จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 72 – สาระน่ารู้ เรื่อง การเลือกใช้ Google หรือ ChatGPT

Newsletters

การเลือกใช้ Google หรือ ChatGPT

เรื่อง : อ.ดร.ปรเมษฐ์ ธาราศักดิ์

         ตอนนี้แทบทุกคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูลน่าจะได้ลองใช้ ChatGPT ในการถามคำถามเพื่อค้นหาข้อมูลหรือช่วยในการทำงาน ในบทความนี้ขอเสนอแนวทางในการเลือกใช้ระหว่าง Google หรือ ChatGPT จากประสบการณ์ของผู้เขียน

1. ความต้องการในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูล
        ChatGPT ทำงานโดยใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ เมื่อผู้ใช้งานป้อนประโยคซึ่งประกอบด้วยคำต่าง ๆ เรียงต่อกันมา โมเดลจะทำนายคำถัดไปจากสิ่งที่โมเดลได้เรียนรู้มาในอดีต เช่น สมมติว่าผู้ใช้ป้อนประโยคว่า “ข้างนอกฝนกำลังจะตก เราน่าจะเตรียม…” ChatGPTสามารถเดาได้ว่าคำถัดไปคือ “ร่ม” ซึ่งเป็นคำที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดในการสนทนา แต่การเดาคำนี้ก็ไม่ได้เป็นคำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เช่น ผู้พูดอาจจะให้เตรียม “เสื้อกันฝน” หรือ “เก็บผ้า” ก็ได้ ดังนั้นในการใช้งาน ChatGPT เราจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องเสมอ 
        ส่วนข้อมูลที่เราค้นหาบน Google เราแทบจะเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ อันที่จริงข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่บน Google ก็มาจากสิ่งที่คนเขียนลงไปซึ่งก็อาจมีความผิดพลาดได้เช่นกัน ในสมัยก่อนเมื่อเริ่มมี Wikipedia ผู้คนก็สงสัยว่าข้อมูลจะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เพราะใครก็ได้สามารถไปแก้ไขข้อมูลบน Wikipedia ได้ จึงต้องมีบทความอ้างอิง และบันทึกการแก้ไข ในการใช้ข้อมูลจาก Google เราสามารถอ้างอิงเป็น Link ที่ชี้ไปยังเว็บไซต์ ในขณะที่ ChatGPT ไม่สามารถให้การอ้างอิงแหล่งข้อมูลต้นทาง
        ดังนั้น หากคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูล แนะนำให้ใช้ Google หรืออีกทางหนึ่งคือใช้ ChatGPT แต่มาตรวจสอบความถูกต้องบน Google อีกครั้ง

2. คำถามถึงข้อมูลที่คนทั่วไปทราบกัน
        ChatGPT เรียนรู้จากข้อมูลต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ หากเป็นคำถามภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องเนื้อหาทั่วไปที่ปรากฎอยู่บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ChatGPT มีโอกาสที่จะให้คำตอบที่ถูกต้องได้สูง อย่างไรก็ตามหากเป็นข้อมูลที่เป็นภาษาอื่น ๆ รวมถึงภาษาไทย มีโอกาสที่ ChatGPT จะตอบคำถามผิดพลาดได้มากกว่า เช่น ผู้เขียนเคยถามปัญหาคณิตศาสตร์เบื้องต้น ที่มีคำว่า”โหล”ซึ่งเป็นลักษณะนามในภาษาไทยแสดงถึงจำนวน 12 ชิ้น หากถามเป็นภาษาไทย ChatGPT จะตีความว่าเป็นของสองชิ้น แต่ถ้าถามเป็นภาษาอังกฤษ ChatGPT สามารถตอบคำถามได้ถูกต้อง (หากใช้ Alisa ซึ่งเป็น AI Chatbot ภาษาไทยบน Line ปรากฎว่าสามารถตอบคำถามได้ถูกต้องด้วยภาษาไทย)
        หากเป็นคำถามที่เกี่ยวกับความรู้ในสาขาเฉพาะทางมาก ๆ หรือเป็นคำถามที่เกี่ยวกับความรู้ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ChatGPT อาจจะมีข้อผิดพลาดในการตอบคำถาม เพราะโมเดลยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในการเรียนรู้ ในกรณีนี้การใช้ Google จะเหมาะสมกว่า

3. คำถามที่มีคำตอบได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ หรือมีได้หลายแบบ
        การใช้ Google ค้นหาข้อมูลโดยปกติก็จะมีหลาย ๆ เว็บไซต์ให้เราเลือกดู เราอาจจะเข้าไปดูคำตอบที่แต่ละเว็บไซต์เรียงตามลำดับผลการค้นหา ซึ่งก็จะใช้เวลามากกว่าการใช้ ChatGPT เพราะโมเดลของ ChatGPT เรียนรู้ความรู้มาจากหลาย ๆ เว็บไซต์อยู่แล้วและผลลัพธ์คือการสรุปข้อมูลให้ผู้ใช้งาน เช่น เราอาจจะถามว่าปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก หรือถามว่าสาเหตุของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นมีอะไรบ้าง หรือให้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของการใช้ ChatGPT ในโรงเรียน เป็นต้น

