การพัฒนาการโต้แย้งของผู้เรียนด้วยหน่วยการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน เรื่อง งานและพลังงาน
การโต้แย้ง (Argumentation) เป็นส่วนหนึ่งของทักษะการสื่อสารอันเป็นทักษะสำคัญในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล เมื่อดำเนินการโต้แย้งผู้เสนอข้อโต้แย้งจำเป็นต้องมีข้อสันนิษฐานที่มีเหตุผลมาสนับสนุนเพื่อชักจูงโน้มน้าวให้ผู้อื่นคล้อยตามในข้อโต้แย้งของตนเอง ดังนั้นในการโต้แย้งผู้เสนอข้อโต้แย้งต้องมีข้อมูลที่เหมาะสมและน่าเชื่อถือเพื่อให้การโต้แย้งดำเนินต่อไปได้ การยอมรับหรือปฏิเสธการอภิปรายโต้แย้งนั้นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากกว่าความจริงที่ตนเองยึดถืออยู่ (Walton, 2008)
ทักษะโต้แย้งเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรพัฒนาให้เกิดขึ้นในผู้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เมื่อผู้เรียนได้รับการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมทักษะการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะได้รับประโยชน์หลายประการ อาทิ ทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ (Lin and Mintzes, 2010) ทักษะการโต้แย้งจะทำให้ผู้เรียนวิทยาศาสตร์ได้ใช้ทักษะในการคิดที่หลากหลาย มองปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในหลากหลายมุมมอง ใช้ความสามารถในการสืบเสาะหาข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สามารถตรวจสอบได้ สามารถประเมินค่าความน่าเชื่อถือของข้อมูลหลักฐาน จนผู้เรียนสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง (Driver et al., 2000) ตลอดจนนำข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์นั้น ๆ ไปนำเสนอให้ผู้อื่นเชื่อในข้อโต้แย้งของตนเองได้ นอกจากนั้นยังสามารถนำประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น เรื่องใกล้ตัวผู้เรียน เรื่องในชุมชน และ/หรือเป็นประเด็นทางสังคมที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเชิงวิทยาศาสตร์ได้ เพื่อสร้างความสนใจให้กับผู้เรียน และพัฒนาความสามารถในการโต้แย้งให้อยู่ในระดับสูง (พัฒนวงศ์ ดอกไม้, 2555)
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้พัฒนาหน่วยการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน เรื่อง งานและพลังงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเสริมทักษะการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยโครงสร้างของหน่วยการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน เรื่อง งานและพลังงาน มีดังนี้
แผน การจัดการเรียนรู้ | กิจกรรมแบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน | ชั่วโมง |
1 | ขั้นระบุประเด็นทางสังคม (Identification of the social issue stage) · ซักถามเกี่ยวกับความปลอดภัยในสนามเด็กเล่น · วีดิทัศน์ เรื่อง Silent disasters from the playground (https://www.youtube.com/watch?v=55x4l-xZ9X8) เรื่อง Challenging the death swing (https://www.tvpoolonline.com/content /226004) และเรื่อง The most dangerous slippery boards (https://www.youtube.com/watch?v=ZSjG6V9yKJo) ขั้นระบุแนวทางการแก้ปัญหา (Identification of potential solutions stage) · ระดมสมองเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาในกลุ่ม จากนั้นนำเสนอในห้องเรียน · ระบุความรู้ที่ต้องการเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา | 1 |
2-4 | ขั้นหาความรู้ (Need for knowledge stage) · ทำการทดลอง เรื่อง พลังงานศักย์และพลังงานจลน์ · ทำงานเป็นกลุ่มเพื่อออกแบบสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นที่ปลอดภัย | 3 |
5 | ขั้นตัดสินใจ (Decision making stage) · ระบุทางเลือกที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาเพื่อตัดสินใจ · ระดมสมองเพื่อออกแบบและพัฒนาเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่สนุกและปลอดภัย · ฝึกการโต้แย้งโดยการพิจารณาว่า จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้อื่น | 2 |
6 | ขั้นสังคม (Socialization stage) · นำเสนอหน้าชั้นเรียนเกี่ยวกับเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่สนุกและปลอดภัย · ประเมินเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่ผู้อื่นนำเสนอ ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อเครื่องเล่นที่นำเสนอนั้นๆ · แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มที่ซื้อและไม่ซื้อ แล้วให้โต้แย้งเหตุผลระหว่างกลุ่ม | 1 |
ผลจากการใช้หน่วยการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน เรื่อง งานและพลังงาน พบว่า สามารถพัฒนาทักษะการโต้แย้งของผู้เรียนให้สูงขึ้นได้ โดยผู้เรียนสามารถสร้างการโต้แย้งที่มีคุณภาพในระดับสูงขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้องค์ประกอบการโต้แย้งที่ผู้เรียนทำได้ดีขึ้น คือ หลักฐาน (Warrants) คำชขยาย (Qualifiers) และข้อสนับสนุน (Backing) ที่สามารถพัฒนาได้อย่างดียิ่งในขั้นของการจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน คือ ขั้นการตัดสินใจ (Decision Making stage) และขั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Socialization stage) นอกจากนั้นผู้เรียนยังสามารถประยุกต์ความเข้าใจในการใช้หลักฐานข้อค้นพบจากการวิจัยนี้สามารถนำไปสู่การออกแบบโปรแกรมพัฒนาวิชาชีพครูเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐานและการประยุกต์การจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐานในการพัฒนาทักษะการโต้แย้งของผู้เรียนได้
เอกสารอ้างอิง
พัฒนวงศ์ ดอกไม้. 2555. การเปรียบเทียบผลการเรียนประเด็นปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์โดยใช้รูปแบบการเรียนผสมผสานกับรูปแบบการเรียนปกติที่มีต่อความสามารถในการโต้แย้งและการคิดเชิงเหตุผลของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปี ที่ 5 ที่มีผลการเรียนฟิสิกส์แตกต่างกัน. ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
Driver, R., P. Newton., and J. Osborne. 2000. “Establishing the norms of scientific argumentation in classrooms.” Science Education 84(3): 287–312.
Lin, S.S., and J.J. Mintzes. 2010. “Learning argumentation skills through instruction in sociosciencetific issue : the effect of ability level.” International Journal of Science and Mathematics Education 8(6): 993-1018.
Walton D. 2008. Informal logic: A pragmatic approach. 2nd ed. Cambridge University Press
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…