การปฏิบัติต่อความสุข

Newsletters

การปฏิบัติต่อความสุข

เรื่อง : ดร.มนัสวี มนต์ปัญญาวัฒนา

        จุลสารฉบับนี้ ผู้เขียนจะนำท่านผู้อ่านมาคุยมาคิดกันในเรื่องความสุข ซึ่งเป็นเรื่องความสบายกายสบายใจ ที่ใคร ๆ กันอยากจะมีกัน แต่ก็คงเป็นฟ้าลิขิตหรือเปล่าที่ความสุขนี้ใช่ว่าผู้ใดที่อยากจะได้แล้วจะได้ในทันทีทันใด เพราะเท่าที่เห็นและเป็นเองนี้ ความสุขที่เกิดกับใคร ๆ บางครั้งก็มาตามความต้องการ บางครั้งก็ไม่รู้ว่าเป็นสุขซึ่งเป็นผลมาจากเหตุตั้งแต่สมัยไหนเวลาใด ดังนั้น เรื่องความสุขนี้ถึงแม้ทุกคนจะต้องการให้เกิดขึ้นอย่างมากและตลอดเวลาก็ตาม แต่ทุกคนก็หาได้ดังใจปรารถนาตามนั้นไม่ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ผู้เขียนสงสัยแล้วจึงไปค้นหาข้อมูลจากเอกสารตำราหรือคัมภีร์ที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะเอกสารที่เป็นที่ยอมของชาวพุทธไทยก็คือพระไตรปิฎกนั่นเอง ทั้งนี้ เมื่อค้นดูแล้ว ก็พบว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงการปฏิบัติต่อความสุขไว้ดังต่อไปนี้
        1. ไม่ควรเอาความทุกข์มาทับถมตน กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับความทุกข์ว่าเป็นความจริงและเป็นเรื่องราวที่ใคร ๆ ก็หนีไม่พ้น แต่มนุษย์ควรจะได้เข้าใจให้มากขึ้นถึงการอยู่ร่วมกับความทุกข์ที่มีอย่างเข้าใจ เรียกว่าถึงแม้มีทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ใจหรือทุกข์กาย ก็ควรที่จะปรับสถานะทางใจให้เหมาะสมจนสามารถรับได้ ซึ่งจะไม่มีความทุกข์ยากลำบากมากไป
        2. ไม่ให้ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม กล่าวคือ ความสุขใดที่ชอบธรรม ไม่ก่อความเสียหาย ไม่เบียดเบียนเดือดร้อนแก่ใคร ก็ให้เราใช้สิทธิ์เสวยความสุขนั้นได้ หมายความว่าถึงแม้ความทุกข์หรือความลำบากจะเป็นเรื่องความจริงที่ใคร ๆ ไม่สามารถหลีกหนีได้ แต่มนุษย์ก็ควรได้รับความสุขตามอัตภาพ โดยไม่ไปขัดแย้งกับหลักการแห่งความทุกข์ที่เป็นแนวคิดพื้นฐานของพระพุทธศาสนา
        3. ไม่ให้ลุ่มหลงแม้แต่ความสุขที่ชอบธรรม กล่าวคือ ไม่ควรหมกมุ่น มัวเมา หลงเพลิดเพลินในความสุขสบายที่ตนเองได้รับ โดยถึงแม้ตนเองจะชอบความสุขสบาย แต่เมื่อพอสบายแล้วก็อย่าละทิ้งความจริงหรือสิ่งที่จะทำให้ตนเองเจริญก้าวหน้าจนตกไปอยู่ในความประมาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนคนเราให้ตั้งตนอยู่ในความจริง เช่น เมื่อความทุกข์เป็นความจริง ส่วนความสุขเป็นเพียงความทุกข์ที่มีอยู่ได้ลดลง จึงควรที่จะได้เข้าใจอย่างถูกต้องจริง ๆ
        4. ไม่ละทิ้งการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสุขที่ประณีต กล่าวคือ เมื่อทราบอย่างชัดเจนแล้วว่าความสุขและความทุกข์นี้เป็นแกนหลักแห่งการวางตนให้มีความสุขตามอัตภาพที่พอจะเป็นไปได้ในปัจจุบัน จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ควรจะได้เข้าใจในลักษณะเช่นนี้และต้องลงมือปฏิบัติโดยการนำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามาบูรณาการใช้อย่างเหมาะสม โดยให้แต่ละคนที่เผชิญหน้ากับความทุกข์ยากอยู่ ได้บริหารจัดการตนเองให้อยู่กับความทุกข์ที่แต่ละคนมีอย่างแตกต่างกันไป เรียกว่าในโลกนี้ไม่น่าจะมีมนุษย์คนไหนอ้างว่าตนมีความทุกข์มากกว่าคนอื่น เพราะทุกคนต่างก็มีความทุกข์ในบริบทที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันนั่นเอง
        สรุปได้ว่าเมื่อทุกคนมีความทุกข์ด้วยกัน จึงควรที่จะร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ ให้ทุกคนหรือสังคมโดยรวมมีความสุข สะดวกสบายตามสภาพ แล้วในที่สุด สุขภาวะโดยรวมก็จะเกิดขึ้นกับทุกคนได้อย่างไม่ต้องวิ่งหาความสุขกันให้ลำบากต่อไป

สารบัญ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 4 views