4. คำถามที่ใช้จินตนาการในการหาคำตอบ
        ข้อนี้เป็นจุดแข็งของ ChatGPT ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นหลักของ Generative AI อยู่แล้ว Generative AI คือAI ที่ใช้ในการสร้างตัวข้อความ รูปภาพ หรือวีดีโอ จากข้อความผู้ใช้งาน ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้มีความถูกผิดเป็นเรื่องสำคัญ หากแต่ต้องการความคิดเชิงสร้างสรรค์หรือไอเดียที่หลากหลาย 
ในกรณีรวมถึงการใช้ ChatGPT ในการช่วยจินตนาการสิ่งที่เราต้องการ ภายใต้กรอบหรือเงื่อนไขที่วางไว้ เช่น เราอาจจะใช้ ChatGPT ช่วยร่างหลักสูตรของวิชา AI and Robotics สำหรับนักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่หนึ่ง ใช้เวลาเรียนหนึ่งเทอม สัปดาห์ละสามชั่วโมง โดยมีการเรียนเป็นแบบ active learning และ project-basedเป็นต้น 
การใช้จินตนาการเป็นความสามารถเฉพาะตัวของ Generative AI อย่างChatGPT ที่ Google หรือ search engine ทั่วไปทำไม่ได้

5. คำถามที่ต้องมีการวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์
        เราสามารถใช้ Google เพื่อค้นหาการวิเคราะห์ปัญหาบางอย่าง เช่น “How to fix the picture alignment problem in Microsoft Word” พอได้ผลลัพธ์การค้นหา เราก็ไล่ดูเว็บไซต์ที่เจอปัญหาเดียวกับที่เราเจอ ซึ่งจะใช้เวลามากกว่าการใช้ ChatGPT โดยเราสามารถระบุสถานการณ์ที่ชัดเจนลงไปเพื่อตั้งคำถาม เช่น “I have a problem when I paste the picture in Microsoft Word. After pasting, the picture cannot be aligned at the center of the page. The icon in the property box does not allow me to click anywhere. What can I do?”
ในกรณีของการเปรียบเทียบเราสามารถค้นหาจาก Google เช่น “Comparison between social science research and physical science research” หากมีใครเขียนเรื่องนี้ไว้เราก็อาจจะเข้าไปอ่านจากเว็บไซต์นั้น แต่หากไม่มีข้อมูลบนเว็บไซต์ เรายังสามารถใช้ ChatGPT ให้ทำการเปรียบเทียบแทน 

6. คำถามหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
        เนื่องจากภาษาคอมพิวเตอร์มีไวยากรณ์ (syntax) ที่ชัดเจน ปัญหาเบื้องต้นของผู้เริ่มเขียนโปรแกรมคือ จำคำสั่งไม่ได้หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มเขียนอย่างไร ChatGPT เป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพสูงในเรื่องนี้ เราสามารถระบุความต้องการของโปรแกรมให้ ChatGPT เขียนให้ เช่น “Write a webpage that create a survey form about class satisfaction. After the user fills the form, the data will be kept in a mysql database” ข้อดีอีกอย่างของการใช้ ChatGPT เพื่อเขียนโปรแกรมคือจะไม่มี syntax error เกิดขึ้น (ข้อผิดพลาดของการเขียนคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษา)
หลังจากที่ ChatGPT เขียนโปรแกรมให้แล้ว เราสามารถที่จะนำไปทดสอบบนเครื่องมือพัฒนาโปรแกรม เพื่อตรวจสอบผลลัพธ์และแก้ไข ในขณะเดียวกันหากมีส่วนของโปรแกรมที่เราไม่เข้าใจ เราสามารถให้ ChatGPT อธิบายโปรแกรมเพิ่มเติม โดยตัดส่วนของโปรแกรมดังกล่าวแล้วถามกลับไปที่ ChatGPT
หากใช้ Google เราอาจจะไม่พบตัวอย่างการเขียนโปรแกรมที่ตรงกับที่เราต้องการ และไม่สามารถอธิบายโปรแกรมที่เขียนไว้ได้

        ที่กล่าวมาเป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของการเลือกใช้ Google หรือ ChatGPT แต่มีกรณีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ในขณะที่ความสามารถของ ChatGPT จะถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่เป็นข่าว 
        ขอปิดท้ายบทความนี้ไว้ว่า การใช้ ChatGPT หรือ Generative AI ตัวอื่น ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการการป้อนคำสั่งให้เหมาะสม ซึ่งเป็นความรู้สาขาใหม่ที่เรียกว่า วิศวกรรมพร้อมท์ (Prompt Engineering) การสร้างพร้อมท์เพื่อสร้างข้อความ ก็จะแตกต่างจากเพื่อสร้างรูปภาพหรือวีดีโอ การรวบรวมพร้อมท์ที่เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ จึงมีความสำคัญในการใช้งานดังกล่าว

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 40 views