จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 59 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

การพัฒนารูปแบบแผนภาพ

ดร. มนัสวี ศรีนนท์
ดร. มนัสวี ศรีนนท์

       ในการจัดการงานหรือความคิด ความรู้ และความเข้าใจของตนเอง เพื่อเสนอต่อผู้อื่นหรือสังคมนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน เป็นรูปธรรมและไม่ก่อให้เกิดการส่งต่อประเด็นอย่างผิด ๆ ดังนั้น ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้สิ่งที่ตนเองต้องการสื่อออกไปนั้นไม่มีความคลุมเครือและสามารถทำให้หลาย ๆ คนที่มาศึกษาแล้วเกิดความรู้ชัดแจ้งตรงตามที่ผู้นำเสนอข้อมูลได้ตั้งใจไว้แต่แรก เรียกว่าสามารถทำให้ผู้รับข้อมูลเกิดการพัฒนาในตนเอง ทำนองเดียวกันกับทำให้ผู้มาศึกษาค้นคว้ามองทะลุปรุโปร่งจากนามธรรมไปสู่รูปธรรมได้ ในที่นี้ ผู้เขียนประสงค์จะพัฒนากรอบแนวคิดเรื่องรูปแบบแผนภาพ เพื่อต้องการให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่ต้องการนำไปใช้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการบริหารจัดการเอกสารต่าง ๆ เช่น เอกสารจุลสาร หรือวารสาร เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อผู้ดำเนินงานและผู้มาติดต่อประสานงานเกิดความสะดวกสบายนั่นเอง ความหมายเกี่ยวกับรูปแบบ
      ในเรื่องความหมายของรูปแบบนี้ ตามทัศนะของนักวิชาการโดยส่วนใหญ่ที่ศึกษามา ก็จะนำเสนอไว้เป็นภาพกว้าง ๆ ดังนี้ ภาพรวมของความคิดที่เป็นนามธรรม แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมในทุก ๆ เรื่อง เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้หรือนำไปปฏิบัติ กล่าวคือหากรูปแบบไม่ชัดหรือเป็นเพียงนามธรรมล้วน ๆ แล้ว การจะนำแนวคิดหรือหลักการไปสู่การลงมือปฏิบัติย่อมเป็นการยากยิ่งขึ้น ดังที่ คัมภีร์ สุดแท้ (2553) กล่าวว่า รูปแบบ หมายถึง สิ่งที่สร้าง หรือพัฒนาขึ้นแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบสำคัญ ๆ ของเรื่องให้เข้าใจง่ายขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป และบาร์โดและฮาร์ตแมน (Bardo and Hartman, 1982) กล่าวว่า รูปแบบเป็นอะไรบางอย่างที่เราพัฒนาขึ้นมาเพื่อบรรยายคุณลักษณะที่สำคัญ ๆ ของปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ รูปแบบจึงมิใช่การบรรยายหรืออธิบายปรากฏการณ์อย่างละเอียดทุกแง่มุม เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้รูปแบบมีความซับซ้อนและยุ่งยากเกินกว่าที่จะทำความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้คุณค่าของรูปแบบนั้นด้อยลงไป ส่วนการที่จัดระบบรูปแบบหนึ่ง ๆ จะต้องมีรายละเอียดมากน้อยเพียงใดจึงจะเหมาะสม และรูปแบบนั้น ๆ ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ไม่ได้มีข้อกำหนดเป็นการตายตัว ทั้งนี้ก็แล้วปรากฏการณ์แต่ละอย่างและวัตถุประสงค์ของผู้สร้างรูปแบบที่ต้องการจะอธิบายปรากฏการณ์นั้น ๆ อย่างไร                    
ลักษณะของรูปแบบ
        ประเภทของรูปแบบนั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นสภาพที่แท้จริงและทำให้เกิดมโนทัศน์รวมของเรื่องราวที่นำเสนอ กล่าวคือรูปแบบนั้นต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนำเสนอหลักการให้เห็นเท่านั้น แต่ควรเป็นรูปแบบที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดังที่นักวิชาการบางคนนำเสนอว่ารูปแบบนั้นสามารถทำออกมาในรูปแบบแผนภาพ แล้วทำให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมได้ เช่น นภัสวรรณ ดำรงธรรม และคณะ (2563) กล่าวว่า แผนภาพ (Diagram) คือ การเขียนกราฟิกที่เขียนหรือวาดขึ้นอย่างย่นย่อ โดยใช้เส้นสัญลักษณ์แทนเนื้อหาเรื่องราวที่สัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นระบบ เช่น แสดงโครงสร้างการทำงานของเครื่องกล ระบบการทำงานของเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แผนภาพจะใช้สัญลักษณ์ที่เป็นภาษาสากล เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการนั้น ๆ การใช้แผนภาพจะเป็นประโยชน์ต่อการบรรยาย เพราะสามารถใช้แสดงถึงความสัมพันธ์ของลักษณะในการทำงานได้อย่างชัดเจน และช่วยลดความซับซ้อน ให้น้อยลงกว่าการใช้ของจริงนอกจากนั้นยังสามารถขยายใหญ่ เพื่อสะดวกต่อการอธิบาย ให้ชัดเจนทั่วถึงได้ดีด้วย แต่ข้อเสียของสื่อชนิดนี้คือความเป็นนามธรรมซึ่งยากต่อความเข้าใจสำหรับผู้ไม่มีพื้นฐาน 
