โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21”

shortcourse

  หลักการและเหตุผล
        ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ทั้งครูและนักเรียนต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะครูถูกสังคมคาดหวังให้เปลี่ยนแปลงบทบาทเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะนักเรียนคือทุนมนุษย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ครูจำต้องมีนวัตกรรมทางการศึกษา มีทักษะการสอนที่ทันสมัย สามารถตอบสนองผู้เรียนที่แตกต่างและหลากหลาย เพื่อให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะคิดขั้นสูงและมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามแค่ความต้องการในศตวรรษที่ 21 สิ่งสำคัญคือ ครูจำต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการเพื่อให้นักเรียนเป็น “เจ้าของ” การเรียนรู้ ลดการ (สั่ง) สอนมาเป็นการถามและการฟังนักเรียนมากขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายThailand 4.0 คำว่า “นวัตกรรมการเรียนรู้” จึงสำคัญ เพราะการพัฒนานวัตกรรม ครูจำเป็นต้องรู้ลึกรู้จริงและสามารถบูรณาการกระบวนการ วิธี และสื่อการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยความสำเร็จของนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สามารถส่งเสริมให้นักเรียนสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง
        ทีมวิทยากรจากสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์ในการทำวิจัยในชุดโครงการพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน (Local Learning Enrichment Network หรือ LLEN) และชุดโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ที่สนับสนุนโดย สกว. และ สพฐ. ซึ่งมุ่งพัฒนาให้ครูมีขีดความสามารถในการจัดการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง โดยรูปแบบและวิธีการที่ทีมวิจัยใช้เพื่อหนุนนำการพัฒนาครูนั้น เน้นการหนุนนำทางปัญญา (Cognitive Coaching) เพื่อให้ครูได้พัฒนาทักษะทางปัญญาจนถึงระดับที่ครูสามารถกำกับ วิเคราะห์และประเมินตนเองได้ โดยนักวิจัยทำหน้าที่เป็นโค้ชช่วยเหลือครูในการวางแผนการสอน การสะท้อนการเรียนรู้และการนำไปใช้ รวมทั้งการใช้การหนุนนำเชิงเทคนิค (Technical Coaching) โดยโค้ชไปสังเกตการเรียนการสอนแล้วให้ข้อมูลย้อนกลับ วิเคราะห์สภาพการปฏิบัติในชั้นเรียน รูปแบบและวิธีการดังกล่าว ส่งผลให้ครูมีเจตคติที่ดีต่อกระบวนการหนุนนำและมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้จากเดิมที่ใช้การบอกเล่าความรู้ มาเป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้ (Technology Enhanced Learning) มีการถามและฟังนักเรียนมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักเรียนหันมาเรียนด้วยความสุขและสนใจเรียน อีกทั้งยังส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น มีแนวโน้มการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ ความร่วมมือ กล้าแสดงออก กล้าซักถาม การสื่อสาร การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ผู้เข้ารับการอบรมจะได้กรอบแนวคิดเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา รวมถึงออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้และการวัดประเมินผลในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งหมายให้เกิดการพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งสามฐานคือ “ฐานใจ ฐานกาย และฐานคิด” อันจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนอย่างแท้จริง

โครงการนี้เหมาะสำหรับ
   บุคลากร นักศึกษา ครู อาจารย์ นักการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

วัน เวลา และสถานที่ดำเนินการ
  วันที่ 17 – 18 กันยายน 2563  เวลา 9.00 – 16.00 น.

   ณ ห้อง IL5 สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ค่าลงทะเบียน 3,500 บาท

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
   สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล
เบอร์ติดต่อ : 02-441-9729

   อีเมล์ : il.mahidol@gmail.com

Views : 6,316 views