สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “เปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม” สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 25-27 ตุลาคม 2566 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี เกษพิชัยณรงค์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ กล่าวเปิดโครงการฯ วันที่ 25 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมบุญศิริ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม
กิจกรรมช่วงเช้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรี เกษพิชัยณรงค์ และคุณอัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง จะพาน้อง ๆ ทำกิจกรรมที่ชื่อว่า “Mangrove Survivor” โดยน้อง ๆ จะได้เรียนรู้ผ่านรูปแบบของการเล่นเกมกระดาน ในเนื้อหาความรู้วิชาชีววิทยา เรื่อง ระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร สายใยอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้นักเรียนยังได้ระดมความคิด ฝึกทักษะการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันเขียนสรุปความรู้โดยใช้แผนผังความคิดอีกด้วย ต่อด้วยกิจกรรมที่ 2 น้อง ๆ จะได้ประยุกต์ความรู้ที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับแรง, การเคลื่อนที่, พลังงานจลน์ และพลังงานศักย์ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างรถไฟเหาะหรือโรลเลอร์โคสเตอร์ตามโจทย์ที่ได้รับ น้อง ๆ จะเรียนรู้วิธีการประยุกต์ใช้ความรู้ในการสร้างสิ่งของตามที่ได้รับมอบหมายและสนุกไปพร้อมกัน กับกิจกรรม “Roller Coaster” ช่วงบ่ายน้อง ๆ นั่งรถรางเดินทางไปเยี่ยมชมอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ทำกิจกรรมยาดมสมุนไพรสูตรทำเอง และได้นั่งรถรางทัวร์ชมทัศนียภาพภายในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา
วันที่ 26 ตุลาคม 2566
กิจกรรมที่ 1 อาจารย์ ดร. ติณณภพ แพงผม และคุณพงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร จะพาน้อง ๆ เป็นนักสืบ ช่วยกันเก็บข้อมูลในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อนำไปสู่การสืบหาคนร้ายให้เจอกับกิจกรรมที่ชื่อว่า “สืบจากเลือด”
กิจกรรมที่ 2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภิรมย์ เชนประโคน และคุณอัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง จะพาน้อง ๆ เรียนรู้หลักการทำสบู่สำหรับแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ ปฏิกิริยาของกรดกับเบส และผลของอุณหภูมิที่มีต่อการเกิดปฏิกิริยาได้ กับกิจกรรมที่ชื่อว่า “Bath Bomb”
ในช่วงบ่าย อาจารย์ ดร.ปรเมศวร์ เหล่าสินชัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรารัตน์ วงศ์เกี่ย จะพาน้อง ๆ เรียนรู้หลักในการตั้งเกณฑ์อย่างไรเพื่อแยกประเภทของลิงดุหรือลิงไม่ดุ และประโยชน์ในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน กับกิจกรรมที่ชื่อว่า “ลิงดุไม่ดุ”
ตามด้วยกิจกรรมท้ายสุด “Wind Energy” (STEM) อาจารย์ ดร. ติณณภพ แพงผม และคุณพงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร จะพาน้องๆ เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานลม โดยให้น้อง ๆ ช่วยกันออกแบบพัดลมจากอุปกรณ์ที่ได้รับตามจินตนาการของน้อง ๆ แล้วออกมานำเสนอผลงานของกลุ่ม จากนั้นเป็นการมอบของที่ระลึกพร้อมกับเกียรติบัตรให้แก่น้อง ๆ และถ่ายภาพร่วมกัน วันที่ 27 ตุลาคม 2566 น้อง ๆ เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการของแต่ละภาควิชาเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์การแพทย์ 6 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์สุดแสงวิเชียร พิพิธภัณฑ์สัมผัส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่โรงพยาบาลศิริราช และเดินทางไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้ด้านการเงินและการลงทุน การวางแผนทางการเงิน สร้างแรงบันดาลใจที่จะเริ่มต้นลงทุน ตลอดจนเข้าใจถึงความสำคัญของตลาดทุนและบทบาทหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย