ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีนี้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมใหม่ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น และด้วยความที่ AI สามารถทำงานได้หลายอย่างและมีประสิทธิภาพที่สูงจนเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่ามนุษย์นั้น ทำให้ใครหลายคนกลัวว่า AI จะมาแย่งงานของมนุษย์ โดยมาทำงาน Routine ต่างๆ แทนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เราควรเรียนรู้และปรับตัวให้เท่าทันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับ AI ที่เกิดขึ้นและวิวัฒน์ไป และทำความเข้าใจกับ AI เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนรู้ การศึกษาหรือพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยต้องร่วมมือกันมากขึ้น
ทุกวันนี้ ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือกับยุคสมัยแห่ง AI ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ประธานาธิปดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส ได้ประกาศลงทุนสนับสนุนและพัฒนา AI โดยทุ่มงบกว่า 1.6 พันล้านเหรียญ สร้างศูนย์วิจัยแห่งใหม่ มีโครงการแบ่งปันข้อมูลและหลักจริยธรรมต่างๆ และนาย Emmanuel Macron เชื่อว่า AI สามารถเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานและสร้างการเติบโตของรายได้ได้ หรือจีนที่ได้ลุยพัฒนาที่ใช้เงินลงทุนหลายพันล้านเหรียญเพื่อพัฒนา AI และประกาศว่าจะครองส่วนแบ่งตลาดในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจีนมีความได้เปรียบในการพัฒนา AI เป็นอย่างมากเพราะมีนักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ที่มาทำงานด้าน AI เป็นจำนวนมาก และยังมีบริษัทต่างๆ ที่คอยผลักดันและพัฒนา AI เช่น Baidu ที่กำลังพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ หรือ Driverless cars หรือญี่ปุ่น ประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของเอเชียจะเน้นหนัก AI ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ การใช้งานภายในครัวเรือน เช่น หุ่นยนต์ที่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุและเด็กเล็กภายในบ้าน เป็นต้น ในทางกลับกัน ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กลับลดความสำคัญของการพัฒนา AI ลง มีแต่ภาคเอกชนที่ผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยี AI ใหม่ๆ ป้อนเข้าสู่ตลาดโลก จนอาจทำให้ขาดบุคลากรเพราะรากฐานของประเทศไม่มีการสนับสนุนเทคโนโลยี AI
แนวทางของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ควรเป็นอย่างไร
ลงทุนมากขึ้น (Invest more)
นาย Jason Furman หนึ่งในที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ Obama ได้กล่าวไว้ว่า การระดมทุนเพื่อการวิจัยเป็นสิ่งที่สำคัญและควรเริ่มดำเนินการเป็นอันดับแรก ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม และ AI เป็นเทคโนโลยีที่สามารถผลักดันเศรษฐกิจและขับเคลื่อนมันได้อย่างแม่นยำซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้า และสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่มีรายได้สูงขึ้น นาย Oren Etzioni ผู้บริหารของสถาบันปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้หวังผลกำไรแห่งหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมของ AI ได้เกิดขึ้นจากสถาบันการศึกษาต่างๆ หากเราไม่ลงทุนในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ เพื่อการศึกษานี้ ก็เหมือนได้ทิ้งโอกาสที่ดีไปเพราะเรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์
เตรียมพร้อมรับการตกงาน (Prepare for job losses)
การที่ AI เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาและผลักดันเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดการตกงานขึ้น เพราะได้มีเทคโนโลยี และอาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันการเข้ามาของ AI นี้ทำให้เกิดอาชีพใหม่และมีรูปแบบการทำงานใหม่ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Amazon มีการจ้างคนมาช่วยถอดเสียงให้ออกมาเป็นคำ หรือการจ้างคนมาจัดเรตติ้งออนไลน์ของเนื้อหาวิดีโอใน YouTube ของ Google ก็เป็นตัวอย่างอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่จากการเปลี่ยนไปของเทคโนโลยี นอกจากคนทั่วไปต้องเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้วรัฐบาลก็ต้องรู้ทันกระแสโลกและเตรียมคนให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง เพราะปัญหาใหญ่ของการตกงาน คือ การไม่ปรับตัว
ส่งเสริมอัจฉริยะ (Nurture talent)
