จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 72 – ศึกษาปริทัศน์ เรื่อง การจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุน

Newsletters

การจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุน

เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์

        การเรียนการสอนในยุคนี้จะบริหารจัดการด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งน่าจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะสถานการณ์ทางสังคมและบุคคลแตกต่างหรือเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก เรียกว่าเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ หากทรัพยากรทางการศึกษา เช่น ผู้บริหาร ครูผู้สอน หรือสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ ไม่ได้รับการพัฒนาหรือปรับปรุงอยู่เสมอในทุกช่วงเวลา โอกาสที่ทรัพยากรทางการศึกษาต่าง ๆ ก็จะล้าสมัยได้ ดังนั้น การจัดการศึกษาในขณะนี้และอนาคต จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและบุคคลเป็นสำคัญ โดยการปรับปรุงพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอนี้ควรที่จะได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนหรือเป็นเครื่องมือแห่งการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด กล่าวเฉพาะเป้าหมายของบทความนี้ ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทของการจัดการเรียนการสอนที่มีการปรับตัวมาระยะเวลาพอสมควรแล้ว โดยได้มีการนำเครื่องมือทางการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนให้เป็นที่พึงพอใจของนักเรียนหรือผู้มารับบริการจากสถาบันการศึกษา ดังนั้น ต่อไปนี้ จะได้แสดงรายละเอียดที่เป็นประเด็นสำคัญของบทความนี้ตามลำดับไป

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาตามทัศนะของนักคิด        
        มีนักวิชาการเป็นจำนวนมากได้นำเสนอถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนดังนี้ Taylor (2014) กล่าวว่า การเรียนการสอนออนไลน์จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การสร้างบทเรียนบนเว็บเพื่อให้ผู้เรียนเข้ามาศึกษาเนื้อหาบทเรียนเท่านั้น หากแต่ยังต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ Calder & McCollum (1988) กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online learning) จะเป็นเรียนทางผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ บวกเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สร้างการศึกษาที่มีปฏิสัมพันธ์คุณภาพสูง (จักรกฤษณ์ โพดาพล, (2563), การจัดการเรียนรู้ออนไลน์: วิถีที่เป็นไปทางการศึกษา, สืบค้นจาก https://slc.mbu.ac.th/wp-content/uploads/2020/06/การจัดการเรียนรู้ออนไลน์, วันที่สืบค้น 13 สิงหาคม 2566) และ พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์ กล่าวว่า การออกแบบสื่อเพื่อใช้ในการเรียนการสอนอาศัยหลักการ ASSURE Model หรือการใช้สื่อการสอนอย่างเป็นระบบโดยใช้แบบจำลอง (พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์, ปิยานี จิตร์เจริญ, อาจารย์จุฬาฯ แนะการใช้สื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในยุค New Normal, สืบค้นจาก https://www.chula.ac.th/news/33060/, วันที่สืบค้น 13 สิงหาคม 2566) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนนั้น ทุกฝ่ายให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตามทัศนะของนักคิดที่มีหลักวิชาการให้ผู้อื่นใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการการศึกษาและเทคโนโลยีสารสนเทศนับว่าเป็นทั้งนวัตกรรมและเป็นเครื่องมือทำให้เกิดการมีนวัตกรรมต่อยอดได้อีก

ลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์
        สำหรับความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์นั้นประกอบด้วย 1. ยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและสะดวกในการเรียน 2. เข้าถึงได้ง่าย ผู้เรียน และผู้สอนสามารถเข้าถึง e-learning ได้ง่าย 3. ปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยกระทำได้ง่าย 4. ประหยัดเวลาและค่าเดินทาง (BANTHITABLOG, (2016), วันที่สืบค้น 14 สิงหาคม 2566, การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (E – LEARNING), สืบค้นจาก https://banthitablog.wordpress.com /การเรียนการสอนแบบออนไล/) ดังนั้น การเรียนการสอนออนไลน์นั้นมีความจำเป็นที่สุด เพราะได้ช่วยทำให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมากมาย ดังเช่นที่ระบุไว้ในข้างต้นว่าทำให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้สอนและผู้เรียน ตลอดถึงผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อตรวจสอบความถูกต้องหรือศึกษาได้ง่ายนั่นเอง

การจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุน
        การจัดการเรียนการสอนออนไลน์จะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลควรได้มีการพัฒนาความรู้ความสามารถในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือสนับสนุนด้วย กล่าวคือทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการสร้างสรรค์เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนกับการเรียนผ่านเครือข่ายมีความท้าทายที่แตกต่างกันอย่างมาก การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นสื่อหรือเป็นช่องทางหลักในการถ่ายทอดความรู้ และกระบวนการคิด แทนที่การถ่ายทอดและรับรู้รับฟังข้อมูลแบบต่อหน้านั้น จึงควรจัดเตรียมความพร้อม และทักษะการใช้เทคโนโลยี และโปรแกรมแอปพลิเคชันต่าง ๆ เป็นอย่างดี สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกระบวนการจัดการสอน เพื่อความสะดวกและราบรื่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ (เจริญ ภูวิจิตร,(ม.ป.ป.), วันที่สืบค้น 15 สิงหาคม 2566, การจัดการเรียนรู้ทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล, สืบค้นจากhttp://www.nidtep.go.th/2017/publish/doc/20210827.pdf) ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าการใช้หรือการมีทักษะในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยทำให้การจัดการศึกษาหรือการศึกษาหาความรู้นั้นเกิดคุณค่าและเกิดประโยชน์ในภาพรวม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม

วิเคราะห์การจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุน

การเรียนการสอนออนไลน์ Online นั้นเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ดังนั้น สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะต้องได้รับการออกแบบตามหลักการและทฤษฎีทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทางด้านการศึกษาและด้านจิตวิทยา โดยยึดหลักการออกแบบตามกระบวนการออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Design) เพื่อเป็นสื่อที่มีความเหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความแตกต่างด้านบุคคล ดังนั้น ในที่นี้ จึงสรุปได้ดังนี้ 1. รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และการสร้างสรรค์ 2. เมื่อไม่ได้พบหน้าจึงต้องอาศัยทักษะการสื่อสารที่หลากหลาย 3. บริหาร และจัดเวลาการเรียนที่ยืดหยุ่นแต่มีประสิทธิภาพ 4. ถ่ายทอดสาระสำคัญของบทเรียน และการประยุกต์ใช้เป็นหลัก 5. ปรับแนวทางประเมินผล และให้คำแนะนำที่มีคุณภาพและเหมาะสม (กนกวรรณ สุภาราญ, (2563), วันที่สืบค้น 16 สิงหาคม 2566, ทักษะครูกับการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ยุคใหม่, สืบค้นจาก https://www.educathai.com/knowledge/articles/372) ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์สรุปแล้ว จึงเห็นได้ถึงการได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ทำให้เกิดการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่เริ่มต้น ขณะจัดการศึกษา และการประเมินผลร่วมด้วย โดยทั้ง 3 ช่วงระยะเวลาในการจัดการเรียนการสอนนั้นหากได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการใช้อย่างเหมาะสมย่อมทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และต่อยอดออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้จักจบสิ้น มีแต่จะเพิ่มขึ้นและขยายขอบเขตความรู้และคำตอบให้กับสังคมอย่างเป็นปัจจุบันทันด่วนและพยากรณ์อนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างน่าจะแม่นยำที่สุด

