แนวคิดในปัจจุบัน
 
 

  แนวคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการในปัจจุบัน

  หน้า 3 จาก 4

คลิกเพื่อดูภาพขนาดใหญ่
          ภาพต้นไม้แห่งชีวิตของแอร์นสต์ เฮคเคล (Ernst Haeckel, พ.ศ.2377-2462)ที่เชื่อกันมาตั้งแต่อดีตว่าสิ่งมีชีวิตจำพวกสัตว์นั้นมีสายวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจากพวกโปรโตซัว สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์มีกระดูกสันหลังจนกระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และมนุษย์จะอยู่บนยอดต้นไม้แห่งชีวิต มนุษย์จึงถือเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการสูงสุด

          ภาพต้นไม้แห่งชีวิตของสตีเฟน เจ กูล แสดงสายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยใช้แต่ละกิ่งของต้นไม้แสดงสายย่อยของวิวัฒนาการ แนวนอนแทนความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและแนวตั้งแทนระยะเวลาที่ผ่านไป จากภาพให้เห็นว่าแต่ละกิ่งย่อยมีกำเนิดมาจากจุดเดียวกันแล้วจึงแตกแขนงออกไป หมายถึงสิ่งมีชีวิตแบบดั้งเดิมมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็อาจต้องไปอยู่อาศัยในถิ่นฐานที่แยกกันไปด้วยสาเหตุต่างๆ และเมื่อแยกกันนานๆก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของตนจนไม่สามารถกลับมาเป็นสายพันธุ์เดิมได้อีก เรียกว่าเกิด adaptive radiation (ดังตัวอย่างของนกฟินช์ที่มีจงอยปากต่างกันตามเกาะต่างๆของหมู่เกาะกาลาปากอส) นอกจากนี้กูลยังเห็นว่าสิ่งมีชีวิตในอดีตนั้นมีการสูญพันธุ์ไปมากมาย ดังนั้นต้นไม้แห่งชีวิตแต่ละกิ่งที่แตกแขนงไปนั้นจะต้องมีบางแขนงที่หยุดการแตกกิ่งก้านซึ่งหมายถึงการสูญพันธุ์ไปนั่นเอง ส่วนกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ยังอยู่รอดก็ยังคงมีการแตกกิ่งก้านได้ต่อไป นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตที่อยู่บนปลายยอดที่สูงกว่าก็ไม่ได้หมายความว่ามีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ากว่าสิ่งมีชีวิตอื่นแต่อย่างใด หากแต่สิ่งมีชีวิตนั้นมีสายวิวัฒนาการไปในแนวทางของตนเท่านั้นเอง เช่น มนุษย์กับลิง ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการสูงกว่าลิง แต่มนุษย์กับลิงมีสายวิวัฒนาการไปในแนวทางของตนเอง

   ท่านเห็นด้วยกับแนวคิดของกูลหรือไม่ เพราะเหตุใด ?

หน้า 1 2 3 4