จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 58 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

นิว นอร์มอล ในยุคโควิด-19

รศ.ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย
รศ.ดร.นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย

  

       

        จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่า SAR-CoV-2 ทำให้เกิดมาตรฐานหรือพฤติกรรมใหม่ที่เรียกว่า นิว นอร์มอล (New Normal) หรือ “ความปกติใหม่” หรือ “ฐานวิถีชีวิตใหม่” ซึ่งหมายถึง รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีตอันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติ และเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
        จากหลักฐานทางการแพทย์เราพบว่า เชื้อไวรัสโคโรน่านี้ แพร่ระบาดจากคนสู่คนโดยกลวิธีสองวิธีคือ วิธีที่หนึ่ง การไอหรือจามทำให้สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกและน้ำลายจากผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสนี้ฟุ้งกระจายในอากาศ เกิดเป็นหยดน้ำขนาดเล็กที่เรียกว่า droplet ฟุ้งกระจายไปในอากาศระยะประมาณ 1-2 เมตร แล้วไปสัมผัสกับผู้รับเชื้อโดยตรงผ่านทางเยื่อบุทางเดินหายใจ (เช่น โพรงจมูก) เยื่อบุทางเดินอาหาร (เช่น ช่องปาก) และเยื่อบุตา ซึ่งมีท่อน้ำตาลงสู่โพรงจมูก ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจเป็นโรคปอดอักเสบ เรียกว่า โรคโควิด-19 สำหรับการแพร่เชื้อวิธีที่สอง เมื่อหยด droplet ตกลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงโรค ไปอยู่บนพื้นผิววัสดุ อุปกรณ์ ต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ จาน ชาม ช้อน ส้อม ราวบันได ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น เชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวได้หลายชั่วโมง เมื่อเราเอามือหรือนิ้วมือหรือส่วนของร่างกายอื่นไปสัมผัสกับเชื้อไวรัสตามวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ แล้วเอามือมาขยี้จมูกหรือตา เอามาเข้าช่องปาก ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น เมื่อเราทราบวิธีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้แล้ว เราจึงมีฐานวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal สำหรับประชาชนโดยทั่วไป เพื่อรักษาสุขอนามัย และเป็นการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ มีหลักการใหญ่ ๆ ประกอบด้วย
1. การป้องกันการรับ droplet ที่มีเชื้อโรคจากผู้ป่วยโดยตรง ทำได้โดย
    1.1 หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ผับ บาร์ สนามมวย เป็นต้น เพื่อลดโอกาสในการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ
    1.2 การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร
    1.3 การใส่หน้ากากอนามัย (surgical mask) หรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันการรับเชื้อและการแพร่เชื้อ
2. การป้องกันการรับเชื้อโรคที่เกาะอยู่ตามพื้นผิวของวัสดุ อุปกรณ์ ต่าง ๆ ที่มือหรือนิ้วมือของเราไปสัมผัสมา
    2.1 ฆ่าเชื้อไวรัสที่ติดมากับมือและนิ้วมือ โดยการล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำ อย่างน้อย 20 วินาที หรือถ้าอยู่นอกบ้าน ก็อาจใช้เจลแอลกอฮอล์ 70% ล้างมือ
    2.2 อย่าเอามือมาสัมผัสจมูก ช่องปาก และตา
    2.3 ใช้ช้อนกลางประจำตัว ถ้วยชามของตนเอง

