รายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดลแตกต่างจากที่อื่นยังไง

Newsletters

รายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดลแตกต่างจากที่อื่นยังไง

เรื่อง : จตุรงค์ พยอมแย้ม

        รายวิชาศึกษาทั่วไป ( General Education) หมายถึง หมวดวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ให้พร้อมสำหรับโลกในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้เป็นบุคคลผู้ใฝ่รู้และมีทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 อย่างครบถ้วน เป็นผู้ตระหนักรู้ถึงการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา เป็นผู้ที่สามารถสร้างโอกาสและคุณค่าให้ตนเองและสังคม รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลก เป็นบุคคลที่ดำรงตนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีจริยธรรมและยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง รู้คุณค่าและรักษ์ชาติกำเนิด ร่วมมือรวมพลังเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคม (ที่มา: ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565)
        โดยปกติแล้วหลักสูตรระดับปริญญาตรีทุกหลักสูตรในประเทศไทย จะประกอบด้วยรายวิชา 3 หมวด ได้แก่ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่มุ่งพัฒนานักศึกษาให้ “รู้รอบ” หมวดวิชาเฉพาะ ที่มุ่งให้ผู้เรียนมีความ “รู้ลึก” เกี่ยวกับวิชาชีพหรือสาขาวิชาที่เรียนอย่างลึกซึ้ง และปฏิบัติงานได้ และ หมวดวิชาเลือกเสรี ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนวิชาตามความถนัดหรือสนใจ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนรายวิชาใดๆ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรีตามที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด  
        การกำหนดกลุ่มวิชาในรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ปัจจุบันจะแบ่งกลุ่มเนื้อหาตามกลุ่มความฉลาดรู้ไว้ 6 กลุ่มเรียน ว่า Literacy ในศตวรรษที่ 21 โดยประกอบด้วย

        MU Literacy ความรอบรู้เกี่ยวกับข้อมูลและคุณค่าที่เป็นสาระสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล มีทักษะในการปฏิบัติและเจตคติที่เห็นคุณค่าของความเป็น “คนมหิดล” มีความรู้ ทักษะและเจตคติในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิตทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เป็นความรู้และทักษะทางเทคนิคในวิชาชีพและความรู้และทักษะเสริม (soft skill) เพื่อเป็นปัญญาของแผ่นดิน  มีภาวะผู้นำ คุณธรรม จริยธรรม เป็นนายแห่งตน รู้แจ้ง เห็นจริง สมเหตุ สมผล กล้าคิด กล้าทำ สร้างสรรค์นวัตกรรม “มุ่งมั่นในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มนุษยชาติ มุ่งผลเพื่อผู้อื่น โดยปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนดังปฏิบัติต่อตนเอง”

        Health Literacy ความรอบรู้ทางสุขภาพ หมายถึง ความสามารถและทักษะในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเพื่อวิเคราะห์และประเมินการปฏิบัติและจัดการตนเอง เพื่อให้เป็นผู้มีสุขภาพที่ดีทางด้านสุขภาพกาย (Physical Health) สุขภาพจิต (Mental Health) สุขภาพสังคม (Social Health) และ สุขภาพจิตวิญญาณ (Spiritual Health) รวมทั้งสามารถชี้แนะเรื่องสุขภาพต่อบุคคล ครอบครัว และชุมชนได้

        Science and Environment Literacy ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์แห่งการบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เพื่อการตระหนักรู้และตัดสินใจในการมีส่วนร่วมในกิจการพลเมืองที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านสิ่งแวดล้อมและการมีจิตสำนึกที่จะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตนในการดูแล สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างยั่งยืน

        Intercultural and Global awareness Literacy วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง รวมถึงภาษา ศิลปวิทยา ความเชื่อ สิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มความหลากหลายทางสภาพแวดล้อม/วัฒนธรรม ความสามารถในการเข้าใจ ประเพณี กิจกรรม และประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนจากหลากหลายวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมกับประเพณี กิจกรรม และประวัติศาสตร์ ผ่านพื้นที่การแสดงออกทางวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ความตระหนักเกี่ยวกับโลก  คือ การคิดเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวบนโลกนี้ ว่ามีความสัมพันธ์กัน การกระทำใด ๆ ต่างเกิดผลกระทบต่อความเป็นไปในโลก

        Civic Literacy การรู้จักสิทธิ บทบาทหน้าที่ และมีความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกหนึ่งในสังคม ที่มีส่วนร่วมกันทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเข้มแข็ง

        Finance and Management Literacy ความเข้าใจและปฏิบัติเป็น ในด้านการเงิน เศรษฐกิจ การจัดการ และการเป็นผู้ประกอบการ จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้

        จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาในรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งจะทำให้นักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไปมาแล้วนั้นมีความรู้ในสิ่งรอบตัวในทุกๆด้านที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันนั้นเอง

ที่มา
https://clil.mahidol.ac.th/

สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 0 views