จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 58 – สาระน่ารู้

Newsletters

คนแบบไหนหายากสุด

ดร.มนัสวี ศรีนนท์

       เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการต่างสถาบันหลายท่าน โดยแต่ละท่านก็จะมีคำถามมาถามหรือมีข้อคิดเห็นมาเสนอแนะกันและกัน จึงทำให้ได้ความรู้เยอะมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้เป็นช่วง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยิ่งทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ในสรรพสาขาวิชาทางออนไลน์ แต่บรรดาเรื่องที่พูดคุยกัน มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสะดุดใจ ด้วยมีคนในกลุ่มสนทนาตั้งคำถามขึ้นมาว่า ในโลกนี้ คนแบบไหนหายากสุด ปรากฏว่าแต่ละคนก็แสดงทัศนะไปต่างๆ แต่คำตอบสุดท้ายที่ดูสมเหตุสมผลที่สุดและเป็นคำตอบที่พระพุทธเจ้า ศาสดาศาสนาพุทธสอนไว้ด้วย คือ คนที่หายากสุดในโลกใบนี้ มีอยู่ 2 ประเภทหรือลักษณะ ได้แก่ คนที่ทำบุญคุณให้คนอื่นก่อน และ คนที่สำนึกและตอบแทนบุญคุณคนอื่น
        คนประเภทแรก คนที่ทำบุญคุณให้คนอื่นก่อน เป็นคนหาได้ยาก เพราะในโลกนี้ จะมีสักกี่คนที่ยินดีที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำบุญคุณให้เกิดขึ้นในคนอื่นก่อน โดยเฉพาะบุญคุณเรื่องการให้ชีวิต ดังจะเห็นพ่อแม่หรือบุพการีหลายคนที่ให้กำเนิดลูกแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ ดังนั้น การเป็นผู้ให้จึงเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากจริงๆ

        คนประเภทที่สอง คนที่สำนึกและตอบแทนบุญคุณคนอื่น เป็นคนที่หายากเหมือนกัน เพราะคนที่จะสำนึกและตอบแทนบุญคุณที่ผู้อื่นสร้างไว้กับตนอย่างเสมอต้นเสมอปลายนั้นทำได้ยากมาก ด้วยมักจะลืมบุญคุณเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากสำนวนที่ว่า พ่อแม่คนเดียวเลี้ยงลูกได้หลายคน แต่ลูกหลายคนเลี้ยงดูพ่อแม่คนเดียวไม่ได้

ยิ่งหันมาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บ้านเราแล้ว ยิ่งเห็นชัดว่า คนประเภทไหนหาได้ยาก ดังปรากฏการณ์ “ตู้ปันสุข” ที่มีแต่คนแย่งกันรับปัน แต่หาคนแบ่งปันนั้นยากเต็มที

การจัดการเรียนรู้รูปแบบ STEM

พงษ์ผไท กิจรุ่งโรจนาพร

      การเรียนรู้รูปแบบ STEM เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการระหว่าง science, technology, engineering และ mathematic ซึ่งในปัจจุบันการเรียนรู้รูปแบบ STEM ในยุโรปมีการส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากการเรียนปกติ โดยมีการเพิ่มหลักสูตร STEM จากหลักสูตรปกติถึง 20% แต่ในเอเชียมีเพียง 5% จาก 20% ของยุโรป ในการเรียนรู้ในรูปแบบ STEM จะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียน ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การคิดอย่างสร้างสรรค์ การมีวิจารณญาณ การมีความยืดหยุ่น การมีความเป็นผู้นำ การใส่ใจนวัตกรรม และการที่เราให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันยังส่งเสริมทักษะ การเต็มใจร่วมมือการทำงาน นอกจากนี้การเรียนรู้รูปแบบ STEM ยังทำให้ผู้เรียนสนุกไปกับการเรียนรู้ และการได้เรียนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่ได้เพียงแค่นั่งเรียนและท่องจำเพียงอย่างเดียว ในการจัดการเรียนรู้รูปแบบ STEM ไม่จำเป็นต้องให้ ตัวไหนเป็นหลักเสมอไป เช่น บางกิจกรรมใช้ technology เป็นตัวนำ แล้วใช้ science, engineering และ mathematic เป็นตัวเสริมให้กับการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้รูปแบบ STEM ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีราคาสูงเสมอไป กิจกรรม STEM ช่วยให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนาได้ การเรียนรู้รูปแบบ STEM จึงควรส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

แหล่งที่มา https://sites.google.com/site/21centuryskills2017/srup-neuxha

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 272 views