สงครามความเชื่อ

Newsletters Topic

      ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในสังคมไหน ไม่เว้นแม้แต่สังคมไทย หลีกหนีไม่พ้นที่จะมีสงครามหรือการต่อสู้กัน โดยในอดีตมักจะเป็นการต่อสู้กันด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่ค่อยทันสมัย อาจเป็นท่อนไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ตามที่จะหามาเป็นอาวุธได้ แต่ในสมัยปัจจุบัน อาวุธสำหรับทำสงครามนั้นจะดูทันสมัยมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากที่แต่ละสังคมแข่งขันกันผลิตอาวุธ เรียกว่าใครมีอาวุธที่ทันสมัยและน่ากลัวก่อน ย่อมได้ เปรียบสังคมอื่นๆ อยู่มิใช่น้อย ที่กล่าวเช่นนี้ จะเห็นได้จากที่สังคมโลกได้มีความพยายามที่จะปลดอาวุธที่แต่ละสังคมสั่งสมไว้เพื่อความปลอดภัยของสังคมของตัวเองและสังคมอื่นด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อเร็วๆ นี้การประชุมร่วมกัน 2 ฝ่ายของประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์ กับประธานาธิบดีประเทศเกาหลีเหนือ คิม จ็อง-อึน ก็ไม่พ้นเรื่องการปลดละวางอาวุธที่น่ากลัวว่าจะเป็นเครื่องมือในการก่อสงครามนั่นเอง
แต่ในปัจจุบัน รูปแบบของสงครามที่น่ากลัวมากกว่าสงครามที่กล่าวมาข้างต้น คือ สงครามความเชื่อ เป็นสงครามที่น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ก็ว่าได้ แต่ความรุนแรงก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สำหรับช่วงเวลานี้ผู้เขียนคิดว่า สงครามความเชื่อเป็นเรื่องรุนแรงหรือน่ากลัว จะเห็นได้จากที่หลายคนประสบชะตากรรมเกือบเอาชีวิตไม่รอดก็เพราะสงครามความเชื่อนี้เอง ถามว่า สงครามความเชื่อคืออะไร สงครามความเชื่อ คือ การสร้างเรื่องราว (Story) ให้หมู่คนในสังคมมีความเชื่ออะไรบางอย่างตามที่ผู้สร้างความเชื่อต้องการให้เชื่อและให้เป็นไปตามนั้น ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องคนในสังคมปัจจุบันจะต้องมีภูมิต้านทานให้เกิดมีขึ้นในตนเองให้ได้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว โอกาสที่ชีวิตจะล้มเหลวเพราะการที่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือเชื่อโดยไม่พินิจพิจารณาให้ดี ส่วนวิธีการสร้างความเชื่อที่ถูกต้องให้เกิดมีขึ้นในตนเองนั้นต้องทำอย่างไรนั้น เราสามารถเชื่ออะไรได้เลยหากผ่าน 3 กระบวนการนี้ก่อน ได้แก่
1. เมื่อรับรู้เรื่องราวใดๆ มาแล้ว ต้องไม่ตัดสินใจเชื่อเลย ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ ดังนั้น การรับรู้อะไรก็ตาม ผู้ที่จะเชื่อห้ามเชื่อเรื่องราวนั้นเลย
2. สร้างกระบวนการคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบให้เป็นนิสัย เรียกว่าต้องสร้างการคิดวิเคราะห์ให้มีไว้ติดตัวเป็นประจำก่อนตัดสินเชื่อเรื่องราวนั้นๆ
3. ต้องประเมินผลดีและผลเสียอย่างรอบคอบในเรื่องราวที่จะเชื่อ และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องยอมรับว่าเรื่องราวที่เราจะเชื่อนั้นจะผูกติดอยู่กับตัวตนของเราเสมอหรืออาจจะตลอดไป ถึงแม้ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม เรียกว่า หากเชื่อแล้ว จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เราก็ต้องยอมรับให้ได้ มิใช่โวยวาย โทษนั่นโทษนี่ ซึ่งมิใช่วิสัยของคนดีนัก
ท้ายที่สุดก็หวังว่าเราจะได้คนดีเข้าสภา เพื่อจะได้นำพาสังคมไทยสู่สังคมอุดมความเชื่อที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความดีงาม เป็นสังคมที่ติดอาวุธแห่งความเชื่อที่ไม่ละทิ้งปัญญานั่นเองค่ะ


เรื่อง : ดร. มนัสวี ศรีนนท์ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้

 

Views : 376 views