จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 59 – สาระน่ารู้

Newsletters

คนปลาไหล

ดร.มนัสวี ศรีนนท์

     

       ช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อยู่นี้ ทำให้หลายคนได้มีโอกาสอยู่บ้าน ได้ทำนั่นนี่ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนหลายอย่าง เรียกว่าแต่ละคนได้มีโอกาสอยู่กับตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การมาของไวรัสโควิด-19 นี้ บางทีได้ทำให้เกิดอะไรดี ๆ ขึ้นหลายอย่างเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เป็นไวรัสหรือโรคภัย จึงทำให้มีน้อยคนนักที่จะมองว่าเป็นเรื่องดีหรือเป็นโอกาสสำหรับตนเอง

        สำหรับโอกาสหรือสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นกับหลายคนในช่วงนี้ คือ ได้มีเวลาอ่านหนังสือที่ชอบหรือที่เคยซื้อกักตุนเป็นเสบียงปัญญานานแล้ว ผู้เขียนก็เช่นกัน เมื่อมีโอกาสอยู่บ้าน นอกจากทำงานออนไลน์แล้ว ก็ได้มีโอกาสอ่านหนังสือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง ซึ่งหลักคำสอนที่อ่านแล้วชอบจนอยากมาเล่าต่อ คือ พระพุทธเจ้าสอนว่า “มีมนุษย์อยู่ประเภทหนึ่ง เปรียบได้กับปลาไหล มีการแสดงออก พูดจา และมีความคิดไม่มั่นคง ไม่แน่นอน สัดส่ายไปมาเหมือนพฤติกรรมปลาไหล” คนประเภทนี้ ในสมัยพุทธกาลมีมากพอสมควร แต่ในปัจจุบันคิดว่ามีมากกว่านั้น เพราะตัวแปรที่สำคัญที่ใช้ยืนยันว่าคนแบบนี้มีเยอะกว่าในอดีตคือผลประโยชน์ โดยผลประโยชน์นี้จะทำให้เกิดคนปลาไหลมากขึ้นตามไปด้วย กล่าวคือ “ที่ใดมีผลประโยชน์เยอะ ที่นั่นก็จะมีคนปลาไหลเยอะตามไปด้วย”

        ถามว่า คนประเภทปลาไหล ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “อมราวิกเขปะ” นี้ ควรคบไว้เป็นมิตรหรือไม่ ตอบว่า ไม่ควรคบเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใด เราไร้ประโยชน์ต่อเขา เขาก็จะไม่เป็นมิตรอีกต่อไป ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีมิตรแท้ แม้จะมีแค่เพียงคนเดียว ก็ยังดีกว่ามิตรปลาไหลที่มีเป็นร้อย ๆ แต่หาความจริงใจไม่มี และที่ควรจำใส่ใจไว้ คือ คนปลาไหลจะเลื้อยจากเราไปทันที เมื่อหมดผลประโยชน์ สิ่งใดที่คนปลาไหลเคยทำ เคยบอก และเคยแสดงความคิดไว้ จะไร้ความหมายหมด เพราะผลประโยชน์หมดไป

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 49 views