จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 69 – ศึกษาปริทัศน์ เรื่อง บทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยี สารสนเทศสำหรับพัฒนาการศึกษา

Newsletters

บทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยี สารสนเทศสำหรับพัฒนาการศึกษา

เรื่อง : ดร.มนัสวี ศรีนนท์

        บทความเรื่องนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีต่อการพัฒนาการศึกษา สืบเนื่องจากที่ผ่านมา การให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้มีบทความและสำคัญจนเป็นสิ่งบ่งชี้มาตรฐานคุณภาพของการศึกษาที่จัดขึ้นแล้ว ดังนั้น หากได้มีการเขียนถึงประเด็นนี้คิดว่าน่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาวิเคราะห์และนำไปบูรณาการใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ ทั้งนี้ ในเรื่องนี้ในอดีตกาล มุมมองของผู้คนที่อยู่ในวงการศึกษาและวงการอื่น ๆ อาจมองว่าการศึกษานั้นอาจใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพียงเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมและสนับสนุนในการดำเนินการเท่านั้น เพราะเรื่องการศึกษานั้นเป็นเรื่องของการให้ความรู้สำหรับผู้มาศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ความคิดเช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วหรืออาจจะเรียกว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ว่าได้ กล่าวคือการจัดการศึกษาในขณะนี้ได้ผูกเชื่อมกับเทคโนโลยีสารสนเทศไปอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว เรียกว่าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำแห่งการศึกษานี้ได้หลอมรวมระบบการศึกษากับเทคโนโลยีสารสนเทศไปหมดแล้ว
บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานในองค์การโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ข้อมูล ข่าวสาร คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในจินตนาการอีกต่อไป ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยทำให้งานในองค์กรมีประสิทธิผลมากขึ้น ประหยัดเวลาและแรงงาน อีกทั้งสะดวกในการเก็บรักษาข้อมูล (aru.ac.th) ดังที่กิดานันท์ มลิทอง (2548) กล่าวไว้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศดังต่อไปนี้ 1. การศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้การค้นคว้าหาข้อมูลทางค้านการศึกษาง่ายขึ้นและกว้างขวางไร้ขีดจำกัด 2. การดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้มีความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วมากขึ้น 3. การดำเนินธุรกิจ จะทำให้มีการแข่งขันกันระหว่างธุรกิจมากขึ้น 4. อัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการติดต่อสื่อสารที่เจริญก้าวหน้า และทันสมัยในปัจจุบัน จึงทำให้โลกของเราเป็นโลกไร้พรมแดน 5. ระบบการทำงาน เพราะจะต้องมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น
ผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากเทคโนโลยีสารสนเทศ
        ผลกระทบด้านบวกของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีบทบาทต่อชีวิตความเป็นอยู่และสังคมมีดังนี้ 1. การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างความสะดวกสบาย 2. การเสริมสร้างความเสมอภาคในสังคมและการกระจายโอกาส 3. การเรียนการสอนในสถานศึกษา 4. รักษาสิ่งแวดล้อม 5. การป้องกันประเทศ 6. การผลิตในอุตสาหกรรมและการพาณิชยกรรม 7. การสร้างสรรค์ 8. ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย 9. ช่วยส่งเสริมความสะดวกสบายของมนุษย์ 10. ช่วยส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย 11. ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น 12. ช่วยส่งเสริมสติปัญญาของมนุษย์ 13. เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง 14. ช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน 15. มีระบบผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในฐานข้อมูลความรู้ 16. เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างโอกาสให้คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส 17. พัฒนาคุณภาพการศึกษา 19. ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการบริโภคสินค้าที่หลากหลายและมีคุณภาพดีขึ้น ส่วนผลกระทบด้านลบของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีบทบาทต่อชีวิตความเป็นอยู่และสังคมมีดังนี้ 1. ทำให้เกิดอาชญากรรม 2. ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์เสื่อมถอย 3. ทำให้เกิดความวิตกกังวล 4. ทำให้เกิดการเสี่ยงภัยทางด้านธุรกิจ 5. ทำให้มีการพัฒนาอาวุธที่มีอำนาจทำลายสูง 6. ทำให้เกิดการแพร่วัฒนธรรมและกระจายข่าวสารที่ไม่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว 7. ทำให้ข้อมูลหรือโปรแกรมถูกทำลายได้ง่าย 8. การละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล 9. เกิดช่องว่างทางสังคม 10. ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ (wordpress.com)
ดังนั้น บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศจึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือหากได้ใช้อย่างให้เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดคุณค่าแล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศย่อมเป็นสิ่งที่ดีและมีความสร้างสรรค์ ตรงกันข้าม หากใช้ไม่เป็นประโยชน์ก็ย่อมทำให้เกิดโทษขึ้นอย่างมากมายทั้งแก่ผู้ใช้เองและสังคมโดยรวมด้วย
ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ
