จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 69 – สาระน่ารู้

Newsletters

มารู้จัก...วารสารต้องห้ามในการตีพิมพ์กันเถอะ

เรื่อง : อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง

        ในปัจจุบันมีวารสารทางวิชาการจากหลากหลายสำนักพิมพ์ถูกผลิตขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักวิจัยหรือผู้เขียนที่ต้องการเลือกวารสารให้ตรงกับศาสตร์และสาขาของผลงานวิจัยของตนเอง แต่ทั้งนี้การเลือกวารสารที่มีคุณภาพก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผล ทำให้ผลงานวิจัยของตนเองได้รับการอ้างอิงหรือถูกกล่าวถึงในวงวิชาการได้อย่างมาก ในฉบับนี้เรามาทำความรู้จักกับวารสารต้องห้ามในการตีพิมพ์ หรือที่เรียกว่า วารสารนักล่า (Predatory Journals) หรือ วารสารหลอกลวง (Pseudo journals) เป็นวารสารที่จัดทำออกมาเพื่อผลประโยชน์ของผู้ก่อตั้งเองโดยหลอกลวงผู้แต่งให้ตีพิมพ์ในวารสารของตน จะแอบอ้างใช้ชื่อวารสารที่มีชื่อเสียง ชื่อผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความและชื่อบรรณาธิการ และและนำมาปรับชื่อใหม่ให้มีความใกล้เคียงชื่อเดิมให้มากที่สุด ไม่มีวิธีการจัดทำวารสารอย่างถูกต้อง หรือได้มาตรฐานอย่างชัดเจน

        Jeffrey Beall อาจารย์และบรรณารักษ์แห่ง University of Colorado Denver พบว่ามีวารสารที่หาเงินกับนักวิชาการที่ต้องการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารมากขึ้น โดยวารสารเหล่านี้ไม่มีกระบวนการ Peer Review เขาจึงได้จัดทำรายชื่อ Predatory Journals เรียกว่า Beall’s List ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ที่ช่วยผู้แต่ง/นักวิจัย/นักวิชาการ/นักเขียน ใช้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจว่าจะส่งตีพิมพ์ในวารสารใด เพื่อหลีกเลี่ยงการตีพิมพ์ในวารสารกลุ่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม Beall’s List ไม่ได้บอกว่าวารสารเหล่านั้นไม่มีคุณภาพ แต่ผู้เขียนสามารถใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพิจารณาเลือกวารสารตีพิมพ์ (https://beallslist.net/)

ลักษณะของ Predatory Journal

      • ไม่มีข้อมูลในการติดต่อชัดเจน ส่วนใหญ่จะให้แต่ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์
      • ใช้ชื่อวารสารคล้ายคลึงกับวารสารที่มีคุณภาพ เช่น เติม s ไปท้ายชื่อวารสารเดิม โดยมีการแจ้งว่า มีค่า JIF, IF สูง และแอบอ้างเอาภาพหน้าปกของวารสารที่มีชื่อเสียงมาใส่ในเว็บไซต์
      • มักอ้างว่ามีความร่วมมือกับหน่วยงาน และสถาบันที่มีชื่อเสียง
      • ไม่มีกระบวนการ Peer Reviewers ไม่มีการแจ้งเกี่ยวกับขั้นตอนการประเมินคุณภาพบทความ เงื่อนไขในการตีพิมพ์ และกองบรรณาธิการประกอบด้วยผู้เชียวชาญที่มีชื่อเสียงอย่างมากเกินกว่าที่จะมาให้เวลาในการจัดทำวารสาร
      • มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ในราคาสูง (APC)
      • มีกระบวนการพิจารณางานวิจัยเพื่อตีพิมพ์อย่างรวดเร็ว อาจมีการประเมินบทความเล็กน้อย และส่งให้ปรับปรุงบ้าง
      • ใช้ภาษาผิดไวยากรณ์และมีคำผิด ไม่ใช่ภาษาวิชาการ พบทั้งใน เว็บไซต์ และบทความที่ตีพิมพ์

        Predatory journal ส่งผลกระทบเชิงลบต่อนักวิชาการ นักวิจัยที่มีความสามารถ หลายประการ เช่น เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตนเอง เนื่องจาก predatory journal ไม่มีระบบ peer review เสียโอกาสในการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ และอาจจะตกเป็นเครื่องมือของ predatory journal โดยจะนำชื่อนักวิจัย/ชื่อสถาบัน มาเป็นเครื่องมือโฆษณาให้ predatory journal มีความน่าเชื่อถือ ดึงดูดให้นักวิชาการ นักวิจัยรุ่นใหม่ หลงเชื่อ เข้ามา ส่งผลงานมาตีพิมพ์ รวมถึงสูญเสียผลงานดีๆ เป็นต้น
        นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ นักวิจัย นักวิชาการและทีมเท่านั้น ที่จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจเลือกวารสารที่มีคุณภาพเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัย และเนื้อหาในฉบับนี้น่าจะเป็นข้อมูลประกอบการเลือกวารสารและเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ

ที่มา

– Okascharoen, C. (2016). Editor’s Note. Ramathibodi Medical Journal, 39(4). Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ramajournal/article/view/177168
– https://www.gotoknow.org/posts/612871 สืบค้น ณ วันที่ 14 มีนาคม 2566
– https://www.thailibrary.in.th/2021/05/02/predatory-journals/ สืบค้น ณ วันที่ 14 มีนาคม 2566

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 54 views