การทำงานหรือการทำอะไรสักอย่าง เมื่อมีวันเริ่มต้นย่อมมีวันสิ้นสุดเสมอ เช่นเดียวกันกับมีเกิดก็มีตาย คิดว่าคงไม่มีใครเถียงแน่นอนในประเด็นนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นมีใครรอดพ้นจากความตายไปได้ ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะไม่อยากตายก็ตาม ดังนั้น การเริ่มต้นอะไรไว้ ย่อมเข้าใจได้ว่าวันหนึ่งข้างหน้า สิ่งที่เริ่มไว้นั้น จะไม่เป็นเช่นเดิมแน่นอน การทำงานก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในหน้าที่หรือตำแหน่งอะไรก็ตาม งานอาจไม่ได้อยู่กับเราหรือเราอาจไม่ได้อยู่กับงานนั้นเหมือนกัน แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมา เมื่อลักษณะงานเปลี่ยนหรือผู้ทำงานเปลี่ยน ไม่ว่าจะเปลี่ยนด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ มักจะเกิดมีปัญหาเกิดขึ้นตามมา หากเป็นการเปลี่ยนลักษณะงาน ก็จะเกิดการปรับตัวของผู้ทำงานให้เข้ากับงานใหม่ ซึ่งอาจจะช้าบ้างเร็วบ้างก็แล้วแต่กรณีหรือแล้วแต่เนื้อหาของงานที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนถ้าเป็นการเปลี่ยนตัวผู้ทำงาน ก็จะมีปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ ผู้เคยทำงานก็จะไม่ค่อยชอบเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบ้างที่ชอบ ดังนั้น การเปลี่ยนงานของคนและการเปลี่ยนคนจากงาน ล้วนมีปัญหาใหญ่และเล็กที่จะเกิดขึ้นตามมา จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้บริหารหน่วยงาน จะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการให้เรียบร้อยจึงจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาตามมา
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนอยากนำเสนอถึงการเปลี่ยนแปลงและการยอมรับได้หรือไม่ได้ ในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของงานอยู่ทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษา ดังจะเห็นได้จากเมื่อฤดูกาลเกษียณหรือเวลาหมดสัญญาจ้างมาถึง ก็จะเกิดภาวะไม่ปกติในหน่วยงาน แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้ การหมดสัญญาหรือการเกษียณนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น เพียงแต่ที่ไม่ปกตินั้นเป็นเพราะผู้กำลังจะเจอสถานการณ์นั้นไม่อยากเจอจึงทำให้เกิดภาวะไม่ปกติในตนเองได้ ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอเสนอทัศนะที่เป็นวิชาการเกี่ยวกับเมื่อวันเกษียณมาถึงจะทำอย่างไรโดยให้ถือว่าเรื่องนี้เป็นสัจธรรมในทุกวงการและในวงการการศึกษาด้วยเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับใครก็ตามหรือแม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็หนีไม่พ้นไม่วันนี้ก็วันพรุ่งนี้หรือในอนาคตขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดขึ้นตอนไหนมากกว่าจึงขอเสนอวิธีการเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยหรือผ่านสถานการณ์เช่นนั้นไปให้ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ก่อนวันเกษียณมาถึง
ในกรณีนี้ถือว่าเป็นบรรยากาศที่เราสามารถบริหารจัดการได้ง่ายที่สุด เพราะเมื่อวันเกษียณยังมาไม่ถึง เราสามารถทบทวน ฝึกฝน หรือทำความรู้จักให้คุ้นชินกับความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นในวันเกษียณได้ โดยวิธีการแล้วก็มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งอาจจะเป็นการหาหนังสือที่ชอบ หรือหาหนังสือธรรมะที่ว่าด้วยสัจธรรมของชีวิต เช่น เรื่องหลักธรรมะว่าด้วยโลกธรรม 8 ประการ ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา มีสุข และมีทุกข์ มานั่งอ่านเพื่อปรับอารมณ์หรือความรู้สึกของตนเองไว้ก่อน โดยปกติแล้ว ผู้เขียนก็ไม่ใช่นักธรรมะสายตรง แต่พออ่านๆ แล้วก็ชอบเหมือนกัน ซี่งคิดว่าเรื่องโลกธรรม 8 นี้น่าจะเข้ากันได้ดีกับสถานการณ์เมื่อวันเกษียณมาถึง เพราะได้สะท้อนให้เรารับรู้ว่า การมีลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขนั้น ถึงแม้เราจะชอบ แต่มันก็จะไม่อยู่กับเราตลอดไป เรียกว่า ไม่วันใดวันหนึ่งการเสื่อมลาภ ยศ นินทา และทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแน่ๆ ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราได้ยอมรับมันให้ได้ โดยขณะที่ยังไม่เกษียณหรือยังไม่เกิดสถานการณ์นั้น เราต้องอย่าประมาท ให้คิดไว้เสมอว่า ทุกสิ่งในโลกที่เรามีและเราเป็น สักวันก็จะไปจากเรา ดังนั้น เราควรตั้งตนไว้เพื่อเผชิญสถานการณ์นั้นให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้แล้ว การเกษียณหรือสถานการณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นกับเราแล้ว ย่อมไม่มีทางที่เราจะยอมรับได้ คงเกิดทุกข์หรือดิ้นรนไปสารพัดอย่าง เราจึงควรได้ทำความรู้จักโลกธรรมของชีวิตและงานไว้แต่เนิ่น ๆ ให้ได้ จึงจะไม่ทุกข์มากนัก