นิว นอร์มอลทางการศึกษา
        เนื่องจากพวกเราส่วนใหญ่ทำงานในสถานศึกษา จึงเกิดมาตรการที่เป็นนิวนอร์มอลทางการศึกษา ทั้งครูผู้สอน สถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงผู้ปกครอง ซึ่งต้องเตรียมปรับตัว ดังนี้
    1. ฝ่ายครู-อาจารย์ จะต้องเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และเจตคติ ต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสร้างสื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการสอนแบบ offline เช่น การสร้างสไลด์ PowerPoint และอัดเสียงบรรยายในแต่ละสไลด์ โดย save เป็น PowerPoint Show (.ppsx) และสามารถ save เป็นวิดีโอแบบ mp4 ได้ พัฒนาตนเองให้สามารถใช้โปรแกรมเพื่อจัดการเรียนการสอนออนไลน์แบบไลฟ์สด เช่น Cisco WebEx, Microsoft Teams, Google Meet, Zoom, FaceBook live เป็นต้น พัฒนาวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามความเหมาะสมและความสามารถของโปรแกรมที่เลือกใช้งานข้างต้น ครูอาจารย์จะปรับตัวเองเป็นโค้ชที่คอยกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดและตั้งคำถามมากขึ้น
    2. ฝ่ายนักเรียน-นักศึกษา หรือผู้เรียน จะพัฒนาตนเองให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้เก่งขึ้น พัฒนาทักษะการอ่านหนังสือเร็ว (speed reading) ทักษะการจดบันทึก การคิดสังเคราะห์และเชื่อมโยง เนื่องจากเนื้อหาความรู้ในอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ผู้เรียนต้องเรียนรู้วิธีกลั่นกรองความรู้ที่แท้จริงแยกออกจากความรู้หรือข้อมูลขยะ กาลามสูตรจึงมีบทบาทสำคัญสำหรับการเรียนรู้
    3. กระบวนการเรียนการสอน ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้น ชั่วโมงปฏิบัติซึ่งต้องพบหน้ากันควรถูกวิเคราะห์แยกแยะเอาส่วนที่เป็นความรู้ที่เรียนแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ออกจากส่วนที่ต้องมีการปฏิบัติซึ่งหน้าจริง ๆ ออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อลดระยะเวลาในการพบปะกันลง
    4. กระบวนการวัดและประเมินผล โดยปกติมักจะเป็นการสอบซึ่งหน้า แต่ต้องปรับเป็นการสอบออนไลน์ซึ่งมีประเด็นหลายเรื่อง เช่น เสถียรภาพและความเร็วของระบบเครือข่าย การ identify ตัวบุคคลผู้นั่งสอบ การปรึกษาหารือบุคคลหรือการสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ดังนั้น อาจต้องกลับสัดส่วนคะแนนการสอบและคะแนนเก็บใหม่ เป็น คะแนนสอบออนไลน์ 10-20% ในขณะที่คะแนนเก็บ 80-90% ประกอบด้วยการเตรียมตัวก่อนเรียน (มี assignment ให้ทำก่อนเรียนและส่งงาน) พฤติกรรมการมีส่วนร่วมในขณะเรียนไลฟ์สด การส่งบทความสะท้อนคิดหลังเรียน (reflection) หรือแบบฝึกหัดหลังเรียน เป็นต้น การตัดเกรดอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป็น Satisfied กับ Unsatisfied แทนเกรด A/B/C/D/F
    5. ผู้ปกครอง มีบทบาทสำคัญในการจัดเตรียม ระบบสื่อสาร อุปกรณ์เครื่องมือในการเรียนออนไลน์ให้กับบุตรหลาน รวมไปถึงกำกับดูแลด้านการเรียน ฝึกสอน เรื่องการมีวินัย ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กผู้ปกครองอาจจะต้องนั่งเรียนด้วย หรือสอนหนังสือลูกน้อยด้วยตัวเอง หรือ Learn at home ไปพร้อมบุตรหลาน หรืออาจจะเกิดอาชีพใหม่ คือ พี่เลี้ยงช่วยสอนบุตรหลานในการเรียนออนไลน์
    6. สถานศึกษา ต้องจัดเตรียมระบบเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางไอที เช่น WiFi ที่รวดเร็ว มีเสถียรภาพและเพียงพอ จัดหาฮาร์ดแวร์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย อุปกรณ์มือถืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้เพียงพอ จัดเตรียมซอฟต์แวร์ ที่จำเป็น เช่น โปรแกรมสร้างสื่อการเรียนการสอนมัลติมีเดีย โปรแกรมตัดต่อภาพ-เสียง-วิดีโอ โปรแกรมที่ใช้จัดการเรียนการสอนหรือการประชุมออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น
        ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนได้กลายไปเป็นหลักสูตรออนไลน์เกือบเต็มรูปแบบไปโดยปริยาย คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80-90 ส่วนอีกร้อยละ 10-20 จะเป็นการเรียนการสอนแบบพบหน้ากันเพื่อฝึกฝีมือ คาดว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ หลักสูตรปริญญาอาจจะไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะทุกคนจะมุ่งเรียนเพื่อใช้งาน หลักสูตรระยะสั้นที่เป็น Just in time คือหลักสูตรที่เรียนเพื่อใช้งานเฉพาะหน้า จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ส่วนหลักสูตรแบบ Just in case ที่ต้องเรียน 4 ปี กว่าจะสำเร็จการศึกษา และใช้สมัครงานได้ ก็อาจจะไม่เป็นที่นิยมแล้ว ฉะนั้น นิว นอร์มอล คือ เนื้อหาแบบ Very short-term courses ดูคลิป 3-10 นาที ก็สามารถศึกษาทำเองได้ นอกจากนี้ พบว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะพัฒนาหลักสูตรออนไลน์มากขึ้น เป็นหลักสูตรระยะสั้นประมาณ 10-30 ชั่วโมง และมีแนวโน้มเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อรองรับความเป็นสากลมากขึ้นด้วย และยังสามารถนำไปสู่การหารายได้จากงานบริการวิชาการได้

 

การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการกับการพัฒนาสังคม

ดร.มนัสวี ศรีนนท์

            ไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหน ๆ เวลาพูดถึงความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาของบุคลากรและสถาบันการศึกษา ก็จะพากันเพ่งเล็งไปที่การที่ผลงานทางวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่หรือตีพิมพ์มากน้อยเพียงใด หากบุคลากรในสถาบันการศึกษาไม่มีผลงานทางวิชาการเลย ย่อมเท่ากับว่าสถาบันการศึกษาไม่มีผลงานที่โดดเด่นในปีนั้น ๆ และถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ สถาบันการศึกษาก็จะมีผลกระทบตามมาอีกมากมาย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้าน ผู้ปกครอง นักศึกษา ผู้ที่จะมารับบริการทางศึกษา ย่อมจะไม่มีความเชื่อมั่น จนในที่สุดสถาบันการศึกษาอาจจะปิดตัวหรือเลิกกิจการไปเลย ดังนั้น เรื่องการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของบุคลากรในสถาบันการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นเรื่องที่มิอาจมองข้ามไปได้ สำหรับการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการนี้ก็มีอยู่หลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ที่ได้มาตรฐาน เผยแพร่ผ่านวารสารที่ได้เกณฑ์มาตรฐาน หรือเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชนที่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้น การเผยแพร่ผลงานจึงเป็นเรื่องที่คนทำงานวิชาการควรให้ความสำคัญ เพราะหากมีผลงานทางวิชาการแล้วไม่นำไปเผยแพร่ผ่านสื่อที่เป็นที่ยอมรับก็ไม่แตกต่างจากการมีของดีแล้วไม่ทำให้เกิดประโยชน์นั่นเอง ฉะนั้น หากมีผลงานทางวิชาการแล้วก็ต้องนำออกเผยแพร่ให้ได้รับรู้กันและสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ด้วย ไม่ใช่เผยแพร่แล้ว เมื่ออยากจะตรวจสอบแหล่งที่มาก็ไม่สามารถตรวจหาหลักฐานได้ การที่กล่าวเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุผลว่าที่ผ่านมามีผลงานทางวิชาการจำนวนมากเป็นเรื่องที่ดี น่าสนใจ และเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่ไม่ได้นำไปเผยแพร่ในเอกสารที่เป็นที่ยอมรับ จึงไม่อาจนำไปใช้ประโยชน์ในทางวิชาการได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หากผู้เป็นเจ้าของผลงานจะนำผลงานไปขอตำแหน่งทางวิชาการหรือนำผลงานไปใช้เพื่อปรับตำแหน่งก็ทำได้ยาก หากไม่มีการเผยแพร่ผลงาน หรือมีการเผยแพร่ผลงาน ในเอกสารที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน จะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาทีหลังอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่นักวิชาการควรให้ความสำคัญ
        อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดและเกิดขึ้นอยู่เสมอ คือ การพัฒนาผลงานทางวิชาการสู่การเป็นนวัตกรรมยังมีกันไม่มากนักหรือมีจำนวนน้อยอยู่นั่นเอง ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของการทำผลงานทางวิชาการจึงอยู่ที่การทำอย่างไรที่จะให้ผลงานวิชาการเข้าขั้นเป็นสิ่งใหม่หรือเป็นนวัตกรรมให้ได้ เพราะเมื่อผลงานวิชาการเป็นนวัตกรรมได้แล้ว สังคมโดยรวมหรือมุนษยชาติก็ย่อมจะได้ประโยชน์ด้วย ผลงานทางวิชาการที่เกิดขึ้นจึงไม่ควรเป็นผลงานวิชาการขึ้นหิ้ง แต่ควรเป็นผลงานทางวิชาการขึ้นห้างหรือเป็นผลงานที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับนักวิชาการและสถาบันการศึกษาได้ ส่วนประเด็นเรื่องผลงานของนักวิชาการที่ยังไม่สามารถเป็นเครื่องมือพัฒนาสังคมได้ตามวัตถุประสงค์นั้น อาจเป็นเพราะบทสรุปหรือคำตอบของนักวิชาการยังไม่สัมพันธ์กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมในเวลานั้นก็ได้ สรุปแล้ว เรื่องการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่ทำกันอยู่ก็ควรได้มีการพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมพัฒนาสังคมให้ได้ เพราะเมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว นักวิชาการผู้สร้างผลงานดังกล่าวก็จะได้สมญานามว่าเป็นผู้รับใช้สังคมได้อย่างชัดเจน
        จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนมองว่าการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่นักวิชาการทำกันเป็นวัฒนธรรมอยู่นี้ หากจะให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย นักวิชาการและสังคมโดยรวมควรมองไปที่แนวทางหรือรูปแบบผลงานทางวิชาการและนักวิชาการที่รับใช้สังคมเป็นหลัก เพราะเมื่อนักวิชาการสร้างผลงานที่ดีขึ้นมาได้ สังคมก็จะดีได้เพราะผลงานนั้นด้วย ดังนั้น เมื่อสังคมได้นักวิชาการดีและผลงานดี การลงทุนเพื่อสร้างผลงานที่ดีขึ้นกว่าเดิมย่อมเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 1,431 views