เปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 14-16 กันยายน 2565

อบรม/บริการวิชาการ

สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม” สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 14-16 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมบุญศิริ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม กล่าวต้อนรับน้อง ๆ และกล่าวเปิดโครงการฯ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี เกษพิชัยณรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่ 14 กันยายน 2565 กิจกรรมแรก อาจารย์ ดร.ปรเมศวร์ เหล่าสินชัย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรารัตน์ วงศ์เกี่ย จะพาน้อง ๆ เรียนรู้กิจกรรมที่ชื่อว่า “ลิงดุไม่ดุ” น้อง ๆ จะได้เรียนรู้หลักในการตั้งเกณฑ์อย่างไรเพื่อแยกประเภทของลิงดุหรือลิงไม่ดุ และประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ตามด้วยการพาน้อง ๆ เยี่ยมชมหอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล เดินชมและรับชมวิดีโอศึกษาประวัติความเป็นมาและระบบต่าง ๆ ภายในหอประชุมมหิดลสิทธาคาร

วันที่ 15 กันยายน 2565 กิจกรรมแรกน้องๆ สนุกไปกับการออกแบบแก้ไขปัญหาโดยใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม และการทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ไขปัญหา รวมทั้งทักษะการตัดสินใจ และช่วยกันการออกแบบเชิงวิศวกรรมออกมาเป็นอุปกรณ์ยกของอย่างง่าย กับกิจกรรม “Creative thinking and Decision making: STEM+C+D” โดย คุณพงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันฯ และในช่วงบ่ายน้อง ๆ จะเดินทางไปวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเยี่ยมชมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เดินชมอาคารเรียนภายใน และรับชมการแสดงดนตรีสดจากนักเรียนดุริยาคศิลป์

วันที่ 16 กันยายน 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะฉัตร จิตต์ธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ กล่าวต้อนรับน้อง ๆ นักเรียน และกล่าวเปิดโครงการ จากนั้นเริ่มต้นกิจกรรมแรก “สำรวจไอโอดีน (STEM)” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แนะนำให้รู้จักกับไอโอดีน ความสำคัญของไอโอดีนต่อมนุษย์ ปัญหาของโรงงานผลิตเกลือผสมไอโอดีน โดยนักเรียนได้ใช้ชุดทดสอบไอโอเดทในเกลือเสริมไอโอดีน (I-Kit) ในการหาความเข้มข้นของไอโอเดทในตัวอย่างเกลือที่วิทยากรจัดเตรียมไว้ และกิจกรรมท้ายสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี เกษพิชัยณรงค์ จะพาน้อง ๆ เป็นนักสืบ เรียนรู้และทดลองระบุตัวบุคคลจากลายนิ้วมือ เรียนรู้วิธีการเก็บหลักฐานเพื่อใช้พิสูจน์บุคคล ได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทักษะการคิด วิเคราะห์ และทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับกิจกรรม “ใครคือคนร้ายกันนะ?? ”  กล่าวจบโครงการฯ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี เกษพิชัยณรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนคุณครู และนักเรียน รับใบประกาศนียบัตร และถ่ายภาพร่วมกัน เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

Views : 837 views