ปัญญาประดิษฐ์ (AI) พลิกโฉมการศึกษา (ตอนที่ 1)

Newsletters Topic

บทความนี้ผู้เขียนได้อ่านและสรุปเรียบเรียงจากงานเขียนของบุคคลสำคัญสองท่าน คือ Adrien Schmidt (2018) เรื่อง How AI Impacts Education และ Karl Utermohlen (2018) เรื่อง 4 Ways AI is Changing the Education Industry ปัจจุบันมีความตื่นตัวในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) ขึ้นเพื่อใช้งานในวงการต่าง ๆ มากมาย และ AI ก็มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนแทนที่มนุษย์ในงานหลายๆ อย่างจนน่ากลัวว่า สักวัน AI อาจจะครองโลกมนุษย์เราก็ได้

ในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ AI ส่งผลกระทบในหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยน “วิธีเรียน” และเปลี่ยน “วิธีสอน” ลองจินตนาการภาพการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ในอดีตที่นักเรียนจะต้องเดินทางไปโรงเรียน นั่งโต๊ะ ฟังครูสอนหน้าห้อง แล้วจดบันทึก มาสู่รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ AI เข้ามามีส่วนร่วมและปฏิวัติระบบการศึกษาไปโดยสิ้นเชิง เช่น การลดภาระงานธุรการ งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ งานจัดเก็บเอกสาร งานออกแบบเนื้อหาและการสอน เป็นต้น โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2021 การใช้ AI ในกิจกรรมทางการศึกษาจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.5  ผลกระทบเชิงบวกของ AI จะปรากฏให้เห็นตั้งแต่การเรียนของเด็กชั้นอนุบาลจนถึงการศึกษาขั้นสูง นอกจากนั้นจะมีการสร้างสรรค์เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ที่สามารถปรับให้เข้ากับผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ (personalized tool) เพื่อให้ได้ผลด้านการเรียนสูงสุด ผู้เขียนจะกล่าวถึงผลกระทบของ AI ต่อการศึกษาในย่อหน้าต่อ ๆ ไป

  1. AI ช่วยลดเวลาในการทำงานเอกสาร (Smart Administration)

AI สามารถช่วยจัดการงานเอกสารหรืองานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ที่เราเรียกติดปากว่า งาน admin สำหรับองค์กรและผู้สอนได้ กิจกรรมที่ผู้สอนต้องใช้เวลามากที่สุด หนีไม่พ้นการตรวจการบ้าน ให้คะแนนเรียงความ ให้คะแนนชิ้นงานต่าง ๆ และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน ซึ่ง AI สามารถช่วยได้ในบางเรื่อง เช่น ตรวจงานที่เป็นแบบตัวเลือก (multiple choice) เพื่อให้อาจารย์มีเวลาไปให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับนักเรียนมากขึ้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์กำลังหาวิธีตรวจงานที่เป็นแบบเขียนตอบและเรียงความ (essay) แม้แต่กระบวนการรับนักเรียนเข้าเรียน (admission) ก็ใช้ AI ช่วยจัดการและจำแนกเอกสารต่าง ๆ ได้

  1. AI ช่วยครูสร้างสรรค์เนื้อหาสำหรับสอน (Smart Content)

Smart content เป็นหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจในวงการศึกษาในปัจจุบัน เพราะ AI สามารถสร้าง smart

content ให้แก่ผู้สอนได้เป็นอย่างดีพอๆ กับผู้สอนที่เป็นมนุษย์ AI สามารถช่วยสร้างตำราดิจิตัล (digital textbook) และสร้างช่องทางเรียนรู้แบบดิจิทัล (learning digital interfaces) ที่เหมาะสมกับอายุและระดับชั้นเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้ ตัวอย่างระบบการเรียนอันหนึ่งที่ใช้ AI มีชื่อว่า ระบบ Cram101 ใช้ AI ในการสรุปรวบเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเรียน

ทำเป็นแนวเนื้อหาการเรียนที่มีเนื้อหาย่อยง่าย (digestible study guide) มีบทสรุป แบบฝึก แบบทดสอบ และบัตรคำ (flashcards) ของทุกบทเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ตัวอย่างระบบการเรียนอันหนึ่งที่ใช้ AI มีชื่อว่า ระบบ

Netex Learning ที่ใช้ AI เพื่อช่วยให้ผู้สอนออกแบบหลักสูตรและเนื้อหาดิจิตัลโดยใช้ สื่อเสียง ภาพเคลื่อนไหว และผู้ช่วยออนไลน์

ตัวอย่างอื่น ๆ ที่เป็นเนื้อหาเสมือน (virtual content)  ก็มี เช่น การบรรยายออนไลน์ การสอนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์  (video conference) ก็เป็นอีกรูปแบบของ AI ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ การพัฒนาของ AI ทำให้มีแอพพลิเคชันสารพัดที่ช่วยให้นักเรียนไม่ต้องเดินทางมาถึงห้องเรียน เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนก็สามารถเรียนได้จากทุกที่ ทุกเวลา