ประเทศควรส่งเสริมและชักจูงนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามามีส่วนช่วยในการศึกษาและวิจัยในประเทศของตน หากดูกรณีตัวอย่างสหรัฐที่มีการตรวจตราวีซ่าที่เข้มงวดและ มีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับผู้อพยพและเหล่านักศึกษาทำให้การพัฒนา AI ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น การมีสังคมที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้เกิดข้อดีมากกว่าข้อเสียซึ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหากมีการชักจูงและรักษานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญมาได้
ให้ความสำคัญกับการศึกษา (Prioritize education)
การศึกษานั้นเป็นส่วนที่กุญแจที่สำคัญตัวหนึ่งของ AI นักวิทยาศาสตร์ AI รุ่นใหม่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรม Tess Posner ซึ่งเป็นผู้นำองค์กร AI4All ที่ไม่แสวงผลกำไรกล่าวว่านอกเหนือจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมแล้ว การศึกษาสามารถช่วยแก้ปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ ได้ รัฐบาลอาจไม่ใช่ผู้ให้ความรู้โดยตรงแต่ควรมุ่งเน้นในการสนับสนุนและพัฒนาบุคลากร การสร้างมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นในเรื่องของ AI โดยเฉพาะและมีการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาปริญญาเอกด้าน AI ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ
ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (Guide regulation)
ประเทศควรออกกฎหมายหรือข้อบังคับสำหรับ AI อย่างเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ โดยเฉพาะ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น กรณีการเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์ไร้คนขับ ทำให้เกิดการโต้เถียงว่า การตัดสินใจของ AIเป็นสิ่งที่แม่นยำถูกต้องเพียงพอหรือไม่ หรือมีการละเมิดกฎหมายหรือไม่ มีการแทรกแซงโดยผู้ที่ไม่หวังดีหรือไม่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะควรเตรียมความพร้อมรับมือ
ทำวามเข้าใจเทคโนโลยี (Understand the technology)
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ AI และ รู้ว่าAI จะทำอะไรและส่งผลอย่างไร เพราะ AI มีความสามารถที่ซับซ้อนและรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะกำหนดนโยบายและวางแนวทางการบริหาร หากปราศจากความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคนั้น ก็จะเป็นความท้าทายอย่างมากในการทำงานให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มี AI อยู่
การตระหนักรับรู้และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงนั่นเป็นเรื่องสำคัญในการเตรียมตัวพร้อมรับการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งในประเทศไทยก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยี AI ให้เห็นกันมากขึ้น ตัวอย่าง เช่น บอทน้อย ที่ได้รับรางวัล Line Bot Award ในหมวดรางวัล Chat bot คุยเก่ง ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดีของ วงการ AI ในบ้านเราที่เริ่มมีการนำ Chat bot ไปต่อยอดในการทำธุรกิจในฝั่งของ Customer care หรือจะเป็น หุ่นยนต์ดินสอ หุ่นยนต์เชื้อสายไทยแท้ ที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ อยู่ในร้านสุกี้ชื่อดังถูกพัฒนาต่อยอด ให้เป็นหุ่นยต์ที่ไว้ใช้ดูแลผู้ป่วย สามารถคอยตรวจเช็คการเต้นของหัวใจหรือมองเห็นเวลาผู้ป่วยลุกออกจากเตียง และส่งข้อมูลไปให้ญาติของผู้ป่วยได้
ประเทศไทยและคนไทยไม่ได้นิ่งนอนใจกับการเข้ามาของ AI หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีการเรียนรู้ปรับตัวและพัฒนาอยู่เสมอ หากเราเตรียมพร้อมรับมือและรู้เท่าทันเหตุการณ์ สร้างเสริมความรู้มาต่อยอดเปิดรับสิ่งใหม่เข้ามาเสมอ ยุคแห่ง AI หรือยุคแห่งเทคโนโลยี ก็คงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป นอกจากนั้นการศึกษาของประเทศต้องรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับ AI และการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างสูงสุด นอกจากนั้นควรต้องมีหลักสูตรเพื่อเตรียมบุคลากรทางด้าน AI เช่น Data Scientist ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลและทำความเข้าใจข้อมูลเชิงลึกที่ซ่อนอยู่และมาช่วยในการตัดสินใจ หรือวิศวกรต่างๆ ที่จะมาช่วยในการพัฒนา AI ให้ดียิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Adrien Schmidt. (2018). How AI Impacts Education. Retrieved from:
https://www.forbes.com/sites/theyec/2017/12/27/how-ai-impacts-education/#191d76bc792e
Karl Utermohlen. (2018). 4 Ways AI is Changing the Education Industry. Retrieved from:
https://towardsdatascience.com/4-ways-ai-is-changing-the-education-industry-b473c5d2c706
เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์ อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้
Views : 4,941 views