จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 72 – สาระน่ารู้ เรื่อง การจัดอันดับมหาวิทยาลัยคืออะไร มารู้จักกันเถอะ (ตอนที่ 1)

Newsletters

การจัดอันดับมหาวิทยาลัยคืออะไร มารู้จักกันเถอะ
(ตอนที่ 1)

เรื่อง : อัจฉราพรรณ โพธิ์ทอง

        สวัสดีค่ะ ฉบับนี้เรามารู้จักการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่ทุกสถาบันการศึกษาให้ความสนใจกันยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จของมหาวิทยาลัย มีการใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ มาประกอบกัน การจัดอันดับมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1945 – ค.ศ. 1980 ประเทศสหราชอาณาจักรได้มีการทบทวนคุณภาพด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัย ซึ่งได้มีการแยกออกมาจากงบประมาณด้านการจัดการศึกษา และในปี ค.ศ. 1986 ได้เริ่มมีกระบวนการประเมินด้านการวิจัย ปี ค.ศ. 2003 ได้มีการเขียน White Paper โดยมีการอ้างอิงอย่างระมัดระวังถึงความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ที่มุ่งเน้นการสร้างชื่อเสียงด้านการวิจัยรวมถึงมีการส่งเสริมด้านการศึกษาการเรียนการสอนด้วย
        Academic Ranking of World Universities (ARWU) ได้ประกาศการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกครั้งแรก โดยประเมิน 4 ด้าน คือ คุณภาพการศึกษา คุณภาพของบุคลากร ผลงานวิจัย และ Per Capita Performance จาก 4 ด้านนี้กระจายอยู่ในตัวชี้วัด 6 ตัว ได้แก่ Alumni (10%) Award (20%) Highly Cited Researcher (20%) Nature และ Science (20%) Publication (20%) จำนวนบทความ (เฉพาะ Article) และ Per Capita Performance (10%) นับตั้งแต่นั้นมาระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ โดยสถาบันหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของต่างประเทศ เช่น Times Higher Education World University Rankings (THE), Quacquarelli Symonds (QS) World University Rankings, SCImago Institutions Rankings, University Ranking by Academic Performance, Round University Rankings เป็นต้น
        การจัดอันดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะใช้จำนวนผลงานการตีพิมพ์ การอ้างอิงเป็นตัวชี้วัด แต่ระบบการจัดอันดับส่วนใหญ่ยังมีตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน เช่น คะแนนชื่อเสียง ผู้ได้รับรางวัล สัดส่วนคณาจารย์ต่อนักศึกษา สัดส่วนนักศึกษาระดับปริญญาต่าง ๆ สัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สัดส่วนพนักงานและนักศึกษาชาวต่างชาติ ความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้น การบ่งชี้ความสำเร็จของมหาวิทยาลัย ต้องอาศัยข้อมูลหลายๆด้าน การใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดด้านต่าง ๆ มารวมกัน จะสามารถใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เชิงปริมาณ ที่แสดงความสำเร็จด้านการวิจัย ด้านการศึกษา รวมถึงบทบาทด้านเศรษฐศาสตร์ และการบริการแก่สังคม มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับจะได้รับการยอมรับเกี่ยวกับชื่อเสียงและคุณภาพของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกคุณภาพของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ตัวตัดสินชี้วัดว่าสถาบันหรือมหาวิทยาลัยไหนดีกว่ากัน แต่มีจุดประสงค์หลักก็เพื่อให้แต่ละมหาวิทยาลัยนั้นได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละแห่ง ในฉบับหน้าเราจะมารู้จักกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ โดยสถาบันหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับและรู้จัก รวมถึงเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับของแต่ละที่กันค่ะ

ที่มา

  • บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น และ ไชยวิทย์ ธนไพศาล (2550) การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก: การวัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยประเทศไทย วารสารการประกันคุณภาพ, 8(1), 13 – 25.
  • https://www.thailibrary.in.th/2021/09/30/arwu/ สืบค้น ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2566
  • https://www.thailibrary.in.th/2021/05/03/university-ranking/ สืบค้น ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2566

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 193 views