ขอแสดงความยินดีกับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ “หุ่นฝึกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบเซนเซอร์ไร้สาย” (Wireless Sensor-based Newborn Intramuscular Injection Training Manikin)

ข่าวกิจกรรม

ขอแสดงความยินดีกับรางวัลสิ่งประดิษฐ์
ชื่อสิ่งประดิษฐ์ หุ่นฝึกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบเซนเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor-based Newborn Intramuscular Injection Training Manikin)
เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน “WorldInvent Singapore 2025 (WoSG)”
ได้รับรางวัลระดับ เหรียญทอง (Gold) https://worldinvent.com/results/
หัวหน้าโครงการ
ผศ.ดร. มนต์อมร ปรีชารัตน์
นักวิจัย/นักประดิษฐ์ในทีม
1. ดร. ชนิตา ตัณฑเจริญรัตน์
2. รศ.ดร. สมสิริ รุ่งอมรรัตน์
3. ดร. ติณณภพ แพงผม
4. นายพงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร
5. ผศ. ว่าที่ร้อยตรี ดร.เจริญชัย วงศ์วัฒน์กิจ

การบริหารยาโดยการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อเป็นกระบวนการที่สำคัญโดยเฉพาะในทารกแรกเกิด ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาที่มีความจำเป็น เช่น วิตามินเคและวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี อย่างถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย การฉีดยาในกลุ่มนี้ต้องอาศัยความรู้ด้านสรีรวิทยา เทคนิคการแทงเข็มที่ถูกต้อง และความชำนาญเฉพาะทาง เนื่องจากหากฉีดผิดตำแหน่ง ความลึก หรือองศา อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือหลอดเลือดของทารกได้

จากประสบการณ์ในการเรียนการสอนของทีมผู้พัฒนา พบว่าในสถานศึกษาส่วนใหญ่ นักศึกษาแพทย์/พยาบาลจะเรียนรู้การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อผ่านวิดีโอออนไลน์และฝึกซ้อมโดยใช้หุ่นจำลองแบบฟองน้ำ ซึ่งไม่สามารถสะท้อนตำแหน่ง ความลึก หรือองศาของการแทงเข็มได้อย่างแท้จริง ผู้เรียนจึงไม่สามารถประเมินสมรรถนะของตนเองได้อย่างแม่นยำ ทำให้ขาดความมั่นใจในการนำทักษะไปใช้จริง

แม้ในปัจจุบันจะมีหุ่นฝึกฉีดยาหลายรูปแบบที่ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ เช่น

  1. หุ่นฟองน้ำชามัวร์ (Chiannikulchai & Nunthawong, 2016)
  2. หุ่นที่ทำจากชุดชั้นในสตรี (Wongtaisong, 2017)
  3. หุ่นซิลิโคน (Micallef et al., 2020)
  4. หุ่นที่เชื่อมต่อกับไมโครคอนโทรลเลอร์และแอปมือถือ (Kasemsin & Yolai, 2020)
  5. หุ่นซิลิโคนชนิดแข็ง (Tansiri et al., 2013)
  6. หุ่นยางพารา (Masharar et al., 2019)
  7. หุ่นเจลลี่ (Saxon et al., 2014)
  8. หุ่นจากแกนทิชชู่ (Cabrera-Muffly et al., 2016)
  9. หุ่นซิลิโคนผสม EMG (Ainsworth et al., 2014)

อย่างไรก็ตาม หุ่นฝึกเหล่านี้ยังไม่ตอบโจทย์ในแง่ของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะคือ ทารกแรกเกิด และยังขาดความสามารถในการประเมินผลเชิงลึก เช่น ความถูกต้องของตำแหน่ง ความลึก และองศาการแทงเข็ม รวมถึงไม่มีระบบให้ผลสะท้อนกลับ (feedback) เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้แบบรายบุคคล

จากปัญหาดังกล่าว ทีมผู้พัฒนาจึงได้ริเริ่มการสร้าง “หุ่นฝึกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบเซนเซอร์ไร้สาย” ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่

  1. หุ่นจำลองเสมือนจริงที่ใช้เซนเซอร์ตรวจจับการแทงเข็ม และ
  2. แพลตฟอร์มดิจิทัล “Injection Everywhere” สำหรับบันทึกผล วิเคราะห์พฤติกรรม และให้ฟีดแบ็กแบบเรียลไทม์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นความถูกต้อง แม่นยำ และตรวจสอบได้ โดยหวังว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับการฝึกทักษะทางคลินิกสำหรับบุคลากรสุขภาพ และเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการแก่ทารกแรกเกิดในอนาคต

ผลงานเรื่อง “หุ่นฝึกฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อทารกแรกเกิดด้วยระบบเซนเซอร์ไร้สาย” เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาทักษะของนักศึกษาแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสุขภาพในการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความแม่นยำและความปลอดภัยสูงในการปฏิบัติงาน โดยผลงานนี้ได้บูรณาการองค์ความรู้ทางการแพทย์ วิศวกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าด้วยกัน

หุ่นฝึกมีลักษณะเสมือนจริง จำลองขนาด รูปร่าง และตำแหน่งกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้าของทารกแรกเกิดตามหลักกายวิภาค ใช้วัสดุซิลิโคนชนิดพิเศษที่ให้สัมผัสใกล้เคียงผิวหนังจริง และสามารถทนต่อการใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง ระบบภายในฝังเซนเซอร์ไร้สายที่สามารถตรวจจับพฤติกรรมการแทงเข็มได้อย่างละเอียด ทั้งในด้านตำแหน่ง ความลึก องศา และระยะเวลา พร้อมเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มออนไลน์ “Injection Everywhere” ที่พัฒนาโดยทีมผู้ประดิษฐ์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถบันทึกผลการฝึกซ้อม ติดตามพัฒนาการ และรับผลสะท้อนกลับ (feedback) แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังมีระบบสอบและออกประกาศนียบัตรดิจิทัล เพื่อประเมินสมรรถนะได้อย่างเป็นระบบ

ผลงานนี้มีจุดเด่นคือสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในกระบวนการฝึก (practice) และการประเมินผล (evaluation) จึงแตกต่างจากหุ่นฝึกทั่วไปที่มักใช้เพื่อการฝึกเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังเป็นผลงานที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะคือทารกแรกเกิด ซึ่งยังไม่ปรากฏผลงานลักษณะนี้ในตลาดปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดพัฒนาไปยังตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย หรือกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะทางอื่น ๆ ได้ในอนาคต

ด้วยคุณสมบัติข้างต้น ผลงานนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ โรงพยาบาล หน่วยงานด้านการฝึกอบรมบุคลากรสุขภาพ และเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริม “Smart Medical Education” และการเรียนรู้แบบผสมผสานในยุคดิจิทัล

Views : 1 view