หน้า 6 จาก 7

การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

          นับตั้งแต่โลกได้ถือกำเนิดขึ้นจนกระทั่งมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตขึ้นมามากมายนั้น ตลอดช่วงเวลาราวสี่พันล้านปีที่ผ่านมามีทั้งการเกิดของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่และการสูญพันธุ์ไป การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ยอมรับกันมากที่สุดมี 5 ครั้งด้วยกัน ซึ่งใช้หลักฐานซาก
ดึกดำบรรพ์ที่พบในช่วงเวลาต่างๆในการยืนยัน

 

ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคแคมเบรียนถึงยุคออร์โดวิเชียน (488 ล้านปีก่อน) ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลพวก brachiopod, conodont และ trilobite มากมาย สาเหตุการสูญพันธุ์ อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เกิดยุคน้ำแข็งฉับพลัน ทำให้ปริมาณน้ำและออกซิเจนในน้ำน้อยลงจึงส่งผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคออร์โดวิเชียนถึงยุคซิลูเรียน (447-444 ล้านปีก่อน) ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทั้งพืช สัตว์ในทะเลมากมาย สาเหตุการสูญพันธุ์อาจเนื่องจากการเกิดยุคน้ำแข็ง ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำทะเลลดลงส่งผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ นักวิทยาศาสตร์จัดว่าการสูญพันธุ์ในช่วงนี้ทำให้สูญเสียสิ่งมีชีวิตในน้ำครั้งใหญ่เป็นอันดับสอง

ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคดีโวเนียน (364 ล้านปีก่อน) เป็นการสูญพันธุ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่เกิดอย่างต่อเนื่องราว 20 ล้านปี ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำ สาเหตุการสูญพันธุ์อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่หนาวเย็นต่อเนื่องมาจากยุคออร์โดวิเชียน แต่บางแนวคิดยังคงถกเถียงกันว่าอาจเป็นเพราะการพุ่งชนของอุกกาบาตมายังโลก

ครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคเพอร์เมียนถึงยุคไทรแอสซิก (251.4 ล้านปีก่อน) เป็นการ
สูญพันธุ์ครั้งที่รุนแรงที่สุด ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำถึง 96% และสิ่งมีชีวิตบนบก เช่น พืช แมลง สัตว์มีกระดูกสันหลังต่างๆ ถึง 70% ส่งผลให้รูปแบบของสิ่งมีชีวิตบนโลกเปลี่ยนไป จนเกิดสัตว์พวกไดโนเสาร์ขึ้นมากมายบนโลกในยุคต่อมา สาเหตุการ
สูญพันธุ์ยังคงเป็นที่ถกเถียง และเสนอสมมติฐานหลายแนวทาง เช่น การสูญพันธุ์อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก วัตถุนอกโลกพุ่งชนโลก ผลกระทบจาก
ซุปเปอร์โนวาหรือการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ

ครั้งที่ 5 เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคครีเทเชียสถึงยุคเทอเทียรี (65.5 ล้านปีก่อน) เป็นการสูญพันธุ์ครั้งที่รุนแรงเป็นอันดับสองรองจากช่วงปลายยุคเพอร์เมียน ส่งผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมากและสิ่งมีชีวิตบนบกถึง 50% รวมทั้งไดโนเสาร์ซึ่งเป็นสัตว์กลุ่มเด่นในขณะนั้น ส่งผลให้ยุคต่อมาเกิดการวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้ามาแทน สาเหตุการสูญพันธุ์มีผู้เสนอสมมติฐานหลายแนวทาง เช่น การเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่จึงทำให้เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือการมีวัตถุนอกโลกพุ่งชนโลก ซึ่งในประเด็นหลังดูจะมีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ เพราะในปี พ.ศ.2523 มีการพบแร่
อิรีเดียมในชั้นหินยุคครีเตเชียส ซึ่งแร่ชนิดนี้ปกติไม่พบในโลก แต่จะพบมากในลูกอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อย และในปี พ.ศ.2534 มี การค้นพบหลุมอุกกาบาตขนาดยักษ์ใต้เมือง ชิกชูลุบ (Chicxulub) บริเวณอ่าวเม็กซิโก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 180 กิโลเมตร ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในราว  65 ล้านปีก่อน มีดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ทำให้เกิดคลื่นยักษ์และการฟุ้งกระจายของฝุ่นผงจากพื้นผิวโลกในวงกว้าง ฝุ่นเหล่านี้ขึ้นไปจับกันเป็นชั้นหนาในบรรยากาศชั้นสูงอยู่นานส่งผลให้อุณหภูมิของผิวโลกชั้นต่ำลดลงและไม่มีแสงแดดส่องมายังผิวโลกด้านล่างเป็นเวลานาน เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศครั้งใหญ่จนทำให้ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตส่วนหนึ่งในยุคนั้นสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ท่านรู้จักสิ่งมีชีวิตชนิดใดบ้างที่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว?

          โดโด (dodo) เป็นนกที่มีลักษณะคล้ายนกพิราบ แต่มีขนาดใหญ่กว่ามากและบินไม่ได้ ถือได้ว่าโดโดเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเลยทีเดียว คาดว่าโดโดมีถิ่นอาศัยอยู่ที่เกาะมอริเชียส (Mauritius) ในมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันโดโดได้
สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงให้ความสนใจ ต่อการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของโดโด โดยเฉพาะการศึกษาว่าเป็นเพราะการรุกรานของมนุษย์หรือเหตุผลจากธรรมชาติจึงทำให้โดโด
สูญพันธุ์ไป (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในวารสาร Nature 443, 138-140, (2006))


ภาพสเกตช์นกโดโด

 

หน้า 1 2 3 4 5 6 7