บทสรุป
        จากที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับการจัดการการเรียนการสอนออนไลน์ด้วยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนนั้นทำให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ให้บริการจะได้มีเครื่องมือและรูปแบบที่ทันสมัยเพื่อจะได้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการ ทั้งฝ่ายผู้รับบริการก็จะได้ประโยชน์ในการแสวงหาความรู้ที่ต้องการ ตลอดจนสามารถที่จะนำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษาแล้ว หรือแม้แต่เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ยังสามารถกลับเข้ามาศึกษาและพัฒนาความรู้ได้ตลอด จนเรียกว่าความรู้นั้นออนไลน์อยู่เสมอสำหรับผู้แสวงหาความรู้และความรู้นั้นเมื่อได้ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแล้วย่อมทำให้ความรู้แพร่กระจายเร็วและเป็นปัจจุบันที่สุด ดังที่จะเห็นได้จากข้อดีและข้อเสียหากได้มีหรือขาดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการเรียนการสอนตามทัศนะท่านผู้รู้ดังนี้ ข้อดี ประกอบด้วยย 1. นักศึกษาเข้าเรียนเกือบ 100% ทุกคาบ 2. เข้าเรียนตรงเวลามากขึ้น 3. เรียนไปด้วย ช่วยงานที่บ้านไปด้วยก็ได้ 4. ลดภาระค่าใช้จ่าย 5. กลับมาเรียนซ้ำ เรียนชดเชยได้ 6. อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ขอให้มีอินเทอร์เนต 7. กล้าและมั่นใจได้การแสดงความคิดเห็นมากขึ้น 8. เชิญแขกหรือวิทยากรได้ง่ายและมีคุณภาพขึ้น 9. การสนับสนุนระหว่างเรียนคล่องตัว ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก และ 10. บางวิชาผู้ปกครองขอนั่งเรียน นั่งฟังไปด้วย เป็น home school อีกรูปแบบหนึ่งก็ว่าได้ ส่วนข้อเสีย ประกอบด้วย 1. ต้องเข้มงวด 2. การพัฒนาความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยตรงกับอาจารย์และเพื่อน ๆ นักศึกษาทำได้ยากกว่า 3. อาจต้องจ่ายค่าซอฟต์แวร์ที่อัปเดต 4. ตรวจสอบความสงสัยและความเข้าใจของนักศึกษาอาจทำได้ยากกว่า และ 5. การสร้างแรงจูงใจ (motivation) ในห้องเรียนปกติทำได้ดีกว่า (สุริยะใส กตะศิลา, (2563), วันที่สืบค้น 18 สิงหาคม 2566, เปิดมุมมอง “ข้อดี-ข้อเสีย” เรียนออนไลน์ให้เท่าทันการศึกษา ยุค NEW NORMAL, สืบค้นจาก https://www2.rsu.ac.th/sarnrangsit-online-detail/Article-online%20learning)

บรรณานุกรม
กนกวรรณ สุภาราญ. ทักษะครูกับการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ยุคใหม่.สืบค้นจาก

        https://www.educathai.com/knowledge/articles/372. วันที่สืบค้น 16 สิงหาคม 2566.
จักรกฤษณ์ โพดาพล. การจัดการเรียนรู้ออนไลน์: วีถีที่เป็นไปทางการศึกษา. สืบค้นจาก
        https://slc.mbu.ac.th/wp-content/uploads/2020/06/การจัดการเรียนรู้ออนไลน์. วันที่สืบค้น 13 สิงหาคม 2566.
เจริญ ภูวิจิตร. การจัดการเรียนรู้ทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล. สืบค้นจาก
        http://www.nidtep.go.th/2017/publish/doc/20210827.pdf. วันที่สืบค้น 15 สิงหาคม 2566.
พรสุข ตันตระรุ่งโรจน์, ปิยานี จิตร์เจริญ. อาจารย์จุฬาฯ แนะการใช้สื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในยุค New Normal. สืบค้นจาก
        https://www.chula.ac.th/news/33060/. วันที่สืบค้น 13 สิงหาคม 2566.
สุริยะใส กตะศิลา. เปิดมุมมอง “ข้อดี-ข้อเสีย” เรียนออนไลน์ให้เท่าทันการศึกษา ยุค NEW NORMAL. สืบค้นจาก
        https://www2.rsu.ac.th/sarnrangsit-online-detail/Article-online%20learning. วันที่สืบค้น 18 สิงหาคม 2566.
BANTHITABLOG. การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (E – LEARNING).สืบค้นจาก
        https://banthitablog.wordpress.com /การเรียนการสอนแบบออนไล/. วันที่สืบค้น 14 สิงหาคม 2566.

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 22 views