครูหรือสถาบันการศึกษาอย่างเดียว

          ค่านิยมลักษณะนี้จะแสดงออกผ่านการศึกษาจากครูที่มีชื่อเสียงหรือได้รับการยอมรับ  จากสังคม ตลอดจนการศึกษาที่มุ่งไปที่สถาบันการศึกษาใดสถาบันการศึกษาหนึ่งเท่านั้น เรียกว่าถ้าไม่ใช่ครูหรือสถาบันการศึกษานี้ การศึกษาที่จัดกันอยู่จะไม่เป็นที่ยอมรับเลย แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าค่านิยมแบบนี้ย่อมไม่ทำให้การศึกษาโดยรวมพัฒนาไปได้ไกล เพราะยังวนเวียนอยู่กับครูและสถาบันการศึกษาเท่านั้น หากครูหรือสถาบันการศึกษานั้นบริหารจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควรหรือผิดพลาด ย่อม ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในสถาบันการศึกษาและผู้ศึกษาพลอยล้มเหลวไปด้วย

          2. ค่านิยมคาดหวังความสำเร็จจากการจัดการศึกษาเท่านั้น

          ค่านิยมแบบนี้เป็นลักษณะความคิดคาดหวังที่คับแคบมาก เพราะความสำเร็จในชีวิตคนนั้นหาได้มาจากการศึกษาเพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากที่คนหลายคนไม่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบหรือในสถาบันการศึกษาก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ หรือบางทีการศึกษานั่นแหละเป็นตัวบ่มเพาะ ความเลวร้ายออกไปสู่สังคมก็มีเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากที่มีเรื่องฟ้องร้องหรือการฆ่ากันที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา ดังนั้น ค่านิยมที่วัดความสำเร็จของชีวิตด้วยการศึกษาเพียงอย่างเดียวนั้น จึงนับว่ายังไม่ถูกต้องนัก เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ยังมีอีกหลายสิ่งให้เรียนรู้กันอยู่ ไม่ใช่ไปจำกัดวงแคบๆ อยู่แค่ในสถาบันการศึกษานั้น

          ค่านิยมที่ไม่ถูกต้องต่อการศึกษา นับว่าเป็นสิ่งที่พลอยทำให้สังคมโดยรวมเสียความสมดุลไปด้วย ดังจะเห็นได้จากแนวคิดที่ไม่ถูกต้องต่อการศึกษาในเว็บไซต์ Dek-D.com ว่า “1. คุณครูพยายามยัดเยียดให้เด็กนำเวลาชีวิตของตนเองไปทุ่มเทและไปเสียเวลากับการเรียนมากขึ้น เพื่อให้ได้ทุนการศึกษา ความนับหน้าถือตา หรือชัยชนะที่เป็นหน้าเป็นตาให้แก่โรงเรียนและตัวเด็กเอง ครูได้ปลูกฝังการคิดแบบเอาชนะให้เด็กๆ ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว หากเด็กที่ทำไม่ได้ตามที่ครูคาดหวังหรือกดดัน เด็กก็จะเครียด ครูปลูกฝังให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนเป็นสิ่งที่ต้องทำ จนเด็กไม่มีเวลาทำในสิ่งที่ชอบมากพอ เด็กบางคนไม่สามารถค้นหาตัวเองได้เลยเพราะเอาเวลาชีวิตไปเสียกับการเรียนเพียงอย่างเดียว เพื่อชัยชนะจอมปลอมที่ครูพยายามป้อนว่าชื่อเสียงคือสิ่งที่ดีและเรา ทุกคนต้องมีมัน 2. คุณครูปล่อยปละละเลยเด็กๆ ที่ไม่ถึงเกณฑ์ที่คุณครูคิดว่าดี และส่งเสริมแต่เด็กที่ดีเท่านั้น โดยไม่ให้เด็กที่เกณฑ์ไม่ถึงได้มีโอกาสแสดงศักยภาพหรือพัฒนาสิ่งที่ชอบของตนเองให้ได้ดีเลย เพราะเด็กที่เกณฑ์ไม่ถึงบางคนเขาอาจจะต้องการแค่การฝึกฝนและโอกาสเท่านั้น ไม่ใช่การดูถูกเหยียดหยามและ การแบ่งแยกเด็กเก่งเด็กไม่เก่งแบบที่คุณครูทำ เด็กทุกคนต้องการโอกาสที่เท่าเทียมกัน 3. พ่อแม่คาดหวังให้ลูกเรียนได้เกรดเฉลี่ยที่ดีมากกว่าคนอื่น ชนะคนอื่น หรือมีความสามารถพิเศษที่แตกต่างและโดดเด่นที่สุด เมื่อถ้าเด็กๆ ทำไม่ได้ เด็กๆ เหล่านั้นก็จะโดนผู้ปกครองกดดันจนเด็กเครียดและคิดลบกับตัวเองว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย ทั้งๆ ที่จุดที่ดีที่สุดของคนทุกคน "มันไม่เท่ากัน" เราไม่ควรใช้บรรทัดฐานแค่บรรทัดเดียวมาวัด ใครจะไปรู้ เด็กบางคนอาจเกิดมาเป็นศิลปิน หรือนักวิทย์ ที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ เพียงแค่เลิกการกดดันเด็ก และให้ เขาเรียนรู้ที่จะรัก ที่จะชอบในสิ่งที่ทำด้วยตนเอง ให้เวลาเขา ส่งเสริมเขาให้เข้าร่วมกิจกรรมในหลากหลายด้าน หากเขาได้เจอสิ่งที่เขาชอบและรู้สึกหลงใหลมากพอ เขาจะเกิดการพยายามลงมือทำจนได้ดีเอง ถึงแม้เราอาจจะมองว่าเขายังไม่สำเร็จ ยังไม่ถึงไหน แต่มันก็ดีมากแล้วในจุดๆ นั้นของเด็กๆ” (ค่านิยมของการศึกษาไทยที่เป็นปัญหาต่อสังคม, https://www.dek-d.com/board/view/3771483/ , 14 กุมภาพันธ์ 2562)

