จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 72 – สาระน่ารู้ เรื่อง มารู้จักกับ Mahidol HIDEF กันเถอะ

Newsletters

มารู้จักกับ Mahidol HIDEF กันเถอะ

เรื่อง : จตุุรงค์ พยอมแย้ม

        เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้พัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตรรูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนานักศึกษาให้เป็นพลเมืองของโลก (Global Citizen and Global Talent) และให้มีความรู้ในการใช้ชีวิต ยุคศตวรรษที่21 จึงเป็นที่มาของการจัดทำ Mahidol HIDEF


        Mahidol HIDEF กิจกรรมเสริมหลักสูตรรูปแบบใหม่ แบ่งออกเป็น 5 ด้าน เพื่อการพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะความรู้ที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในตำราเรียน โดยแต่ละด้านมีดังนี้
        1) Health Literacy : ความเข้าใจและสามารถดำเนินชีวิตให้เป็นผู้มีสุขภาพดี เป็นการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับภาวะสุขภาพอนามัย และสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต พัฒนาคุณภาพชีวิต ดำรงตนให้เป็นผู้ที่มีสุขภาวะที่ดี และเหมาะสมกับบุคคล เข้าใจถึงวิธีการป้องกัน การแก้ไข การส่งเสริมสุขภาวะอนามัย ปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากภาวะเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ เฝ้าระวังทางด้านสุขภาพอนามัยทั้งส่วนบุคคล ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งทางสุขภาวะแก่ครอบครัวและชุมชน
        2) Internationalization : ความเป็นนานาชาติ เป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศหรือพื้นที่ มีความรู้ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน วัฒนธรรม สถาบันและระบบกระแสโลกาภิวัตน์ มุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้เป็นพลเมืองของโลก (Global Citizen and Global Talent) คือ รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกหนึ่งของโลกที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุขและเข้มแข็ง
        3) Digital Literacy : ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แทปเลต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และสื่อออนไลน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน หรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมความสามารถ 4 มิติ คือ การใช้ (Use), เข้าใจ (Understand), การสร้าง (Create) และเข้าถึง (Access) เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        4) Environmental Literacy : ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีจิตสำนึกที่จะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดี เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของชุมชนและสังคม มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สภาวการณ์และเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบของสังคมต่อธรรมชาติของโลก สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและกำหนดวิธีการป้องกันแก้ไข รวมทั้งการอนุรักษ์รักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ดำเนินบทบาททั้งส่วนบุคคลและบทบาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
        5) Financial Literacy: ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านการเงิน เศรษฐกิจ และธุรกิจเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สามารถวางแผนและบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการใช้จ่าย การเก็บออม และการจัดการหนี้สิน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันทางการเงินที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้อย่างมั่นคง เช่น การบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะกับความสามารถของตน รวมทั้งสามารถตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผลที่ตอบสนองความหลากหลายของบริบททางการเงิน เพื่อปรับปรุงความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของปัจเจกและสังคม และช่วยให้สามารถมีส่วนร่วมในธุรกิจของระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

วีดีโอแนะนำ : https://www.facebook.com/watch/?v=977977899797974
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://op.mahidol.ac.th/sa/hidef/

ที่มา:
https://op.mahidol.ac.th/sa/hidef/

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 48 views