การพัฒนาหน่วยการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษา โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์ทางภูมิศาสตร์เป็นฐาน เพื่อพัฒนาการรู้เรื่องภูมิศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
เรื่อง : พัชราภรณ์ ครองชื่น1 รศ. ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์2
การรู้เรื่องภูมิศาสตร์ (Geo-literacy) บ่งชี้ถึงความสามารถของบุคคลในการทำความเข้าใจระบบธรรมชาติและมนุษย์ การให้เหตุผลทางภูมิศาสตร์ และการมองอนาคตและตัดสินใจอย่างเป็นระบบ โดยการแสดงความสามารถเหล่านี้จะต้องอาศัยความรู้ ทักษะและกระบวนการทางภูมิศาสตร์ดังนั้นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างการรู้เรื่องภูมิศาสตร์ต้องพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ และพัฒนาทักษะการคิดเชิงพื้นที่ การคิดเชิงอนาคต การคิดเชิงระบบและทักษะการแปลความหมายข้อมูลทางภูมิศาสตร์และสถิติ โดยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือในการท าความเข้าใจความรู้ทางภูมิศาสตร์และพัฒนาทักษะทางภูมิศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การรู้เรื่องภูมิศาสตร์เป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของนักเรียนที่เรียนเนื้อหาภูมิศาสตร์ในวิชาสังคมศึกษา (กนก จันทรา, มปป.)
การจัดการเรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นสามารถกระทำได้หลากหลายวิธี โดยหนึ่งในนั้นก็คือ การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์เป็นฐาน (Situation-based Learning) ซึ่งหมายถึง การใช้สถานการณ์จริงหรือจำลองที่เลียนแบบสภาพจริงในสังคมให้เหมือนจริงมากที่สุดให้นักเรียนได้เรียนรู้จาก สถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นักเรียนได้เผชิญกับปัญหาในสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ได้เรียนรู้แบบร่วมมือ ร่วมคิดร่วมทำ ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติ ได้คิดวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตนเองจนเกิดองค์ความรู้ ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้พัฒนาหน่วยการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์ทางภูมิศาสตร์เป็นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการรู้เรื่องภูมิศาสตร์แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยมีขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้ 6 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 นำเสนอสถานการณ์ที่น่าสนใจ (Introduce interesting situation)
ครูตรวจสอบความรู้เดิมของนักเรียน ด้วยการทดสอบก่อนเรียนหรือการซักถามเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า นักเรียนมีความรู้เดิมที่เพียงพอต่อการเรียนเนื้อหาใหม่ ครูแก้ไขแนวคิดที่คลาดเคลื่อนของนักเรียนที่อาจขัดขวางการเรียนรู้แนวคิดใหม่ จากนั้นครูนำเสนอสถานการณ์ที่ทันสมัยและน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทเรียนและเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้เรียน โดยใช้สื่อและ/หรือเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เช่น ภาพ คลิปวิดีทัศน์ ภาพยนตร์สั้น สารคดี ข่าว บทความ บทความงานวิจัย เป็นต้น
ขั้นที่ 2 ทำความเข้าใจสถานการณ์ (Explore the situation)
ครูแบ่งกลุ่มนักเรียน กลุ่มละ 4-6 คนแบบคละความสามารถเก่ง ปานกลาง และอ่อน จากนั้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันศึกษาค้นคว้าเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ในแง่มุมต่างๆ เช่น ความเป็นมา ขอบเขต ปัจจัย บุคคลหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ผลกระทบในภาพรวม ผลกระทบต่อชีวิตของนักเรียน แนวโน้มของสถานการณ์ เป็นต้น ครูทำหน้าที่ชี้แนะแนวทางการทำความเข้าใจสถานการณ์ให้แก่นักเรียน
ขั้นที่ 3 สร้างองค์ความรู้จากสถานการณ์ (Construct knowledge from the situation)
ครูมอบหมายภาระงานหรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้จากสถานการณ์ที่ยกขึ้นมา นักเรียนใช้ข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้ามาจากขั้นตอนก่อนหน้านี้เป็นฐานในการสร้างองค์ความรู้
ขั้นที่ 4 ประยุกต์ใช้ความรู้ (Apply knowledge)
ครูส่งเสริมให้นักเรียนประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับแง่มุมอื่น ๆ ในสถานการณ์เดิมหรือใช้ในสถานการณ์อื่น ๆ ที่มีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่ใช้ในบทเรียน กิจกรรมที่ใช้อาจเป็นการทำแบบฝึกหัด การทำโจทย์ การแก้ปัญหา เป็นต้น
ขั้นที่ 5 อภิปรายและสรุปองค์ความรู้ (Discuss and conclude knowledge)
นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้รับ แล้วร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปรายเกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้แบบสถานการณ์เป็นฐาน จากนั้นนักเรียนร่วมกันสรุปองค์ความรู้ที่ได้รับ ครูคอยตรวจสอบว่า การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้ของบทเรียนหรือไม่ อย่างไร การสรุปองค์ความรู้ของนักเรียนมีความสมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร
ขั้นที่ 6 ประเมินผลการเรียนรู้ (Evaluate learning)
ครูประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนโดยใช้วิธีการและแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น การประเมินการทำงานกลุ่ม การประเมินการนำเสนอ การซักถาม การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ การตรวจชิ้นงาน จากนั้นครูให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนเพื่อตรวจสอบพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายบุคคล
ผลจากการใช้หน่วยการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์ทางภูมิศาสตร์เป็นฐาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการรู้เรื่องภูมิศาสตร์แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ให้สูงขึ้นได้ โดยผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพกับกิจกรรมของมนุษย์ในการสร้างสรรค์วิถีการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก และเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นไปตามตัวชี้วัด ม 4-6/1 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2560 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2560)
เอกสารอ้างอิง
- กนก จันทรา. การจัดการเรียนรู้เพื่อการรู้เรื่องภูมิศาสตร์ในวิชาสังคมศึกษา. สืบค้นออนไลน์ วันที่ 27 กันยายน 2566http://academic.obec.go.th/images/mission/1524627007_d_1.pdf
- กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม(ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๐) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…