อะไรคือบาตร : บาตรพระหรือหม้อชาบู
เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์
เรื่องที่ผู้เขียนจะนำเสนอในสาระน่ารู้ฉบับนี้เป็นเรื่องที่เกิดเป็นข้อถกเถียงกันในสังคมจากการที่ร้านหมูกระทะนำบาตรพระมาทำหม้อชาบู จนทำให้เกิดกระแสความไม่เหมาะสมเพราะเป็นเรื่องศาสนา จึงไม่ควรที่จะนำมาทำแบบนี้ แต่ก็มีบางส่วนเห็นว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เป็นการทำที่สร้างสรรค์ดี เพียงแต่ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคก็พอ
จากประเด็นที่เป็นข่าวดังกล่าว ผู้เขียนในฐานะเป็นคนพุทธจึงได้สนใจว่าการทำแบบนี้ของร้านหมูกระทะจะว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมนั้นจะมีวิธีการตัดสินด้วยเหตุผลอะไร เพราะฝั่งที่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็อ้างถึงศาสนาเป็นหลัก ส่วนฝั่งที่อ้างว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการทำที่แปลกใหม่ดี และที่สำคัญความคิดทำแบบนี้ก็ได้มาจากการไปวัดในพุทธศาสนาด้วย ดังนั้น เพื่อให้เรื่องนี้
- ฝั่งที่เห็นว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ควรทำ ผู้เขียนคิดว่าฝั่งนี้น่าจะคิดอยู่บนพื้นฐานแห่งหลักคำสอนในพุทธศาสนา สืบเนื่องจากที่บาตรนั้นถือว่าเป็นบริขารสำคัญของพระภิกษุ ซึ่งบาตรนี้ถือว่าเป็นบริหาร 1 ใน 8 (สบง จีวร สังฆาฏิ ประคดคาดเอว บาตร มีดโกน เข็ม และธมกรก) ที่พระภิกษุจะต้องมีติดตัวไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบวช จึงเป็นไปไม่ได้ที่บาตรนี้จะไม่สำคัญ ฉะนั้น การให้ความสำคัญกับบาตรนั้นจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว โดยการคิดเช่นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับบริขารของพระภิกษุอื่น ๆ เช่น จีวร สังฆาฏิ ที่ฆราวาสควรให้ความสำคัญ ไม่นำมาใช้ตามใจชอบ ถึงแม้ว่าจะหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วไปก็ตาม
- ฝั่งที่เห็นว่าเหมาะสมหรือสร้างสรรค์ดี ผู้เขียนคิดว่าฝั่งนี้น่าจะคิดว่าบาตรเป็นเพียงแค่วัสดุอุปกรณ์ที่พระภิกษุเอาไว้ใช้ตอนออกบิณฑบาตตอนเช้าในแต่ละวันเท่านั้น โดยไม่เห็นว่าจะทำให้ศาสนาหรือพระภิกษุเสียหายอะไร เมื่อนำบาตรมาทำหม้อชาบูหรือไปทำแบบอื่นก็ตาม ดังนั้น การคิดว่าไม่เหมาะสมจึงเป็นเพียงความคิดไปเอง จึงน่าจะเป็นเรื่องดีต่างหาก เพราะการนำบาตรมาทำหม้อชาบูดูเป็นแนวสร้างสรรค์ดี เป็นที่น่าสนใจ และอาจทำให้ลูกค้าสนใจสินค้าหรือร้านค้ามากขึ้น
จากการที่ได้วิเคราะห์ความคิดเห็นทั้ง 2 ฝั่งแล้ว ทำให้เห็นถึงการมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น หมายความว่าเมื่อทั้ง 2 ฝั่งคิดว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แล้วยังได้พยายามอธิบายถึงหลักการที่ใช้เป็นแนวทางตัดสินของแต่ละฝั่ง แต่สำหรับผู้เขียนเสนอว่าการไม่เหมาะสมน่าจะเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นมากกว่า เพราะบาตรถือว่าเป็นบริขารสำคัญของพระภิกษุในพุทธศาสนาตั้งแต่เข้าสู่เพศบรรพชิต ซึ่งหากบาตรไม่สำคัญขนาดนี้ พระพุทธเจ้าคงไม่มีคำสั่งให้พระภิกษุทุกรูปต้องมีไว้ติดตัวตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตแบบพระแน่นอน อีกข้อคิดเห็นประการต่อมาคือการอ้างถึงความเหมาะสมด้วยการคิดว่าการทำเช่นนี้สร้างสรรค์ดี ผู้เขียนมองว่าหากจะบอกว่าการทำเช่นนี้สร้างสรรค์ดี ก็ควรจะนำความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ไปใช้กับวัสดุอื่นเพื่อส่งเสริมการขายอาหารในร้านน่าจะดีกว่า ด้วยการออกแบบไอเดียเกี่ยวกับภาชนะอาหารสามารถที่จะคิดบนพื้นฐานวัสดุอื่นที่ยังไม่มีใครคิดสร้างก็ได้ หรือจะคิดต่อยอดจากวัสดุอื่นที่ไม่ใช่บาตรก็ได้ สรุปแล้ว การนำบาตรมาทำเป็นหม้อชาบูนี้จะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ชาวพุทธควรจะได้ใส่ใจพิจารณา ให้ความสำคัญ และอย่าได้ลืมที่จะมองว่าบาตรเป็นสัญลักษณ์เชิงศาสนาด้วย ทำนองเดียวกันกับที่สังคมพยายามส่งเสริมให้ไม่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ ให้มีความเคารพหรือซื่อตรงต่อสิ่งที่จะนำมาเป็นแบบเพื่อการประยุกต์ เพราะมิฉะนั้นแล้ว หลายสิ่งในโลกนี้ที่ทุกคนควรให้เกียรติก็จะเป็นเพียงแค่บางสิ่งที่ใครก็สามารถนำมาตอบสนองความต้องการของตนเอง แล้วอ้างถึงการสร้างสรรค์แทน
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(1 votes, average: 4.00 out of 4)Loading…