การพัฒนารูปแบบ
        การพัฒนารูปแบบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากที่ได้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักการเกี่ยวกับรูปแบบแล้ว กล่าวคือรูปแบบที่จะเกิดขึ้นต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับหลักการที่นำมาใช้เป็นกรอบแนวคิดนั่นเอง ดังที่ ปิยะนารถ สิงห์ชู (2563) กล่าวว่า การพัฒนารูปแบบนั้นอาจจะมีขั้นตอนในการดำเนินงานแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วอาจจะแบ่งออกเป็นสองตอนใหญ่ ๆ คือ การสร้างรูปแบบ(construct) และการหาความตรง (validity) ของรูปแบบส่วนรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนว่ามีการดำเนินการอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะและกรอบแนวคิดซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบนั้น ๆ
ความหมายและลักษณะของแผนภาพ
        แผนภาพนั้นคือการนำเสนอเรื่องราวหรือเนื้อหาต่าง ๆที่ต้องการให้คนที่เห็นเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือแผนภาพช่วยในการทำให้มโนทัศน์ต่าง ๆ ที่แต่ละคนรับรู้เกิดเป็นภาพสะท้อนอย่างถูกต้องและสอดคล้องตามความประสงค์ของผู้นำเสนอข้อมูล ดังที่ ราชบัณฑิตยสถาน(2542) เสนอไว้ว่า แผนภาพ (Diagrams) หมายถึง ภาพหรือเค้าโครงที่เขียนขึ้นเพื่อช่วยในการอธิบายเรื่องราว
ลักษณะและประโยชน์ของแผนภาพ
        แผนภาพนั้นต้องมีลักษณะในการทำให้สิ่งที่ต้องการนำเสนอเข้าใจง่ายและเป็นไปอย่างมีระบบแบบแผน สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คือ ลักษณะของแผนภาพนั้นต้องให้ผู้ที่ต้องการรับรู้ได้เข้าใจทั้งองคาพยพในเรื่องดังกล่าว เรียกว่าใคร ๆ ก็สามารถเข้าใจในเรื่องที่ต้องการนำเสนอไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะทำให้ลักษณะของแผนภาพได้รับการยอมรับ ดังที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (2563) เสนอไว้ว่า ลักษณะของแผนภาพควรมีลักษณะดังนี้ 1. แบบง่าย 2. อ่านง่าย 3. เข้าใจง่าย 4. กะทัดรัด 5. ขนาดเหมาะสม
        ส่วนประโยชน์ของแผนภาพนั้นมีอย่างมากมาย เรียกว่าหากประสงค์จะนำเสนอเรื่องอะไร ๆ ให้ทุกคนทราบ เข้าใจง่าย และเข้าใจตรงกันอย่างเป็นรูปธรรมนั้น การนำเสนอด้วยแผนภาพนับว่าเป็นการทำให้ผู้รับข้อมูลได้เข้าใจอย่างเป็นระบบและชัดเจนที่สุด เพราะแผนภาพนี้ได้ทำลายความเป็นนามธรรมของเนื้อหา แล้วนำเนื้อหาดังกล่าวสู่ความเป็นรูปธรรม จนทำให้ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ในทุกระดับได้อย่างไม่ต้องสงสัยและก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริงตามที่ ศรายุทธ ไชยวงศ์ (2563) กล่าวว่า แผนภาพที่มีการใช้สัญลักษณ์รูปภาพและลูกศรที่แสดงถึงขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมหรือระบบทีละขั้นตอน รวมไปถึงทิศทางการไหลของข้อมูลตั้งแต่แรกจนได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ โดยมีประโยชน์ดังนี้
1. ช่วยลำดับขั้นตอนการทำงานของโปรแกรมและสามารถนำไปเขียนโปรแกรมได้โดยไม่สับสน
2. ช่วยในการตรวจสอบ และแก้ไขโปรแกรมได้ง่าย เมื่อเกิดข้อผิดพลาด
3. ช่วยให้การดัดแปลง แก้ไขทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
4. ช่วยให้ผู้อื่นสามารถศึกษาการทำงานของโปรแกรมได้อย่างง่าย และรวดเร็วมากขึ้น
5. ผังงานควรมีการทดสอบความถูกต้องของการทำงานก่อนนำไปเขียนโปรแกรม
วิเคราะห์และสรุป
