จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 58 – ประสบการณ์ต่างแดน

Newsletters

ประสบการณ์การเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งแรก

อภิชาติ พงษ์ศศิธร

        กระผม นายอภิชาติ พงษ์ศศิธร นักศึกษาระดับปริญญาโท กำลังศึกษาอยู่ที่หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา นานาชาติ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันมีเงื่อนไขในการที่นักศึกษาจะจบการศึกษา คือ นักศึกษาจะต้องนำเสนอผลงานแบบปากเปล่าในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ สิ่งนี้ได้ผลักดันในข้าพเจ้าค้นหางานประชุมฯ ที่มีคุณภาพตรงตามเกณฑ์ของบัณฑิตวิทยาลัย ด้วยความร่วมมือระหว่างเพื่อน ๆ และอาจารย์ที่ปรึกษา จึงได้ค้นพบงานประชุมที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลนานาประการ จนสุดท้ายมีงานประชุมที่ผ่านเกณฑ์มา คือ งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Symposium on Educational and Psychology 2019 ซึ่งจัด ณ ศูนย์การประชุมฟุกุโอกะ จังหวัด ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 1 ถึง 3 เมษายน พ.ศ.2562
        อย่างไรก็ตามเส้นทางของการนำเสนอผลงานก็ไม่ได้ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบเนื่องจากวันที่ทางบัณฑิตมหาวิทยาลัยอนุมัติให้กระผมเข้าร่วมงานประชุมนี้ ก็ได้ล่วงเลยเวลามาจนใกล้วันสิ้นสุดรับการสมัคร กระผมได้พยายามร่างต้นฉบับเพื่อส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบของงานประชุมให้ทันเวลา สำหรับกระบวนการตรวจสอบจะใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ซึ่งกระผมได้ทำการติดต่อกับเลขานุการของงานประชุมฯ อยู่หลายครั้ง แต่เนื่องจากมีความผิดพลาดในการสื่อสารทำให้เลขานุการฯ ส่งจดหมายตอบรับการประชุมไปผิดอีเมล ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับเอกสารกับทางมหาวิทยาลัย
        การเตรียมตัวไปงานประชุมฯ กระผมจะต้องเตรียมสไลด์สำหรับการนำเสนอ แต่ผมก็ได้ดำเนินการจนเสร็จสมบูรณ์ในเวลาไม่ช้า ต้องขอบคุณความร่วมมือกันระหว่างเพื่อน ๆ ที่จะไปเข้าร่วมงานเดียวกัน และอาจารย์ที่ปรึกษาที่เสียสละเวลามาช่วยกระผมในครั้งนี้
        ในงานประชุมที่ซึ่งถูกจัดที่ศูนย์การประชุมฟุกุโอกะ ผมและเพื่อน ๆ ได้เดินทางไปโดยรถไฟหลายสายในจังหวัดฟุกุโอกะ ซึ่งมีความสะดวกสบายอย่างมาก ผู้เข้าร่วมงานประชุมจะพบได้ว่าส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวัน ส่วนชาวตะวันตกจะมีจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนห้องประชุมถูกแบ่งออกเป็นห้องประชุมย่อย ๆ ซึ่งแบ่งออกตามลักษณะของงานวิชาการ ในแต่ละห้องมีผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน กระผมได้เป็นผู้นำเสนอผลงานคนแรกของวันนั้น ด้วยความตื่นเต้นจึงได้นำเสนอไปประมาณ 20 นาที ระหว่างการนำเสนอ ผู้เข้าร่วมได้ฟังอย่างตั้งใจ และได้สอบถามข้อสงสัย และข้อแนะนำต่าง ๆ หลังจากการนำเสนอจบ ซึ่งทำให้ผมได้รับความรู้ และแนวคิดที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมหลาย ๆ ท่าน เพื่อนำมาปรับและศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยในอนาคต
        สุดท้ายนี้ ผมได้รับรางวัล ผลงานวิชาการดีเด่น จากผู้จัดงานประชุม แต่รางวัลใด ๆ ก็ไม่เท่ากับการที่ผมและเพื่อน ๆ ได้รับประสบการณ์นำเสนอผลงานวิชาการ ณ ต่างประเทศ และรวมถึงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ด้วยความเสียสละกำลังกาย และใจของผู้สนับสนุนผมหลาย ๆ ท่าน โดยเฉพาะ ดร.อาทร นกแก้ว ที่ปรึกษาหลัก ดร.ปรเมศวร์ เหล่าสินชัย ที่ปรึกษาร่วม เพื่อน ๆ และสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ และบัณฑิตมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนทางด้านการเงินในการเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 84 views