การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา
เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์
ในยุคปัจจุบันและในอนาคตต่อไป คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว เพราะการดำเนินการต่าง ๆ ได้ถูกนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปร่วมผสมผสานด้วย เรียกว่าสิ่งที่ทำขึ้นจะได้รับการยอมรับหรือถูกเผยแพร่อย่างแพร่หลายจนได้กลายเป็นต้นแบบได้นั้น การประยุกต์ใช้ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้น ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับการได้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนากิจกรรมพัฒนาทางด้านการศึกษา ด้านงานสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านงานบริการสังคม ด้านธุรกิจ ด้านงานภาครัฐ และด้านงานบริการ
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษา
จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล มีจุดมุ่งหมายหลักในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ความรู้และคุณธรรม การศึกษาไทยในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ตามศักยภาพของตนเอง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2542) รูปแบบของการเรียนรู้จึงเปลี่ยนไปตามแนวความคิดใหม่ โดยการผนวกหรือผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเอื้อให้เกิดการสื่อสารที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอันเป็นกระแสหลักของสังคมยุคปัจจุบัน ดังนั้น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที (ICT : Information and Communication Technology) เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะมาช่วยทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์ การประยุกต์ใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษาจะช่วยลดข้อจำกัดต่าง ๆ ของการจัดการศึกษา (ยืน ภู่วรวรรณ, 2565)
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานสาธารณสุข
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานสาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศมีความเป็นไปได้ในการปรับปรุงคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการให้บริการสาธารณสุข การแพร่กระจายของเทคโนโลยีสารสนเทศในงานสาธารณสุขยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับธุรกิจหรืองานด้านอื่น ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการลงทุนเพิ่มขึ้นในการพัฒนางานบริการสาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำมาประยุกต์กับการให้บริการด้านสาธารณสุขเพื่อรวบรวม จัดเก็บ ค้นคืน และถ่ายโอนข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับธุรกิจ
การประยุกต์เทคโนโลยีเพื่องานธุรกิจด้านต่าง ๆ จากบทบาทของผู้บริหารและความเกี่ยวข้องต่อการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในองค์กร สามารถสรุปเป็นสาระสำคัญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในองค์กรได้ 5 ด้าน ได้แก่ ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี (Accounting Information System) ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (Financial Information System) ระบบสารสนเทศด้านการตลาด (Marketing Information System) ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน (Production and Operations Information System) และระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล (Human Resource Information System)
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานภาครัฐ
ในแง่ของการประยุกต์เอาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการภาครัฐมาใช้งานในภาครัฐ กล่าวได้ว่า สามารถที่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประการแรกเป็นการประยุกต์ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารมาใช้เพื่อให้บริการประชาชน (Front Office) ภายใต้ชื่อรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 1. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร (Publishing) หรือการให้ข้อมูลข่าวสาร (Information) 2. การให้บริการแบบมีปฏิสัมพันธ์(Interaction) 3. การให้บริการแบบเชิงธุรกรรม (Transaction) 4. การให้บริการแบบแปลงรูป (Trans-formation) เป็นการบูรณาการงานบริการของหน่วยงานภาครัฐและมีทางเลือกให้บริการตามความต้องการของประชาชน แทนที่ระบบสมัยก่อนที่แบ่งการให้บริการออกตามหน่วยงาน หน่วยงานอาศัยเว็บกลางเชื่อมโยงระบบบริการทั้งหมดเข้าด้วยกัน
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานบริการ
เทคโนโลยีสารสนเทศกับการประยุกต์สำหรับงานบริการนั้น ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดรูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ที่สอดคล้องและตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของผู้ใช้งาน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในงานบริการโดยเฉพาะการส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาปฐมวัย อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมบริการ และพยาบาลศาสตร์บริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย (www.dusit.ac.th)
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรียกอีกอย่างว่า Green ICT ได้มีผู้ให้นิยามความหมายในหลากหลายมุมมอง อาทิ Merlin’s Solutions กล่าวถึงเทคโนโลยีสีเขียว (Green IT) คือ แนวคิดในการบริหารจัดการและเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการใช้พลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการลดการสร้างขยะ รวมถึงการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลใหม่ ทั้งนี้ จากความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำหลักคิดข้างต้น มาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดสำนักงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน อาทิ 1) การลดค่าใช้จ่ายในสำนักงานจากการใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ 2) การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพของพนักงาน 3) การยกระดับมาตรฐานสำนักงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 4) การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อน (ณัฐพล ธนเชวงสกุล และณมน จีรังสุวรรณ, 2565)
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานบริการสังคม
การพัฒนาระบบบริการภาครัฐได้มีการให้บริการสังคมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e- Services) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานต่าง ๆ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้บริการความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ประชาชนได้รับจากภาครัฐ บริการสารสนเทศต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถติดตามได้ จากเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) ระบบการจัดหางานของบัณฑิต 2) ระบบแจ้งเบาะแสผู้ประสบภัยทางสังคม 3) ระบบแจ้งเบาะแสเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 4) ข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับจากภาครัฐ 5) ข้อมูลสวัสดิการสังคมของไทย 6) ฐานข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 7) ระบบแจ้งข้อมูลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เกี่ยวข้อง (สุขุม เฉลยทรัพย์ และคณะ, 2565)
บทวิเคราะห์และสรุป
จากที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำมาประยุกต์ได้กับการดำเนินชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการศึกษา การขยายโอกาสทางธุรกิจ การบริหารประเทศ การดำเนินงานของภาครัฐ การให้บริการด้านสาธารณสุข งานการส่งเสริมการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกพัฒนาให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ (เฉลยทรัพย์ และคณะ, 2555) ดังนั้น การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในสังคม ทุกคนจึงควรได้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัจจัยแห่งการพัฒนาจนเจริญก้าวหน้าทั้งในระดับบุคคลและสังคมนั้นได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าทักษะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดความทันสมัยหรือทันเหตุการณ์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย
……………………………………………………………………………………………………..
อ้างอิง
คลังข้อมูลดิจิทัลมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. วันที่เข้าถึงข้อมูล 25 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก nstru.ac.th.
ณัฐพล ธนเชวงสกุล และณมน จีรังสุวรรณ. วันที่เข้าถึงข้อมูล 26 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก tci-thaijo.org.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์. วันที่เข้าถึงข้อมูล 27 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก mcu.ac.th.
ยืน ภู่วรวรรณ. วันที่เข้าถึงข้อมูล 27 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก https://web.ku.ac.th.
ระบบสารสนเทศสำหรับบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. วันที่เข้าถึงข้อมูล 26 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก snru.ac.th.
วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. วันที่เข้าถึงข้อมูล 25 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก psu.ac.th.
สุขุม เฉลยทรัพย์ และคณะ. วันที่เข้าถึงข้อมูล 25 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก mod.go.th.
PRATYA NUANKAEW. วันที่เข้าถึงข้อมูล 26 ธันวาคม 2565. สืบค้นจาก nuankaew.co.
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…