มารู้จัก เกณฑ์ EdPEx 2567 กันเถอะ
เรื่อง : อนงค์นาฏ พัฒนศักดิ์ศิริ
• Baldrige Excellence Framework-TQA-EdPEx คืออะไร
Baldrige Excellence Framework คือ เกณฑ์การประกันคุณภาพที่ใช้แนวทางแบบ Principle-based มีการอัปเดตเกณฑ์ในทุก ๆ 2 ปี ประเทศไทยได้นำเกณฑ์ดังกล่าว มาช่วยให้องค์กรปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันและผลลัพธ์ผ่านระบบการพัฒนาและประเมินองค์กรต่าง ๆ มา นำมาแปลเป็นเวอร์ชันภาษาไทย โดยจะใช้ชื่อว่า Thailand Quality Award:TQA คือ สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และในด้านการศึกษา ใช้ชื่อว่า Education Criteria for Performance Excellence: EdPEx โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยสรุปได้ว่า เกณฑ์ TQA คือการแปล Baldrige Excellence Framework ให้เป็นเวอร์ชันภาษาไทย ส่วน เกณฑ์ EdPEx คือ เกณฑ์เวอร์ชันภาษาไทย ที่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของการอุดมศึกษาไทย ในบทความต่อจากนี้จะใช้คำว่า EdPEx เพื่อเป็นชื่อเรียนเกณฑ์ดังกล่าว
• ประเด็นคำถามของเกณฑ์ EdPEx ตั้งแต่ 2013 – 2022
เกณฑ์ EdPEx ในแต่ละเวอร์ชัน จะมีประเด็นคำถามที่เกณฑ์จะถามว่า องค์กรดำเนินการอย่างไรในประเด็นนั้น ๆ โดยประเด็นคำถามของเกณฑ์ EdPEx ตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 – 2024 มีประเด็นที่มุ่งเน้นแตกต่างกัน ดังภาพที่ 1
• เกณฑ์ EdPEx 2023 – 2024 มีอะไรปรับเปลี่ยนบ้าง
– ค่านิยมและแนวคิดหลัก (Core Values and Concept) ในปี ค.ศ. 2023 – 2024 มีการเพิ่มเรื่องความสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (Resilience) เข้ามา และมีการปรับเปลี่ยนเรื่องนวัตกรรม (Innovation) ไปรวมกับการมุ่งเน้นความสำเร็จ (Focus on Success) แทน ดังภาพที่ 2
– ความคล่องตัว ความสามารถที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและการพลิกโฉม (Agility, Resilience, and Transformation) แนวคิดเรื่อง ความคล่องตัว (Agility) จะช่วยองค์กรให้ 1) สามารถตอบสนองเรื่องเร่งด่วนหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับการดำเนินการขององค์กร2) สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และ/หรือ 3) จัดการกับความท้าทายเชิงกลยุทธ์ ความสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (Resilience) จะสอดแทรกอยู่ในเกณฑ์ทุกหมวด เพื่อช่วยให้สถาบันเข้าใจและเตรียมพร้อมเมื่อมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของบุคลากร ผู้เรียนและลูกค้ากลุ่มอื่น รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ รวมไปถึงการตั้งหลักเพื่อการพลิกโฉมธุรกิจ (Transformation) จะนำไปสู่ 1) ความสามารถและความพร้อมที่จะตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อโอกาสและภัยคุกคาม 2) การปรับกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ แผนบุคลากร และกระบวนการทันทีที่จำเป็น และ 3) ระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ
– การคงอยู่ของบุคลากร (Workforce Retention) ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนลักษณะงาน รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป รวมถึงที่ตั้ง การทำความเข้าใจและเน้นเรื่องการใช้ปัจจัยความผูกพันที่จะรักษาบุคลากรให้คงอยู่กับองค์กรจึงความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ในเกณฑ์หมวด 5 มีการปรับคำถามให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในวิธีการสร้างความผูกพันกับบุคลากรให้คงอยู่กับองค์กรและวิธีที่ประเมินและปรับปรุงการสร้างความผูกพันและการรักษาบุคลากรให้คงอยู่กับบุคลากร และองค์กรให้ความสำคัญเรื่องการคงอยู่บุคลากรเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการผลการดำเนินการของบุคลากรอย่างไร
– นวัตกรรม (Innovation) เกณฑ์เชื่อว่าการมุ่งสร้างนวัตกรรมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีสำคัญ เพื่อปรับปรุงกระบวนการ หลักสูตรและบริการ หรือความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ซึ่งจะเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยจะครอบคลุมไปถึงเกณฑ์หมวด 1 หมวด 2 และหมวด 4