  1. AI เป็นติวเตอร์รายบุคคล (Smart Tutors and Personalization)

นอกจาก AI จะมีความสามารถในการสรุปรวบเนื้อหาการบรรยายลงในบัตรคำและคำแนะนำการเรียน (smart study guides) แล้ว AI ยังสามารถบริหารเนื้อหาและบทเรียนให้เหมาะสมกับระดับความรู้พื้นฐานของผู้เรียนและปัญหาหรือความยากที่ผู้เรียนพบในระหว่างการเรียนเป็นรายบุคคล (personalized learning) ได้ ในอดีตผู้เรียนอาจจะพบปัญหาในการเข้าถึงอาจารย์ผู้สอน เช่น อาจารย์ผู้สอนมีเวลาพบผู้เรียนจำกัด บางครั้งนักเรียนไปเข้าพบแต่อาจารย์ไม่ว่าง หรืออาจารย์ต้องดูแลนักเรียนหลายๆ คนพร้อมกัน ในปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขด้วยโปรแกรมติวเตอร์ (smart tutoring system) ชื่อ Carnegie Learning ที่สามารถประมวลผลข้อมูลทางการเรียนของนักเรียนแต่ละคนแล้วให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัวโดยตรง แม้โปรแกรมนี้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นพัฒนา แต่อีกไม่นานก็จะกลายเป็น “อาจารย์ดิจิตัล” (full-fledged digital professor) อย่างเต็มตัวที่สามารถช่วยเหลือผู้เรียนได้ตรงตามความต้องการทางการศึกษาจากการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของเด็ก ๆ แต่ละคนเพื่อให้ผู้เรียนคนนั้น ๆ ได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในไม่ช้า AI ติวเตอร์จะพัฒนาให้ครอบคลุมลีลาการเรียนรู้ (learning styles) ของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น

  1. AI สร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบเสมือน (Virtual Lecturers and Learning Environment)

ในสักวันหนึ่งข้างหน้า อาจารย์มนุษย์อาจถูกแทนที่โดยอาจารย์ดิจิตัล AI ที่สามารถคิดและตอบสนองกับมนุษย์ได้โดยใช้เทคโนโลยีการรับรู้ท่าทาง (gesture recognition technology) ที่สามารถให้การตอบสนองต่อผู้เรียนได้ทั้งทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา ในปัจจุบัน สถานศึกษาต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบดิจิตัล (digital learning           environment) มากขึ้น เช่น University of Southern California (USC) Institute for Creative Technologies ได้พัฒนาสภาพแวดล้อมเสมือนจริงและเครื่องมือเสมือนจริง (virtual environments and platforms) สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย โดย University of Southern California (USC) Institute for Creative Technologies ได้ใช้ AI เกมสามมิติ และคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน (computer animation) และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social interaction) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมดังกล่าวสำหรับห้องเรียน ต่อจากนั้นสิ่งที่อาจจะเพิ่มเข้ามาก็จะเป็นการเพิ่มอาจารย์เสมือนจริง (virtual facilitators) และความจริงเสริม (augmented reality; AR) เข้ามา

แม้ในปัจจุบันนี้ AI ได้เข้ามาแทนที่บุคลากรในหลายสายงานอาชีพ เช่น มัคคุเทศก์ ต้องตกงานเพราะมีการนำระบบนำเที่ยวด้วยเสียงหรือความจริงเสริม (AR) หรือ ความจริงเสมือน (VR) เข้ามาเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบไม่ต้องใช้มัคคุเทศก์ หรือพนักงานให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ AI สามารถให้ข้อมูลได้อย่างแม่นยำและไม่ต้องการการพักผ่อนเฉกเช่นมนุษย์ ด้วยความที่ AI จะเข้ามาทำหน้าที่ในระบบการศึกษาได้ดีและครอบคลุมเกือบทุกด้าน ทำให้เกิดความท้าทายอำนาจและอาชีพในระบบเดิมอย่างครู อาจารย์ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาด้วย ความกลัวของครูอาจารย์ผู้สอน ก็คือ AI จะเข้ามาแทนที่เราหรือไม่ เพราะ AI สามารถคิดได้ และมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (ก็คือ ผู้เรียน) ได้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นในอนาคต “คน” ที่ยืนบรรยายอยู่หน้าห้อง อาจไม่ใช่ “อาจารย์มนุษย์” ที่มีเลือดเนื้ออีกต่อไป แต่กลายเป็น อาจารย์ AI แทน เพราะสามารถให้ความรู้ได้ไม่ต่างจาก “อาจารย์มนุษย์” ดังนั้น “อาจารย์มนุษย์” ต่างหากที่กำลังถูกท้าทายให้ต้องรีบปรับตัว เพราะอีกไม่นาน AI อาจทำให้คุณตกงานก็เป็นไปได้ สิ่งสำคัญที่อยากทิ้งท้ายไว้ก็คือ การปล่อยให้ AI ทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การหล่อหลอมทรัพยากรสำคัญอันเป็นอนาคตของมวลมนุษยชาติ (ก็คือ ผู้เรียน) จำเป็นต้องได้รับการควบคุมดูแลที่ดีพอ เพราะการที่ AI จะคิดเป็นและถ่ายทอดได้นั้น ก็มาจากการสอนของมนุษย์ที่คอยป้อนข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับ AI หาไม่แล้ว AI ก็คงมีสภาพไม่ต่างจากอาจารย์ที่มีปัญหาเป็นตัวป่วน เนื่องด้วยสับสนกับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองที่ดีพอนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

Adrien Schmidt. (2018). How AI Impacts Education. Retrieved from: https://www.forbes.com/sites/theyec/2017/12/27/how-ai-impacts-education/#191d76bc792e

Karl Utermohlen. (2018). 4 Ways AI is Changing the Education Industry. Retrieved from: https://towardsdatascience.com/4-ways-ai-is-changing-the-education-industry-b473c5d2c706


เรื่องโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์ 

Views : 6,190 views