จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 73 – ศึกษาปริทัศน์ เรื่อง AI มีประโยชน์และเป็นโทษต่อการศึกษา

Newsletters

AI มีประโยชน์และเป็นโทษต่อการศึกษา ?

เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์

        ในปัจจุบันนี้ ดูเหมือนว่าคนไทยและคนทั้งโลกได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้ AI ต่อกิจการหรือธุรกิจที่แต่ละคนทำอยู่เป็นอย่างมาก เรียกว่าตนเองจะทำการงานอะไรอยู่ ก็จะพยายามตั้งคำถามถึงการประยุกต์ใช้ AI ต่อหน้าที่การงานดังกล่าว ดังนั้น ตอนนี้จึงเกิดภาวะการพึ่งพา AI อย่างมากมาย กล่าวคือ การพึ่งพา AI ตั้งแต่เริ่มคิดงาน ขณะทำการงาน ตลอดถึงการประเมินผลงานและการนำผลงานไปปรับใช้ในอนาคต แต่ละคนก็ได้ใช้ AI เป็นปัญญาคิดแทนให้ จึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การติดต่อประสานงาน รวมทั้งการศึกษาที่ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์เป็นประเด็นหลักในครั้งนี้ หมายความว่า ที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงเรื่องการศึกษาแล้ว การให้คุณค่าหรือให้เครดิตจะอยู่ที่เรื่องการบริหารจัดการของผู้บริหาร การจัดการเรียนการสอนของครูหรืออาจารย์ผู้สอน ศักยภาพของผู้ศึกษาเล่าเรียนในสถาบัน ตลอดจนสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ตำราวิชาการ งบประมาณ และจำนวนบุคลากรทำการงานในองค์การ เป็นต้น แต่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่า AI จะเป็นคำตอบให้กับองค์ประกอบของการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับบัณฑิตศึกษา ผู้เขียนจึงได้เกิดความสนใจที่จะเขียนถึงประโยชน์และโทษที่มองว่าจะเกิดขึ้นกับวงการศึกษาหากได้ให้น้ำหนักหรืออิทธิพลมากเกินไปหรือมากเสียจนไม่มีขอบเขต ดังจะเห็นได้จากที่มีท่านผู้รู้ได้กล่าวถึงความฉลาดของ AI จะมีมากกว่ามนุษย์ในปี พ.ศ. 2572 และ AI จะเริ่มฉลาดอย่างเป็นรูปธรรมราวปี พ.ศ. 2568 ซึ่งก็คือมีหน้านี้เอง ฉะนั้น ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะได้ขยายเนื้อหาในเชิงรายละเอียดก่อนที่จะมีการวิเคราะห์และสรุปในประเด็นนี้ต่อไป

ระโยชน์ของ AI ต่อการศึกษา
        ข้อดี ประโยชน์ หรือคุณค่าของ AI ต่อการศึกษานั้นได้มีผู้รู้กล่าวไว้อย่างมากมาย ดังจะเห็นได้จากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่ระบุถึงการใช้ AI มาช่วยในการทำงาน จนบางครั้งก็น่าสนใจและน่าเชื่อถือมาก ตลอดจนอยากที่ทำตาม เพราะหลายอย่างที่ AI เข้ามาช่วยนั้นได้ทำให้ประหยัดเวลาไปมาก กล่าวคือบางงานใช้เวลาทำอยู่หลายปี แต่พอได้นำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ ได้ทำให้งานเสร็จเร็วมาก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากแนวคิดของ Dianne Adlawan (ข้อดีและข้อเสียของ AI ในการศึกษาและผลกระทบต่อครูในปี 2566, https://www.classpoint.io/blog/th/, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567) ที่กล่าวถึงข้อดีของ AI ในการศึกษาไว้ดังนี้
1. ปรับปรุงการมีส่วนร่วมและแรงจูงใจของนักเรียน การใช้แอปพลิเคชัน AI ในการสอนสามารถปรับปรุงประสบการณ์การเรียนรู้ได้หลายวิธี การใช้เครื่องมือ AI สามารถแนะนำนักการศึกษาให้ใช้วิธีการสอนแบบโต้ตอบมากขึ้น
2. การเพิ่มประสิทธิภาพของนักเรียน สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของนักเรียนด้วยความคิดเห็นที่เพิ่มขึ้น AI สามารถประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน ให้ข้อเสนอแนะตามเป้าหมาย และระบุจุดที่ต้องปรับปรุง
3. การเรียนรู้ที่คุ้มค่า การใช้ AI ในการศึกษายังสามารถลดต้นทุนการศึกษาจากมุมมองของสถาบันการศึกษา และค่อนข้างมากหากใช้ให้เต็มศักยภาพ AI สามารถทำให้งานต่าง ๆ ที่กำหนดให้กับการบริหาร ครู ไอที และอื่น ๆ เป็นไปโดยอัตโนมัติ
4. ประเมินผลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว การประเมินและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง AI สามารถรวบรวม วิเคราะห์ และให้ข้อมูลรายงานแก่ครู