- เมื่อวันเกษียณมาถึง
ในกรณีเมื่อวันเกษียณมาถึง เราสามารถเผชิญได้หลายสถานการณ์ ทั้งนี้การจะเผชิญกับวันเกษียณให้ได้ ส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับการวางตนเองกับการทำงานไว้อย่างไร หากวางตนไว้แบบแนบชิดกับการงานมากเกินไป เมื่อวันเกษียณมาถึง ก็อาจจะไม่โล่งหรือมีความกังวลตามติดตัวไปก็ได้ แต่ใช่ว่า เมื่อรู้ตัวว่าจะเกษียณวันไหนแล้วก็จะไม่เอาการงานอะไรขององค์กรเลยก็ใช่ว่าจะดี เพราะหากยังไม่ถึงวันเกษียณ หน่วยงานย่อมมีสิทธิ์ที่จะให้เราทำงานให้ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าตัวเราเองต่างหากที่จะต้องหัดวางตัวเองและความรู้สึกของตัวเองกับงานที่ทำให้ได้ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้แล้ว เราก็จะรู้สึกวุ่นวาย เหมือนกับว่าอันนี้ก็ไม่ได้ทำ อันนั้นก็ยังเหลือตกค้างอยู่ อาการแบบนี้ไม่ดีหรือไม่ควรเกิดขึ้นกับคนที่กำลังจะเกษียณ ในที่นี้จึงขอเสนอธรรมะของพระพุทธเจ้าเอาไว้ทำเป็นแนวทาง คือ ให้ละวางอุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่น หมายความว่า เมื่อวันเกษียณมาถึง เราควรได้ละวางทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเป็นและที่เรามีให้ได้ เพราะหากวางไม่ได้ เราเองนั่นแหละจะทุกข์หรือวุ่นวายมากกว่าใคร ๆ เรียกว่าเราจะทุกข์เพราะไม่อยากจากไป มิหนำซ้ำ ตัวเราเองก็จะรู้สึกเคียดแค้นคนอื่นๆ ที่จะมาทำหน้าที่แทนเรา ท้ายที่สุด ก็จะกลายเป็นว่าเราทำร้ายตัวเราเอง โดยที่คนอื่นไม่รู้เลย ซึ่งไม่เป็นการชาญฉลาดเลยที่เป็นเช่นนี้
- หลังวันเกษียณแล้ว
ในกรณีนี้น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่พอๆ กับ 2 ข้อแรก เพราะชีวิตหลังวันเกษียณจะสั้นหรือยาวย่อมขึ้นอยู่กับการที่เราได้วางแผนชีวิตหลังวันเกษียณไว้อย่างไร หากไม่ได้วางแผนไว้ก็อาจจะลำบากหรือขึ้นอยู่เวรกรรม ที่จะบันดาลให้เป็นหรือขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ตนเองต้องไปอยู่ แต่ถ้าหากโชคดีก็ดีไป แต่เมื่อพิจารณากันชัดๆ แล้วก็มักจะเป็นด้านลบเสียมากกว่า ซึ่งเป็นไปได้ยากมากที่หลังวันเกษียณแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุขและสบายดี ทั้งที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน ดังนั้น ในที่นี้จึงเสนอหลักธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเป็นกรอบแนวทางชีวิต โดยหัวข้อที่คิดว่าน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์นี้คือ การมีกัลยาณมิตร ได้แก่ มีเพื่อนที่ดีก็จะเป็นผู้ทำให้เราได้มีที่ยืนได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะที่ผ่านมา คนเราหลังจากวันเกษียณแล้ว มักจะหมดรายรับหรือไม่ค่อยมีสมบัติเพิ่มมากขึ้นสักเท่าไร มีแต่ใช้สมบัติเก่าที่มีอยู่ไปเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ก็จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ไม่เป็นเช่นนี้ ส่วนเรื่องสภาพจิตใจก็เหมือนกัน หากได้มีกัลยาณมิตรเอาไว้แลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดได้ก็จะดีมาก เพราะเมื่อเกษียณแล้ว เพื่อนหรือคนรู้จักก็จะน้อยลงกว่าเดิม เรียกว่าชีวิตแทบเปลี่ยนแปลงไปเลย ดังนั้น การมีกัลยาณมิตรสามารถช่วยได้ทุกเรื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้คนเราได้คิดเหมือนกันว่า การเกษียณหรือการจากลาจากการงานและเพื่อนพ้องนั้นเป็นสัจธรรมของชีวิตการงานจริงๆ แต่จะมีสักกี่คนที่รับสภาพนั้นได้อย่างปกติ โดยไม่รู้สึกทุกข์ร้อนหรือสูญเสียเลย แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้ว คงมีเพียงพระอรหันต์หรือผู้หมดกิเลสแล้วเท่านั้นที่จะเป็นปกติได้กับสถานการณ์ชีวิตแบบนี้ แต่ถ้าคิดกันให้ดี คนปกติธรรมดาที่ไม่ใช่พระอรหันต์ผู้วิเศษก็น่าจะพอผ่านพ้นไปได้ หากได้ปรับตัวปรับความรู้สึกของตนเองไว้ ทั้งก่อนวันเกษียณ วันเกษียณ และหลังวันเกษียณ โดยใช้หลักธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นหลักชัยนำชีวิต ได้แก่ ก่อนที่วันเกษียณมาถึง ให้ใช้หลักการเข้าใจโลกธรรมและไม่ประมาท เมื่อวันเกษียณมาถึง ให้ใช้หลักการละอุปาทานหรือการยึดมั่นถือมั่น และหลังวันเกษียณแล้ว ให้ใช้หลักการมีกัลยาณมิตรหรือเพื่อนที่ดีงามนั่นเอง
*********************
โดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://il.mahidol.ac.th/upload/img/2019-09-04-124135.pdf