ทุกวันนี้ การเป็นอยู่หรือการใช้ชีวิตของมนุษย์มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างมาอำนวยความสะดวก กล่าวคือจากที่แต่ก่อนมนุษย์อยากจะได้หรืออยากจะทำอะไรก็ต้องขวนขวายไขว่คว้าด้วยตนเอง ดังจะเห็นได้จากที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมาเสมอว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน (อัตตา หิ อัตตะโน นาโถ) หรือแม้แต่สุภาษิตไทยที่ว่า ฝนทั่ง ให้เป็นเข็ม ซึ่งเป็นการสอนให้ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จนั้นต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีทางที่ความสำเร็จหรือการได้ในสิ่งที่ต้องการจะได้มาง่าย ๆ หรือลอยมา ดังนั้น ชีวิตที่สะดวกสบายหรือมีความสุขกายสุขใจล้วนได้มาจากการผ่านปัญหาอุปสรรคนานัปการมาแล้วทั้งสิ้น
แต่เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุกวันนี้มีความสะดวกสบายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังจะเห็นได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องลงมือจัดหาทุกอย่างด้วยตนเองอีกแล้ว ที่กล่าวเช่นนี้ จะเห็นได้จากการที่ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยของมนุษย์มิได้หายากเหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว กล่าวคือเรื่องอาหารก็ไม่ต้องลำบากออกไปหาจนข้ามวันข้ามคืนเหมือนแต่ก่อน มนุษย์สามารถหาอาหารกินได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยเพียงปัจจัยบางอย่างแลกเปลี่ยนเท่านั้น เช่นเดียวกัน ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม มนุษย์ก็สามารถหามาได้อย่างมิลำบากเหมือนกันเพราะมนุษย์มีเครื่องมือช่วยเหลือในการบริหารจัดการหามาให้ตามความพอใจ ส่วนจะได้มากขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัย แลกเปลี่ยนที่มนุษย์มีอยู่ ดังนั้น ปัจจุบันมนุษย์จึงถือว่าอยู่ในยุคที่มีความสะดวกสบายเป็นที่สุด เพราะอยากจะได้อยากจะมีอะไรก็ได้และมีได้เสมอด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบันและในอดีตนั้นมีความแตกต่างกันทั้งในแง่มุมมองหรือทัศนคติและในแง่สิ่งของที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ที่เป็นที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมนุษย์มีความก้าวหน้าเป็นที่สุดในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้กับตนเองเพราะมนุษย์ได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับช่วยตอบสนองความต้องการได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยสิ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็มและตอบสนองความต้องการของมนุษย์นั้นคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง และในตอนนี้มนุษย์ก็ใช้สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาช่วยทำให้ตนเองได้สมปรารถนาตามที่หวัง แต่ความคาดหวังดังกล่าวจากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้น หรือจากปัญญาประดิษฐ์(AI : Artificial Intelligence) ที่ในปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้ามาก เรียกว่าสามารถทำและคิดคล้าย ๆ กับมนุษย์ได้ แต่ความคาดหวัง
ดังกล่าวจะเป็นไปได้มากเพียงใดหรือจะเป็นได้แค่เพียงความคาดหวังของมนุษย์เท่านั้น ปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาหาคำตอบเป็นอย่างยิ่ง
ปัญญาคืออะไร
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการกระทำ การพูด และการคิดของมนุษย์นั้น ถ้าประกอบด้วยปัญญาหรือความรอบรู้แล้ว ย่อมจะกลายเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้กับตนเองและคนอื่นได้เสมอ แต่เมื่อย้อนถามว่าอะไรคือปัญญา หรือปัญญาที่มนุษย์ควรแสวงหาให้เกิดมีขึ้นในตนเองคืออะไร ยังเป็นคำถามที่ต้องการแลกเปลี่ยนทรรศนะหาคำตอบอยู่เท่าทุกวันนี้ ดังนั้น ในที่นี้ผู้เขียนจึงขอเสนอนิยามเกี่ยวกับปัญญาของผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน มาเป็นกรณีศึกษาวิเคราะห์ ดังนี้
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า “ปัญญา ความรู้ทั่ว, ปรีชาหยั่งรู้เหตุผล, ความรู้ความเข้าใจชัดเจน, ความรู้เข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น และรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร จัดการ ดำเนินการ ทำให้ลุผล ล่วงพ้นปัญหา, ความรอบรู้ในกองสังขารมองเห็นตามเป็นจริง”(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผลิธัมม์, 2559, หน้า 232-233)