อีกประการหนึ่ง ประโยชน์ของ AI ที่ สวิฟต์เลท กล่าวไว้ดังนี้
1. สื่อการสอนนอกห้องเรียน ไม่จำเป็นอีกแล้วในการเรียน ต้องนั่งในห้องเรียนเท่านั้น ตอนนี้ทุกคนสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้เพียงคลิกเท่านั้น

2. ช่วยกระชับเวลาตรวจข้อสอบ งานทะเบียนต่าง ๆ เพิ่มเวลาการเรียนการสอน AI ก็จะเข้ามาช่วย
3. ประเมินคุณภาพของการเรียนรู้ AI จะประเมินทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทราบถึงจุดที่เรียนเข้าใจ หรือยังไม่เข้าใจ
4. การวิเคราะห์ผลที่มีประสิทธิภาพ AI สามารถวิเคราะห์ส่วนนี้ของหลักสูตรและ แนะนำการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในโปรแกรม หรือเพิ่มแนวทางที่จำเป็นบางอย่าง
5 ข้อมูลอัดแน่นเหมือนคุณครู อนาคตนี้ อาจจะเป็นผู้ช่วยสำคัญในการสอนนักเรียนเพื่อ.ปริมาณที่มากกว่าเดิม (AI กับกลไกลพัฒนาการศึกษาไทย, https://swiftlet.co.th/, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567)
        ดังนั้น การให้ความสำคัญกับ AI เพื่อมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาครูบาอาจารย์และนักเรียนนักศึกษา ตลอดถึงองค์ประกอบทางการศึกษาต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ดังจะเห็นได้จากประโยชน์ที่ท่านผู้รู้กล่าวไว้ข้างต้น สรุปแล้ว AI นั้นมีคุณค่าต่อวงการศึกษาแน่นอน ยิ่งถ้าได้นำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพและได้อย่างถูกวิธี

โทษของ AI ต่อการศึกษา
        สำหรับข้อเสีย สิ่งที่ไม่ดี หรือโทษที่เกิดจากการใช้ AI นั้น Dianne Adlawan (ข้อดีและข้อเสียของ AI ในการศึกษาและผลกระทบต่อครูในปี 2566, https://www.classpoint.io/blog/th/, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567) ได้กล่าวไว้ดังนี้

1. ภัยคุกคามต่อความมั่นคงในอาชีพครู ความก้าวหน้าและการนำ AI มาใช้อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการตำแหน่งงานบางอย่างในด้านการศึกษา
2. ประสบการณ์การเรียนรู้แบบลดทอนความเป็นมนุษย์ สามารถลดทอนประสบการณ์การเรียนรู้ของมนุษย์ได้
3. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสำหรับครู ค่าใช้จ่ายในการนำ AI ไปใช้จำนวนมากในโรงเรียนอาจสูงเกินไปในเวลานี้ หากครูต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูงและดูแลรักษายาก
4. การพึ่งพาเทคโนโลยี มีความเสี่ยงที่ครูและนักเรียนอาจพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป ในระยะยาว การพึ่งพาอาศัยกันนี้อาจส่งผลให้เกิดการละเลยวิธีการสอนแบบดั้งเดิมที่สำคัญ และการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา

อีกประการหนึ่ง ข้อเสียของ AI ที่บริษัท ควิกเซิร์ฟ โปรไวเดอร์ จำกัด กล่าวไว้ดังนี้
1. การตัดสินใจของ AI ในที่ทำงาน การใช้ AI ในการจัดการผู้คนจะทำให้งานกลายเป็นประสบการณ์ที่เด็ดขาดและโดดเดี่ยวมากขึ้น
2. การสูญเสียงาน โอกาสในการสูญเสียงานของมนุษย์ถือเป็นข้อเสียอันดับหนึ่งของ AI ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการเลิกจ้างพนักงาน
3. ความผิดพลาดของมนุษย์ แม้ว่า AI จะสามารถขจัดข้อผิดพลาดของมนุษย์ออกจากกระบวนการได้อย่างแท้จริง แต่โค้ดนั้นยังอยู่ภายใต้อคติ
4. การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการใช้ AI อย่างระมัดระวังจึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา (ข้อดีและข้อเสียของปัญญาประดิษฐ์ (AI) คืออะไร?, https://www.quickserv.co.th/, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567)
       ดังนั้น การใช้ AI กับการศึกษาจึงต้องมีการระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะโทษที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน AI นั้นมีอยู่อย่างมากมาย ดังที่กล่าวถึงแล้วในข้างต้น โดยเฉพาะการใช้งาน AI นั้นอาจจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งใหญ่หากไม่มีการคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมร่วมด้วย เพราะธรรมชาติของ AI นั้นจะมีความเด็ดขาด ไม่สนใจผิดชอบชั่วดีใด ๆ ทั้งสิ้น สนใจเพียงคำตอบที่หยิบยื่นให้กับผู้ถามหรือมนุษย์นั่นเอง

วิเคราะห์ประโยชน์และโทษของ AI ต่อการศึกษา
        จากที่กล่าวมาทั้งหมดถึงประโยชน์และโทษของ AI ต่อการศึกษานั้น ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์แสดงให้เห็นภาพได้ดังนี้
1. ระดับเบื้องต้น ในระดับพื้นฐานนี้ ผู้เขียนมองว่าการนำ AI มาบูรณาการใช้กับการศึกษาหรือการงานอื่น ๆ ก็ตาม สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าเกิดโทษ เพราะได้ช่วยทำให้ปัจจัยหรือทรัพยากรทางการศึกษาเกิดความสะดวกสบาย ตลอดถึงได้คำตอบที่รวดเร็วกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จากที่สมัยก่อนการทำงานต่าง ๆ ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการ แต่หากได้นำ AI มาใช้ร่วมด้วยกับการจัดการศึกษา เช่น การรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อการตัดสินใจในการบริหารการศึกษาก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะ AI ได้เข้ามาช่วยในการรวบรวมและวิเคราะห์ให้เป็นเบื้องต้นก่อนแล้ว ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ต้องอาศัยบุคลากรในองค์การเพียงอย่างเดียว
2. ระดับกลาง กล่าวเฉพาะในระดับกลางนี้ ผู้เขียนมองว่าผู้ใช้งาน AI ในวงการศึกษาควรได้พินิจพิจารณาให้ดี เพราะการใช้ข้อมูลจาก AI มาตัดสินหรือเป็นกรอบในการทำงานเสียทุกอย่างย่อมอาจทำให้เกิดปัญหาในบริบทอื่นได้ เช่น ข้อมูลที่ AI ได้ประมวลผลมาให้นั้นอาจเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจากฐานข้อมูลที่ผิดพลาดมาแต่เดิมได้ ดังจะเห็นได้จากที่หลาย ๆ ครั้ง ข้อมูลที่ AI ประมวลผลมาให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการ แนวคิด ทฤษฎีต่าง ๆ ตลอดจนการให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการองค์การแก่ผู้บริหารหรือการประเมินผลการเรียนแก่ครูผู้สอน ดังนั้น ในขั้นนี้ จึงเป็นประโยชน์และโทษเท่า ๆ กันต่อการต่อการศึกษา
3. ระดับสูงสุด ในระดับนี้ การนำ AI มาใช้ในการจัดการศึกษา ผู้เขียนมองว่าจะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ เพราะพื้นฐานของ AI นั้น ทุกคนก็ทราบชัดอยู่แล้วว่าเกิดจากการพัฒนาโดยมนุษย์ ถึงแม้ว่าต่อไปอาจจะมีผู้กังวลว่า AI นั้นจะสามารถคิดเอง ตัดสินใจได้เอง และทำการได้เองก็ตาม แต่เมื่อหันกลับมามองที่พื้นฐานการเกิดและพัฒนา AI ร่วมด้วย ก็จะเห็นถึงการเจริญเติบโตของ AI นั้นมีมนุษย์ร่วมก่อการด้วยเสมอ ดังนั้น ในระดับสูงสุดนี้ ผู้เขียนจึงมองว่าจะเกิดโทษมากว่าประโยชน์ต่อการวงการศึกษาได้ อย่างน้อย ๆ ต่อไป สถาบันการศึกษาที่พัฒนาไม่ทันต่อการเจริญเติบโตของ AI ก็มีแนวโน้มว่าจะปิดตัวไป หรือแม้แต่ครูผู้สอนทั้งหลาย ก็มีแนวโน้มว่าจะตกงานเช่นเดียวกัน
        ตามที่ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดในบทความนี้ จะเห็นได้ถึงประโยชน์และโทษที่เกิดขึ้นกับการศึกษาจากการพัฒนา AI ได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่า AI จะมีประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ อย่าง เช่น เป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาตัดสินใจในเชิงการบริหารจัดการองค์การ หรือเป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการเร่ียนการสอน แต่เมื่อพิจารณาจนถึงที่สุดแล้ว ผู้เขียนมองว่า AI น่าจะเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยเฉพาะในระดับสูงสุด เพราะเมื่อความเจริญเติบโตของ AI ไปถึงขั้นสูงสุดแล้ว เป็นไปได้ว่าการพัฒนาการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้แก่มนุษย์และโดยมนุษย์นั้นจะดูด้อยค่าไปเลย เพราะปัจจัยทางการศึกษาหรืออื่น ๆ นั้น AI ได้เข้าไปทำหน้าที่แทนหมดแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ที่เป็นปัจจุบันหรือทันสมัยที่สุด AI นั้นพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดตามที่มีข้อมูลแต่ละคนป้อนเข้ามาในระบบ ตรงกันข้าม การเรียนรู้ของมนุษย์น่าจะมีข้อจำกัดในหลาย ๆ อย่าง ทั้งในแง่ศักยภาพหรือความสามารถในการเรียนรู้ ตลอดถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ผสมโรงด้วย จึงเป็นไปได้ว่า AI นี้ จะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ต่อการศึกษาในระดับกลางและระดับสูงสุดได้แน่นอน อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด AI ไม่มีการคำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมหรือความดีงามทั้งหลาย ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จาก AI จึงเป็นข้อมูลที่ตรง ๆ ผิดหรือถูกนั้นขึ้นกับฐานข้อมูลที่ไม่ประมวลมาได้ จึงไม่มีคุณค่าเชิงจริยธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น แต่มนุษย์ทั้งหลายยังมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีคุณธรรมจริยธรรมแตกต่างกันไปบ้าง ดังนั้น ในที่นี้ เมื่อผู้เขียนสรุปว่า AI จะเป็นโทษกับการศึกษามากกว่าเป็นประโยชน์ จึงเห็นสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีการออกแบบคุณธรรมจริยธรรมในการใช้ AI ให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเร่งด่วนด้วย

บรรณานุกรม
Dianne Adlawan. ข้อดีและข้อเสียของ AI ในการศึกษาและผลกระทบต่อครูในปี 2566. https://www.classpoint.io/blog/th/. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567.
สวิฟต์เลท. AI กับกลไกลพัฒนาการศึกษาไทย. https://swiftlet.co.th/. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567.
บริษัท ควิกเซิร์ฟ โปรไวเดอร์ จำกัด. ข้อดีและข้อเสียของปัญญาประดิษฐ์ (AI) คืออะไร?. https://www.quickserv.co.th/. เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567.


สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (2 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 740 views