หน้า 3 จาก 7

          ในช่วงปลายสมัยไมโอซีนมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้สภาพ
แวดล้อมในธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป เช่น ป่าไม้ลดลงจนบางแห่งกลายเป็นทุ่งหญ้า ทำให้ที่อยู่อาศัยและปริมาณอาหารเปลี่ยนแปลงไป เกิดการแก่งแย่งกันของสิ่งมีชีวิต ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสายวิวัฒนาการของเอพไปสู่บรรพบุรุษของมนุษย์ที่สามารถยืนตัวตรงได้ มีการลดขนาดเขี้ยวและขยายขนาดฟันกราม

          บรรพบุรุษของมนุษย์เริ่มปรากฏครั้งแรกในสมัยไมโอซีน ในราวประมาณ 4.3 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษที่มีความคล้ายมนุษย์มากที่สุดคือ ออสทราโลพิเทคัส (Australopithecus)
ในปี พ.ศ.2518 นักบรรพชีวินได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสมบูรณ์ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ในเอทิโอเปีย และได้ตั้งชื่อตามบริเวณที่พบคือ Afar Triangle ว่า Australopithecus afarensis คาดว่า A. afarensis มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2.9-3.9 ล้านปีก่อน จากหลักฐานของลักษณะรอยเท้าที่ปรากฏในเถ้าภูเขาไฟ จากกระดูกกะโหลกศีรษะและกระดูกเชิงกรานทำให้สันนิษฐานได้ว่า A. afarensis มีแขนยาวจึงน่าสามารถดำรงชีวิตบางส่วนอยู่บนต้นไม้และสามารถเดินสองขาบนพื้นดินได้ดีแต่ก็ยังไม่เหมือนมนุษย์ มีความจุสมองประมาณ 400-500 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีฟันเขี้ยวที่ลดรูปลง ปัจจุบันเชื่อว่า A. afarensis เป็นบรรพบุรุษของ
ออสทราโลพิเทคัสสปีชีส์อื่นๆ และมนุษย์จีนัสโฮโมด้วย


ภาพสันนิษฐานลักษณะของ A. afarensis
จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์รอยเท้าที่ปรากฏในเถ้าภูเขาไฟ


ซากดึกดำบรรพ์ของ A. afarensis พบที่เอธิโอเปีย
หรือที่นักบรรพชีวินเรียกว่า ลูซี สูงประมาณ 1 เมตร


ซากดึกดำบรรพ์กระดูกกะโหลกศีรษะของ Australopithecus

 

หน้า 1 2 3 4 5 6 7