- ดร.กิตติชัย สุธาสิโนบล กล่าวว่า “ปัญญาสิกขา (ปัญญา) คือ ความรู้และความเข้าใจและการคิดรู้และเข้าใจเรื่องอะไร เป็นความรอบรู้ที่เกิดจากการคิดที่ถูกต้องเป็นตัวนำ เมื่อปัญญาดีด้วยการคิดที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดการรู้และเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดความคิดประพฤติที่ถูกต้อง จากความประพฤติที่ถูกต้อง ส่งผลให้จิตใจดีงาม จิตใจที่ดีงามบริสุทธิ์ ตั้งมั่นควรแก่การทำงาน จะส่งผลไปสู่ปัญญาที่เฉียบแหลม” (การจัดการเรียนการสอนแบบพุทธะ
เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมสำหรับนักเรียน, กรุงเทพฯ : บริษัทคอมเมอร์เชียล เวิลด์ มิเดีย จำกัด, 2558, หน้า 18-19)
จากการให้ความหมายของปัญญาของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสองท่านดังกล่าว จะเห็นได้ว่าปัญญาเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในมนุษย์ โดยปัญญานั้นต้องเป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) เพราะปัญญาจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อปัญญาถูกมนุษย์นำไปปรับใช้เป็นรูปแบบแห่งความคิดที่ถูกทางในการพัฒนา การประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ส่วนการคิดได้หรือการคิดอย่างมีเหตุผลนั้นก็ไม่ใช่แค่การคิดแบบสามัญธรรมดาทั่วไป แต่การคิดที่จัดว่าเป็นปัญญาได้ต้องเป็นการคิดที่มุ่งไปที่การสามารถคิดแยกแยะชั่วดีได้อย่างเป็นรูปธรรม เรียกว่าปัญญาสามารถพัฒนาสิ่งที่ดีในตนเองให้ดีต่อไปได้และสามารถปรับปรุงสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้นได้
ปัญญาประดิษฐ์
ส่วนปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นมีความหมายเป็นเช่นไร มีประโยชน์และมีลักษณะที่จำเป็นต่อมนุษย์เช่นไร มีเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือได้แสดงนิยามและลักษณาการแห่งปัญญาประดิษฐ์ ไว้ดังนี้
- เว็บไซต์ https://www.mindphp.com ให้คำจำกัดความของ AI : Artificial Intelligence ไว้อย่างน่าสนใจว่า “AI : Artificial Intelligence (อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนต์) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ คือ โปรแกรม Software (ซอฟแวร์) ต่าง ๆ ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะความสามารถในการคิดเองได้ หรือมีปัญญานั่นเอง ปัญญานี้มนุษย์เป็นผู้สร้างให้คอมพิวเตอร์ จึงเรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ คำนิยาม AI ตามความสามารถที่มนุษย์ต้องการแบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ การกระทำ คล้ายมนุษย์ Acting Humanly การคิดคล้ายมนุษย์ Thinking Humanly คิดอย่างมีเหตุผล Thinking rationally กระทำอย่างมีเหตุผล Acting rationally AI (เอไอ) นั้นถูกเอามาใช้ในงานแทนมนุษย์หลายอย่าง เช่น Call Center (คอล เซนเตอร์) ต่าง ๆ เพื่อลดการใช้แรงงานคนและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า แต่อนาคต AI จะสามารถมาแทนการทำงานที่ซับซ้อนของคนได้แน่นอน เช่น การวางแผน การทำกลยุทธ์ทางการตลาด และการสร้างเนื้องาน Content (คอนเทน) ต่าง ๆ” (AI (เอไอ) คืออะไร – ปัญญา ประดิษฐ์ วิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561)
- เว็บไซต์ https://ecloudtec.com/aivision-1/ เสนอไว้ว่า “Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ก็คือโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างอัจฉริยะ สามารถสั่งการได้ด้วยวิธีเดียวกับที่เราสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง อีกทั้งยังคำนวณสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปอย่างเราทำไม่ได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ Artificial Intelligence (AI) สามารถจัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทโดยมองใน 2 มิติ ได้แก่ ระหว่าง นิยามที่เน้นระบบที่เลียนแบบมนุษย์ กับ นิยามที่เน้นระบบที่ระบบที่มีเหตุผล (แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนมนุษย์) ระหว่าง นิยามที่เน้นความคิดเป็นหลัก กับ นิยามที่เน้นการกระทำเป็นหลัก ปัจจุบันงานวิจัยหลัก ๆ ของ AI จะมีแนวคิดในรูปที่เน้นเหตุผลเป็นหลัก เนื่องจากการนำ AI ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องอาศัยอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม นิยามทั้ง 4 ไม่ได้ต่างกันโดยสมบูรณ์ นิยามทั้ง 4 ต่างก็มีส่วนร่วมที่คาบเกี่ยวกันอยู่ นิยามดังกล่าวคือ
1) ระบบที่คิดเหมือนมนุษย์ (Systems that think like humans)
2) ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์ (Systems that act like humans)
3) ระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล (Systems that think rationally)
4) ระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล (Systems that act rationally)
AI ในระดับของสติปัญญาต่าง ๆ มีการแบ่งหรือจำแนก AI ออกมาเป็นหลายๆ แบบ ตามคุณลักษณะต่าง ๆ แต่การแบ่ง AI ตามระดับความสามารถและสติปัญญาดูจะเข้าใจง่ายและใช้กันแพร่หลาย ซึ่งมีการจำแนกออกเป็น 3 ระดับดังนี้
- Artificial Narrow Intelligence (ANI) หรืออาจจะเรียกว่า Weak AI ซึ่งเป็น AI “ปัญญาประดิษฐ์” : ซึ่งมีระดับระดับสติปัญญาที่มีความสามารถในการทำงานได้ในเรื่องแคบ ๆ อยู่ในวงจำกัดเรื่องใด เรื่องหนึ่ง
- Artificial General Intelligence (AGI) อาจเรียกว่า Strong AI ซึ่งเป็นสติปัญญาเทียบเท่ามนุษย์ เป็น AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่ความสามารถในการทำงานได้เทียบเท่ากับสมองมนุษย์ ได้
- Artificial Super Intelligence (ASI) เราอาจเรียก ASI ซุปเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ มีปัญญาเหนือมนุษย์” (มารู้จัก Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ กันดีกว่า (ตอนที่1), เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561)
ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า AI (เอไอ) หรือปัญญาประดิษฐ์นี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำและคิดคล้ายมนุษย์ได้ ตลอดจนคิดและทำอย่างมีเหตุผลตามคำสั่งที่ป้อนได้ด้วย จึงน่าสนใจว่า เมื่อปัญญาประดิษฐ์คิดและทำได้ขนาดนี้แล้ว ต่อไปความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์อาจจะไม่มีช่องว่างระหว่างกันเหลืออยู่ก็ได้ กล่าวคืออาจเป็นไปได้ที่ปัญญาประดิษฐ์จะพัฒนาไปได้ไกลกว่ามนุษย์ หรือไม่มีทางที่ปัญญาประดิษฐ์จะไปได้ไกลกว่ามนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้สร้างปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้น การไปได้ไกลกว่ามนุษย์
ของปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นได้เพียงแค่จินตนาการในนวนิยายหรือภาพยนตร์เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาอย่างถึงที่สุดแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ที่ในปัจจุบันพัฒนาได้ขนาดนี้ การพัฒนาต่อไปของปัญญาประดิษฐ์ก็ชวนให้คิดไปไกล ๆ ได้เหมือนกัน
ปัญญาที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ไม่ได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับคำว่า ปัญญา ในแนวทางพุทธศาสนา ผ่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แนวศึกษาศาสตร์ ผ่าน ดร.กิตติชัย สุธาสิโนบล และคำว่า ปัญญาในศัพท์ว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากสื่อออนไลน์ทั้งสองเว็บไซต์ ทำให้เกิดความคิดได้ว่ามีโอกาสที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีศักยภาพเทียบเท่ามนุษย์ได้ แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว ปัญญาที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ไม่ได้ก็มีเหมือนกัน กล่าวคือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่สามารถหยิบยื่นทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ ส่วนปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะสนองตอบให้ได้ก็คงเป็นความสะดวกสบายทางกายเป็นหลักเท่านั้น แต่จะเป็นไปไม่ได้ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะสามารถเนรมิตทุกอย่างให้มนุษย์ได้ เพราะความเป็นมนุษย์
มีความหลากหลายและมีความซับซ้อนยิ่งนัก ดังคำพูดที่มักพูดเปรียบเปรยถึงพฤติกรรมมนุษย์อยู่เสมอว่า “รู้หน้าไม่รู้ใจ” นั่นเอง ดังนั้น การที่มีผู้เสนอว่าเป็นไปได้ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีศักยภาพทุกอย่างเหมือนมนุษย์ จึงเป็นประเด็นที่ควรมีการวิเคราะห์ถกเถียงกันต่อไป แต่สำหรับผู้เขียนวิเคราะห์ว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถึงแม้จะมีศักยภาพใกล้เคียงหรือเหมือนกับมนุษย์ได้ แต่ก็เป็นเพียงศักยภาพที่มนุษย์ป้อนคำสั่งหรือสร้างให้กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เท่านั้น จริงอยู่ ถึงแม้จะมีผู้พยายามเสนอว่าต่อไป ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ ได้แก่ สามารถคิด พูด ทำ หรือมีเหตุผลใน ตัวเองได้โดยไม่ต้องรอให้มนุษย์ป้อนคำสั่งให้ แต่ความคิดเช่นนี้ขณะนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่เฉพาะในนวนิยายหรือภาพยนตร์เท่านั้น ดังนั้น การวิเคราะห์ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวความคิดที่ว่าด้วยปัญญาที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ไม่ได้ โดยอย่างน้อยมีอยู่ 2 ประการที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่มีให้กับมนุษย์อย่างถูกต้องเหมาะสม คือ