        สำหรับเรื่องความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นได้มีนักวิชาการกล่าวไว้เป็นประการต่าง ๆ ที่เป็นที่น่าสนใจพอที่ยกมาเป็นตัวอย่างศึกษาดังนี้ ยืน ภู่วรวรรณ สมชาย นำประเสริฐชัย (2546) กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีความเป็นอยู่ของสังคมสมัยใหม่อยู่มาก เทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับโลกครั้งใหญ่ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตหรือกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมีผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างทั้งทางการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาและอื่นๆ (http://ithesisir.su.ac.th) และณัฎฐพันธ์ เขจรนันทน์ และไพบูลย์ เกียรติโกมล (2547) กล่าวถึงความสำคัญของระบบสารสนเทศที่ช่วยสร้างประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์การได้ดังนี้ 1. ช่วยให้ผู้บริหารสามารถเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ 2. ช่วยผู้ใช้ในการกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์และการวางแผนปฏิบัติการ 3. ช่วยผู้ใช้ในการตรวจสอบผลการดำเนินงาน 4. ช่วยผู้ใช้ในการศึกษาและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา 5. ช่วยให้ผู้ใช้สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น 6. ช่วยลดค่าใช้จ่าย
สรุปจากที่กล่าวมาข้างต้นได้ว่าความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ทำให้เกิดประโยชน์ที่เอื้อต่อการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่าง หมายความว่าเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ผู้ใช้รู้เท่าสถานการณ์โลกและก่อให้เกิดทักษะขึ้น เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่มีอยู่ในโลกล้วนต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ แม้กระทั่งบางสิ่งบางอย่างที่คนสมัยก่อนเชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานและเป็นส่วนสำคัญของมนุษยโลกไปแล้ว ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมโยงตนเองกับคนทั้งโลก
บทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับพัฒนาการศึกษา
        เรื่องบทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับพัฒนาการศึกษามีนักวิชาการกล่าวไว้ดังนี้ โกสันต์ เทพสิทธิทราภรณ์ (2552) กล่าวว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาททางการศึกษาอย่างมากมาย จากระบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เรียนในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว เปลี่ยนมาเป็นการเรียนโดยใช้เทคโนโลยีช่วยเสริมการเรียนรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการศึกษา ทำให้ทุกประเทศในโลกนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพิ่มพูนประสิทธิภาพประสิทธิผลทางการศึกษาทั้งในด้านการบริหารจัดการและการเรียนการสอน (aru.ac.th)
        สรุปว่าระบบสารสนเทศนั้นมีความสำคัญในการบริหารองค์กรในปัจจุบันในด้านการวางแผนการตัดสินใจและการบริหารภายในองค์กร ช่วยให้เกิดมาตรฐานในการจัดการสารสนเทศเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ และยังช่วยในงานด้านประชาสัมพันธ์ การติดต่อสื่อสาร รวมถึงการทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพึงพอใจ และเกิดประสิทธิภาพในการทำงานและพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในสังคมที่เป็นพลวัตได้ตลอดเวลา (rbru.ac.th) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการศึกษาอาจแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้ ด้านการบริหารจัดการและด้านการเรียนการสอน (wordpress.com) ดังนั้น บทบาทและความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในโลกจึงเต็มไปด้วยประโยชน์นานาประการ แม้กระทั่งเรื่องการพัฒนาการศึกษาทุกระดับชั้น ก็ได้อาศัยเทคโนโลยีเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ทั้งในระดับบุคคลและสังคมได้ด้วย
การวิเคราะห์และสรุป
        ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างกว้างขวางในทุกวงการ ก็เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำงานทุกค้าน นับตั้งแต่ทางด้านการศึกษา การพาณิชย์ธุรกิจ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ด้านสาธารณสุข ด้านการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ตลอดจนด้านการเมืองและงานการบริหารราชการ ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปช่วยให้การทำงานนั้น ๆ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สารสนเทศจึงนับได้ว่ามีประโยชน์ต่อการนำไปใช้บริหารงานด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการวางแผน สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการวางแผนเกี่ยวกับการจัดการองค์การการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ กระบวนการผลิตสินค้าการตลาด เป็นต้น ด้านการตัดสินใจสามารถนำสารสนเทศไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อเลือกแนวทางหรือทางเลือกที่มีปัญหาน้อยที่สุดในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งการที่มีสารสนเทศที่สมบูรณ์ทันสมัยและครบถ้วนจะช่วยให้การตัดสินใจถูกต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหรือแม้กระทั่งด้านการดำเนินงานสามารถนำสารสนทศไปใช้ในการดำเนินงานต่างๆเช่นใช้เพื่อควบคุมหรือติดตามผลการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์การ (cmu.ac.th) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะได้ช่วยให้ระบบและกลไกทางการศึกษาทั้งหมดสามารถขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว สะดวกสบาย และทำให้เกิดความสัมพันธ์ในระดับสากลได้

………………………………………………………………………………………

อ้างอิง
พรรณี สวนเพลง. (2552). เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมสำหรับการจัดการความรู้. กรุงเทพฯ : ซีเอ็ดยูเคชั่น.
สุขุม เฉลยทรัพย์และคณะ. (2551). เทคโนโลยีสารสนเทศ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ. www.aru.ac.th. วันที่เข้าถึงข้อมูล 21 พฤศจิกายน 2565.
มหาวิทยาลัยรามคำแหง. www.ru.ac.th. วันที่เข้าถึงข้อมูล 21 พฤศจิกายน 2565.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. www.cmu.ac.th. วันที่เข้าถึงข้อมูล 21 พฤศจิกายน 2565.
มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี. www.rbru.ac.th. วันที่เข้าถึงข้อมูล 21 พฤศจิกายน 2565.
มหาวิทยาลัยศิลปากร. http://ithesisir.su.ac.th. วันที่เข้าถึงข้อมูล 21 พฤศจิกายน 2565.
พื้นที่ครูพา. www.wordpress.com. วันที่เข้าถึงข้อมูล 21 พฤศจิกายน 2565.

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 47 views