จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 69 – สาระน่ารู้ เรื่อง มารู้จัก CWIE กันเถอะ

Newsletters

มารู้จัก CWIE กันเถอะ

เรื่อง : จตุุรงค์ พยอมแย้ม

        หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า “CWIE” กันมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะไม่รู้จักหรือเข้าใจว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร จำเป็นไหมกับการศึกษาไทย วันนี้เราจะมาอธิบายง่ายๆให้เข้าใจกัน
        CWIE ย่อมาจาก Cooperative and Work Integrated Education หรือชื่อไทยว่า สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน คือ หลักสูตรการเรียนการสอนในลักษณะร่วมผลิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ (ภาครัฐ เอกชน ชุมชน)      

        อย่างที่รู้กันว่าในยุคปัจจุบันมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเพื่อให้บัณฑิตพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริงได้ทันที มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดงาน สามารถพัฒนาอาชีพในปัจจุบันและเตรียมพร้อมรองรับตำแหน่งงานในอนาคตได้นั้น สหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education: CWIE) จึงเป็นหนึ่งในกลไกการจัดการเรียนการสอนที่สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายนอก ดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในสถาบันอุดมศึกษาควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในหน่วยงานภายนอก (Work-based Learning) ในทุกรูปแบบ ที่ทำให้นักศึกษามีสมรรถนะ (ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) ทัศนคติ (Attitudes) และค่านิยม (Values) และคุณลักษณะตรงกับความต้องการของตลาดงาน และพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริง โดย CWIE เป็นคำที่ครอบคลุมถึงสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ในรูปแบบต่างๆ เช่น Sandwich Course, Practicum, Post-course Internship เป็นต้น

        โดยการจัดหลักสูตร CWIE อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน จะต้องดำเนินการตามแพลตฟอร์ม Manpower Demand Driven Education Platform for Employability and Career Development through Cooperative and Work Integrated Education (CWIE): University – Workplace Engagement ซึ่งมีกระบวนการสำคัญ 5 กระบวนการ คือ Information, Matching, Co-designing and Implementation, Assessment and development และ Outreach Activities โดยขับเคลื่อนภายใต้ความร่วมมือแบบจตุภาคี (สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และชุมชน ท้องถิ่น)

      รูปแบบของหลักสูตร CWIE ที่ใช้กันอยู่ จะมี 3 รูปแบบ ดังนี้

    1. แบบแยก (Separate) เป็นการเรียนภาคทฤษฎีที่สถาบันอุดมศึกษาจนครบตามกำหนด หลังจากนั้น จึงไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น สหกิจศึกษา เป็นต้น
    2. แบบคู่ขนาน (Parallel) เป็นการเรียนในสถาบันอุดมศึกษาสลับกับการไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดระยะเวลาการเรียนในหลักสูตรนั้นๆ
    3. แบบผสม (Mix) เป็นการเรียนภาคทฤษฎีในสถาบันอุดมศึกษาส่วนหนึ่ง และการเรียน ภาคทฤษฎีพร้อมการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอีกส่วนหนึ่ง

        ทั้งนี้ การจัดหลักสูตร CWIE ทั้ง 3 รูปแบบต้องเป็นความร่วมมือจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักศึกษา ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสถานประกอบการ
        โดยประโยชน์ที่สถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ และนักศึกษาจะได้รับจาก CWIE นั้น จะได้ประโยชน์ทุกส่วน กล่าวคือ สถาบันอุดมศึกษาจะได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดงาน โดยเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้ ความรู้สู่การปฏิบัติ การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ทำให้บัณฑิตมี สมรรถนะและคุณลักษณะที่พร้อมในการปฏิบัติงาน (Employability) รวมทั้งเกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการเพื่อร่วมกันพัฒนา หรือต่อยอดภารกิจด้านการวิจัยและบริการวิชาการ สถานประกอบการได้แรงงานที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการ นักศึกษาได้พัฒนาทักษะต่างๆ อย่างรอบด้าน ทั้งทักษะทำงวิชาชีพ (Hard skill) และทักษะในการอยู่ร่วม กับผู้อื่น (Soft skill) เป็นการเพิ่มศักยภาพ สมรรถนะ ที่พร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริง
        จะเห็นได้ว่า CWIE นั้นจะเข้ามามีส่วนทำให้ หลักสูตรที่เข้าร่วมมีระบบและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น บัณฑิตจะเป็นที่ยอมรับและต้องการจากสถานประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา:
https://www.mhesi.go.th/index.php/flagship-project/6820-CWIE.html

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 93 views