        ตามที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น สรุปได้ว่า แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบแผนภาพนั้นมีประโยชน์หลายประการ คือ ทำให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่มีสภาพเป็นนามธรรมสามารถนำเสนอออกมาเป็นรูปธรรมได้และเห็นได้ชัดเจนด้วย ตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องเสือ หากสามารถนำเสนอหรือทำให้เป็นภาพรูปสื่อออกมา ก็ย่อมจะทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นและที่สำคัญย่อมทำให้ทุกคนเข้าถึงง่ายและเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ส่วนในกรณีการนำเอาแนวคิดการพัฒนารูปแบบแผนภาพมาใช้ในการบริหารจัดการจุลสารหรือเอกสารทางวิชาการอื่น ๆ นั้น ก็มีหลักการและแนวทางดำเนินการที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ได้แก่ เอาไปใช้ประโยชน์ทั้งในแง่ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรและผู้มาติดต่อประสานงานจุลสารได้ ด้วยว่ารูปแบบแผนภาพการทำงานในจุลสารนั้นจะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานในจุลสารเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตนในการบรรณาธิกรจุลสารอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน ส่วนผู้มาติดต่อประสานงานหรือผู้ต้องการนำผลงานมานำเสนอในจุลสารก็จะสามารถประสานนำส่งผลงานเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ได้ถูกฝ่าย พร้อมทั้งสามารถได้คำตอบเรื่องการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขผลงานของตนด้วย ตรงกันข้าม หากไม่มีรูปแบบแผนภาพในการปฏิบัติงานในจุลสารแล้วก็อาจจะเกิดความสะดุดหรือความบกพร่องในการปฏิบัติงานของทุกฝ่ายที่ทำหน้าที่บรรณาธิการจุลสารและทำให้ผู้มาติดต่อประสานงานไม่ประทับใจและไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนหากผลงานของเขาไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ส่วนรูปแบบการพัฒนาจุลสารที่ควรจะเป็นตามทัศนะของผู้เขียน คือ รูปแบบแผนภาพ หมายความว่า ถึงแม้รูปแบบการดำเนินการเอกสารต่าง ๆ นั้นจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่ผู้เขียนเข้าใจว่ารูปแบบแผนภาพนี้จะเป็นการทำให้ผู้ทำงานในจุลสารและผู้มาติดต่อประสานงานกับจุลสารปฏิบัติตนได้ตามบทบาทและหน้าที่ ให้เป็นไปตามระบบและกลไกการบริหารจัดการจุลสารตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ ดังจะเห็นได้จากกองบรรณาธิการจุลสารสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปี พ.ศ. 2561 นั้นมีอยู่ 4 รูปแบบแผนภาพ แต่รูปแบบแผนภาพที่ผู้เขียนมองว่าครอบคลุมการบริหารจัดการจุลสารได้อย่างเหมาะสมที่สุดคือรูปแบบแผนภาพที่ 4 นี้

บรรณานุกรม

คัมภีร์ สุดแท้. (2553). การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.

นภัสวรรณ  ดำรงธรรม และคณะ. (2563). ประเภทและรูปแบบของกราฟิก. จากhttps://sites.google.com/site/karxxkbaebkra/prapheth-laea-rup-baeb-khxng-krafik, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2563.

ปิยะนารถ สิงห์ชู. (2563). แนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบ. จากhttps://www.gotoknow.org/posts/503317,  เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2563.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2542). พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.

ศรายุทธ ไชยวงศ์. (2563). การเขียนแผนผัง (Flowchart). จาก https://krusarayut.wordpress.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2563.

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ. (2563). หลักการสื่อความหมายกราฟิก. จาก  http://www.ideazign.com/port/graphic/content0203_03.htm, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2563. 

Bardo, J.W., & Hartman, J.J. (1982). Urban sociology : A systematic introduction. New York: F.E.Peacock.

 

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 46 views