จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 70 – สาระน่ารู้ เรื่อง สุขภาวะ

Newsletters

สุขภาวะ

เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์

        เรื่องที่ผู้เขียนจะนำเสนอในสาระน่ารู้ฉบับนี้คือเรื่องสุขภาวะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ปรารถนาอยากจะประสบพบเจอ ยิ่งได้เจอบ่อยเท่าไรยิ่งดี เพราะเชื่อว่าความสุขนี้จะทำให้อยู่อย่างสะดวกสบาย อยากจะได้อะไรก็ได้ดังใจหวัง ดังนั้น ในที่นี้ผู้เขียนจึงอยากชวนสนทนาในเรื่อง “สุขภาวะ” ตามที่พอจะมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อจักได้ขยับขยายขอบเขตความรู้กันให้กว้างขึ้น
        กล่าวเฉพาะเรื่องสุขภาวะนี้มีแนวคิดและทฤษฎีของท่านผู้รู้กล่าวแสดงไว้อย่างหลากหลายหัวข้อ บางคนก็บอกว่าความสุขคือความสบายกายสบายใจ หรือแม้แต่การไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็นับว่าเป็นตัวชี้วัดของการมีความสุขได้เหมือนกัน แต่ทุกคนคงทราบดีว่าเรื่องความสุขกับเรื่องการอยากได้ความสุขนั้นแตกต่างกันอย่างมาก เพราะเท่าที่ผู้เขียนพอรู้มานั้น ยิ่งอยากได้ความสุขมากเท่าใด ความสุขที่ต้องการยิ่งอยู่ห่างออกไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน หากไม่ปรารถนาความสุขเลยก็เป็นเรื่องแปลก ด้วยความสุขใครๆ ก็ต้องการนั่นเอง ดังนั้น เพื่อให้เรื่องความสุขหรือสุขภาวะนี้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนขึ้น ผู้เขียนจักได้เสนอเรื่องความสุขหรือสุขภาวะที่มีการกล่าวไว้จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว ได้แก่ สุขภาวะด้านกาย ด้านจิต ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านปัญญา ดังนี้

        1. สุขภาวะด้านกาย หมายถึง การมีร่างกายที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะมีร่างกายที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคและสามารถใช้ร่างกายในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมกับตำแหน่งที่มี
        2. สุขภาวะด้านจิต หมายถึง การมีจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่หยาบกระด้าง เข้มแข็ง มั่นคง ไม่หวั่นไหว และทนต่อการยั่วยุของความอยากได้ อยากมี และอยากเป็น จนทำให้ความคิดอ่านไม่สดใส
        3. สุขภาวะด้านอารมณ์ หมายถึง การมีความเสถียรทางความรู้สึก มีความมั่นคงและไม่หวั่นไหวต่อสถานการณ์ที่จะทำให้ความรู้สึกสั่นคลอนจนไม่เป็นปกติ เรียกว่ามีความรู้สึกตัวเองอยู่เสมอ ทั้งในเวลาที่ตนเองเผชิญกับสถานการณ์ที่ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม
        4. สุขภาวะด้านสังคม หมายถึง การมีสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาตนเอง มีบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตร เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างไม่หวาดระแวง มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง
        5. สุขภาวะด้านปัญญา หมายถึง การมีความรู้ความเข้าใจในความจริงของชีวิต สังคม โลก เป็นการอยู่อย่างมีความสุขเป็นที่สุด เพราะได้มีมุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล กล่าวคือมีทักษะทางปัญญาในการบริหารจัดการตนเองนั่นเอง
        จากที่กล่าวถึงสุขภาวะทั้ง 5 ด้านข้างต้นนี้ ทำให้ผู้เขียนที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านผู้รู้และศึกษาค้นคว้าจากเอกสารวิชาการต่าง ๆ พอเข้าใจได้ว่า การมีความสุขหรือสุขภาวะนี้จะว่ายากหรือง่ายก็เป็นไปได้ทั้งหมด ด้วยหากมองว่ายากก็ได้ เพราะสุขภาวะนั้นมีหลายด้านและแต่ละด้านก็มีจุดเน้นที่แตกต่างกันด้วย อีกนัยหนึ่ง สุขภาวะนี้มองว่าเป็นเรื่องง่ายก็ได้อีกเหมือนกัน เพราะทั้ง 5 ด้านนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงหากันทั้งหมด กล่าวคือจะมองว่าเมื่อมีสุขภาวะด้านปัญญาแล้ว สุขภาวะด้านกาย ด้านจิต ด้านอารมณ์ และด้านสังคม ก็สามารถเกิดขึ้นได้ หรือจะมองว่าทุกด้านของสุขภาวะนี้มีความเป็นเอกภาพร่วมกันหมด ได้แก่ เป็นไปได้ยากที่จะมีความสุขหรือสุขภาวะอย่างยั่งยืนด้วยอาศัยเพียงแค่สุขภาวะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ปริศนาเบื้องหลังแห่งความสุขจึงไม่ใช่แค่การอยากได้อยากมีความสุขเท่านั้น แต่ควรเป็นว่าทำอย่างไรจะทำให้สุขภาวะทั้ง 5 ด้านนี้เกิดขึ้นกับตนเอง คนอื่น และสังคมได้อย่างสมดุล เป็นสุขภาวะที่สอดคล้องกันในทุกด้าน เหมือนคำสอนในวันอาสาฬหบูชาที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ทางสายกลางจะทำให้มีความสุขที่ยั่งยืนได้นั่นเอง

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 26 views