ค่านิยมที่ถูกต้องต่อการศึกษา

         ค่านิยมที่ถูกต้องหรือเหมาะสมต่อการศึกษานั้นมีหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ในที่สุดแล้ว การจะตัดสินว่าค่านิยมอย่างไหนดีต่อการศึกษานั้นย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเหมือนกัน กล่าวคือการจะบอกว่าค่านิยมแบบนี้เหมาะสมแล้ว ย่อมเป็นการเหมารวมทางการศึกษามากเกินไป เพราะการศึกษาที่ดีย่อมต้องคำนึงถึงความแตกต่างที่แต่ละคนมีในตนเองด้วย ส่วนค่านิยมที่ผู้เขียนคิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สังคมไทยยอมรับ ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับค่านิยมทางการศึกษาเสียทีเดียว แต่ก็เป็นค่านิยมที่ได้รับการถกเถียงมาอย่างดีแล้วคือค่านิยมของคนไทย 12 ประการ 1. ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม 3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ 4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม 5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม 6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน 7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง 8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ 9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี 11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา 12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช., ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ, https://khaniyom12.weebly.com/ ,  14 กุมภาพันธ์ 2562)

          ค่านิยมทั้งหมดเหล่านี้ เป็นค่านิยมที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นค่านิยมที่ช่วยทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความสงบ สุข เรียบร้อย ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จึงนับได้ว่าการศึกษาที่ควรจะเป็นนั้นจะต้องเป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับค่านิยม 12 ประการดังกล่าว ดังนั้น การศึกษาที่ถูกต้องหรือที่ดีต้องเป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง ส่วนเรื่องที่ควรให้ความสำคัญในมุมมองเกี่ยวกับการศึกษา คือการศึกษาที่มุ่งวัดแต่ความรู้ มุ่งการแข่งขัน ตัดสินความถูกผิดด้วยการชนะกันและกันด้วยคะแนน ตลอดถึง การตัดสินการศึกษาด้วยการวัดที่การเรียนกับครูที่มีชื่อเสียงเรียงนามหรือสถาบันการศึกษาที่โด่งดัง ย่อมไม่ใช่ค่านิยมที่ถูกต้องแน่นอน เพราะหากวัดค่านิยมที่ดีทางการศึกษาด้วยวิธีการคิดแบบนี้ เป็นไปได้สูงว่าความสุข สงบ และความรักกันอย่างบริสุทธิ์ใจย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นในบุคคลและสังคมได้เลย ส่วนที่จะมีได้ก็คงเป็นการรบราฆ่าฟันและแข่งขันกันกอบโกยผลประโยชน์เข้าตนเองและพรรคพวกเท่านั้น

          ตามที่กล่าวมาทั้งหมด ขอทิ้งท้ายไว้ว่า ค่านิยมนั้นมีทั้งดีและไม่ดี ถ้าถือแนวคิดและการแสดงออกแบบใดแล้วทำให้ตนเองและสังคมไม่วุ่นวายหรือเดือดร้อน ย่อมจัดว่าเป็นค่านิยมที่ดี ตรงกันข้าม หากเป็นการทำให้สังคมโดยรวมเดือดร้อน ค่านิยมที่ถือนั้นย่อมจัดว่าเป็นค่านิยมที่ไม่ดี เช่นเดียวกัน ค่านิยมทางการศึกษาที่ดีต้องเป็นเจตนาทางการศึกษาที่ช่วยทำให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจในตนเองและสังคมได้อย่างชัดแจ้ง โดยไม่หลงอยู่แค่เพียงเปลือกของการศึกษา คือ ไม่หลงติดอยู่แค่ชื่อเสียงของครูหรือสถาบันการศึกษา เพราะ หากติดอยู่กับองค์ประกอบทางการศึกษาแค่นี้แล้ว การศึกษาย่อมไม่ใช่การศึกษาแน่นอน ดังนั้น ค่านิยมทางการศึกษาที่ดีย่อมช่วยทำให้ประชาชนในสังคมมีความสุข ความสงบ และความสมัครสมานสามัคคีกันในสังคมได้

 

เรื่องโดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้

 


   
numchoke.kun reacted
อ้างอิง
แท็กหัวข้อ
แบ่งปัน:
1,421,920 views since 16 August 2018