- การบริหารจัดอารมณ์หรือความรู้สึกให้เหมาะสม
ประเด็นนี้ผู้เขียนเสนอว่าเรื่องอารมณ์หรือความรู้สึกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นไปได้ที่จุดนี้ของมนุษย์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าถึงได้เพียงรูปแบบที่มนุษย์ป้อนคำสั่งไว้ให้เท่านั้น หากมนุษย์ไม่ได้ป้อนคำสั่งไว้แล้ว ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จักไม่สามารถซึมซับความรู้สึกรัก ชอบ โกรธ หลงอย่างมนุษย์ได้เลย ดังนั้น การที่มนุษย์ได้ความสะดวกสบายจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้น จึงเป็นความถูกต้องเพียงบางส่วน แต่ส่วนที่สำคัญที่นับว่าทำให้มนุษย์แตกต่างจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) คืออารมณ์หรือความรู้สึกนั้น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่สามารถมีให้กับมนุษย์ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องด้วย เพราะปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นก็หามีอารมณ์หรือความรู้สึกจริง ๆ นอกเสียจากอารมณ์หรือความรู้สึกเสมือนจริงที่มนุษย์ป้อนคำสั่งให้มีเท่านั้น
- การสามารถแยกแยะชั่วดีหรือศีลธรรมได้อย่างถูกต้อง
ประเด็นนี้ผู้เขียนเสนอว่าการแยกแยะชั่วดีหรือการมีคุณธรรมจริยธรรมนี้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่สามารถหยิบยื่นให้กับมนุษย์ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นลักษณะของปัญญาที่มีอยู่ภายในมนุษย์ที่มีการอบรมขัดเกลามาอย่างต่อเนื่อง อีกนัยหนึ่ง หมายถึง การที่มนุษย์มีจิตใจดีงามที่เกิดจากการฝึกฝนพัฒนามาอย่างถูกต้อง ดังนั้น การเรียกร้องให้มนุษย์มีศีลธรรมประจำตัวจากการที่มนุษย์ได้มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่สามารถทำให้มนุษย์มีคุณธรรมจริยธรรมได้ ส่วนถ้ามีบางคนเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถทำให้มนุษย์มีศีลธรรมได้ ก็คงไม่ต่างจากความเชื่อที่ว่าหากมนุษย์จดจำคุณธรรมจริยธรรมได้มาก มนุษย์จะเป็นคนดีหรือมีคุณธรรมจริยธรรมได้เอง แต่ในที่สุด ก็ได้พิสูจน์กันแล้วว่าการจดจำ การรู้ และการเข้าใจหลักศีลธรรมได้มากนั้นไม่สอดคล้องกับการเป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรมเลย สรุปแล้ว การแยกแยะชั่วดี ของมนุษย์เป็นลักษณาการที่มนุษย์ไม่ได้รับจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) แน่นอน มิจำเป็นต้องพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะทำให้มนุษย์มีคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างไร ด้วยลำพังมนุษย์ด้วยกันเองยังไม่สามารถทำให้มนุษย์มีคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างชัดเจนเลย
ฉะนั้น ในบทความเรื่องนี้ จึงสรุปได้ว่า ความหมายของปัญญาตามทัศนะของนักวิชาการศาสนา นักวิชาการการศึกษา และจากสื่อออนไลน์ที่เชื่อถือได้ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นมีความน่าสนใจตรงที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดคำถามต่อความเป็นมนุษย์ที่ดีกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มนุษย์สร้างขึ้น พร้อมกันนี้ ก็ช่วยทำให้เกิดแง่คิดได้ว่าหากวันหนึ่ง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับตัวเองได้รับการพัฒนาจนคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับมนุษย์แล้ว ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับปัญญาที่มนุษย์แสวงหาหรือสร้างให้มีในตนนั้นจะแตกต่างกันหรือไม่แตกต่างกันเลย แต่ในที่นี้ ผู้เขียนขอประมวลเนื้อหาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และปัญญามนุษย์ ด้วยทัศนะองค์รวม ดังนี้
ลักษณาการของปัญญา | ปัญญาประดิษฐ์ (AI) | ปัญญามนุษย์ |
ป้อนคำสั่งและทำตามได้ (สุตมยปัญญา) | ทำได้ | ทำได้ |
คิดแยกแยะสิ่งต่าง ๆ เองได้ (จินตามยปัญญา) | ไม่ได้ | ทำได้ |
ประดิษฐ์สิ่งสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ขึ้นเองได้ (ภาวนามยปัญญา) | ไม่ได้ | ทำได้ |
เรื่องโดย ดร.มนัสวี ศรีนนท์
Views : 1,097 views