– ความหลากหลาย ความเสมอภาค การให้เข้ามามีส่วนร่วม และการเข้าถึง (Diversity, Equity, Inclusion and Accessibility) เกณฑ์กล่าวไว้ว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะใช้ประโยชน์จาก 1) ความหลากหลาย (Diversity) ของคนทั้งพื้นฐาน ลักษณะนิสัย ความรู้ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์และแรงจูงใจ 2) เสริมสร้างให้ทุกคนได้รับความเสมอภาคและเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กร การสร้างความเสมอภาค (Equity) คือ การสนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้เรียนลูกค้ากลุ่มอื่น บุคลากร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญทั้งหมดขององค์กร ส่วนการให้เข้ามามีส่วนร่วมในองค์กร (Inclusion and Accessibility) คือ การทำให้มีส่วนร่วมและสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกผูกพันและมีโอกาสตัดสินใจ ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้บุคลากร ผู้เรียนและลูกค้ากลุ่มอื่นเกิดความผูกพัน เพิ่มความภักดี และเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของสถาบัน
– ความสามารถที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของห่วงโซ่อุปทาน (Supply-chain Resilience) เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้องค์กรมีความความคล่องตัวและความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
– การสร้างประโยชน์ให้สังคม ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Societal Contribution, Environmental Sustainability and the Circular Economy) เกณฑ์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมผ่านกรอบของเกณฑ์และการมองเรื่องการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) โดยได้แนวคิดจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (The United Nations Sustainable Development Goals) ถ้าสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี องค์กรก็จะดี
– ระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี (The Digital Economy and the fourth industrial revolution) การใช้ระบบอัตโนมัติขั้นสูง และเทคโนโลยีทันสมัยอื่น ๆ มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อใช้ในการสอน การเรียนรู้ และกระยวนการต่าง ๆ ขององค์กร เกณฑ์จะตั้งคำถามกับผู้นำในเรื่องนี้คือ 1) ผู้นำพิจารณาถึงความจำเป็นเรื่องนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอย่างไร 2) การวางแผนกลยุทธ์ได้พิจารณาเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไร 3) องค์กรเตรียมบุคลากรเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างไร และ 4) องค์กรนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการทำงานอย่างไร นอกจากนี้เกณฑ์ยังถามไปถึงเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีความคล่องตัวขององค์กรต่อระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี
– การรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cybersecurity) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้เรียน รวมทั้งการจัดการและลดความความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ต่อข้อมูล สารสนเทศ และระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำ เกณฑ์จะเน้นเรื่องความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากร ผู้เรียน ลูกค้ากลุ่มอื่น คู่ความร่วมมือที่เป็นทางการและผู้ส่งมอบ
– หมวดและหัวข้อต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนคำถามพื้นฐาน (Basic Question) ประเด็นพิจารณา (Area to address) คำถามย่อย (Multiple Questions) และคำถามโดยรวม (Overall Questions) ซึ่งสามารถสรุปหัวข้อที่มีการปรับเปลี่ยน/เพิ่มเติม ดังภาพที่ 3 ถึง ภาพที่ 5
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(1 votes, average: 4.00 out of 4)Loading…