จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 61 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

สังคมผู้สูงวัยกับทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ดร. มนัสวี ศรีนนท์
ดร. มนัสวี ศรีนนท์

         มีข้อคำถามอยู่หลายประการเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของคนไทยในปัจจุบัน เพราะดูเหมือนว่าสภาพการณ์การเป็นสังคมผู้สูงวัยของไทยนั้นจะย้อนแย้งกับความต้องการที่จะพึ่งพาอาศัยการมีทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาสังคมได้เหมือนกัน การที่กล่าวเช่นนี้นั้น สืบเนื่องจากเวลาที่คนในสังคมโดยส่วนใหญ่พูดถึงหรือจินตนาการเกี่ยวกับคนและเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว หลายคนก็จะนึกถึงวัยรุ่นหรือเด็กๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ที่จะเหมาะสมกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และก็จะมีส่วนน้อยที่จะมีความคิดเห็นหรือนึกถึงคนสูงวัยกับการมีทักษะในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น ปรากฏการณ์ทางสังคมไทยที่ย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยกับความต้องการให้เกิดมีทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นน่าจะสวนทางกันเสียจนต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดภาพบวกหรือภาพลบในเชิงจินตนาการจากปัจจุบันสู่อนาคตเป็นอย่างไรกันแน่
        เป็นเรื่องที่แน่นอนทีเดียว การที่สังคมใดสังคมหนึ่งจะย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยนั้นเท่ากับเป็นการยอมรับเป็นกลายๆ ว่าสังคมนั้นจะมีคนเกิดน้อยลงและมีคนอายุยืนมากขึ้นกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถามว่าสภาพเช่นนี้ของสังคมถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยหรือไม่ ตอบได้เลยว่าเป็นเรื่องธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามองในแง่ธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง แต่ถ้ามองในแง่การบริหารจัดการสังคมแล้ว ย่อมอาจตั้งคำถามได้ว่ากระบวนการการพัฒนาสังคมนั้นควรที่จะต้องนำกลับมาทบทวนอีกครั้ง เพราะหากสังคมไม่สวนกลับแนวคิดการพัฒนาสังคมแบบนี้แล้ว สังคมก็จะเป็นสภาพนี้ไปเรื่อยๆ จนในที่สุด สังคมโดยรวมก็จะเต็มไปด้วยผู้สูงวัย และสังคมแบบนี้ก็จะยากที่จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกนัยหนึ่ง การเป็นสังคมผู้สูงวัยเช่นนี้ ย่อมอาจทำให้การพัฒนาสังคมเกิดความเชื่องช้าได้เหมือนกัน เพราะธรรมชาติของผู้สูงวัยนี้มักจะทำอะไรๆ ไม่ค่อยรวดเร็วหรือช้าลง ดังนั้น เมื่อสังคมโดยรวมต้องการอะไรใหม่และมากในเชิงปริมาณย่อมมิอาจเป็นไปได้อย่างชัดเจน เพราะคนในสังคมเป็นคนสูงวัยนั่นเอง
        ส่วนเรื่องความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในยุคนี้ เพราะในยุคนี้หรือยุคต่อไป การติดต่อประสานงานหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนในสังคม การทำงาน และกิจกรรมต่างๆ ก็จะต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือนำทางเกือบจะทุกเรื่องแน่นอน ดังนั้น หากต้องการที่จะพัฒนาคนหรือสังคม ก็จะต้องทำให้คนและสังคมมีอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศให้สมบูรณ์ พร้อมทั้งต้องพัฒนาคนในสังคมให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันให้มากขึ้น ดังเช่นการประเมินเพื่อจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหรือต่างประเทศในระยะหลัง ก็เน้นการตรวจประเมินสิ่งที่ปรากฏในสื่อออนไลน์หรือประเมินออนไลน์กันเป็นหลักแล้ว หรือแม้แต่การจัดการเรียนการสอนในสมัยนี้ ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ก็เน้นการไปในโลกออนไลน์กันเป็นส่วนมากแล้ว จึงทำให้เกิดการคาดคะเนอนาคตการณ์ได้ว่า หากคน องค์กร หรือสังคมใดก็แล้วแต่มีทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน้อยหรือไม่มีเลย ก็จะทำให้หลุดกรอบจากสังคมโลกได้อย่างมิต้องสงสัย เรียกง่ายๆ ได้ว่าจะกลายเป็นคนตกยุคนั่นเอง
        สรุปแล้ว เมื่อภาพแห่งสังคมไทยตั้งแต่นี้ต่อไปจะเป็นภาพแห่งสังคมผู้สูงวัยหรือปัจฉิมวัย ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตคนที่เริ่มต้นด้วยปฐมวัยและปิดท้ายด้วยปัจฉิมวัย ดังนั้น เมื่อสังคมไทยเป็นสังคมปัจฉิมวัยหรือวัยปั้นปลายชีวิตแล้ว ก็ย่อมที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าคนในสังคมย่อมจะมีกำลังวังชาที่ถดถอยมากกว่าที่จะคิด ทำ พูดได้รวดเร็วและแม่นยำ ทั้งนี้ การที่ผู้เขียนพูดเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการพูดในเชิงลบต่อผู้สูงวัย แต่เป็นการพูดที่สะท้อนจากความเป็นจริงของชีวิตเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงของชีวิตแล้ว แม้กระทั่งตัวผู้เขียนเองก็ไม่อาจจะหลบหลีกหนีจากความแก่หรือความเป็นผู้สูงวัยได้ ดังนั้น ในที่นี้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อสังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้ว จะมีวิธีการทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยเกิดทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเป็นปกติและนำไปพัฒนาสังคมโดยรวมได้อีกต่อไป ส่วนทัศนะของผู้เขียนในเรื่องนี้มีแนวทางที่อยากนำเสนอเป็นองค์ความรู้ใหม่ดังต่อไปนี้
        1. ส่วนของระบบและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ควรเป็นระบบและเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ได้สะดวกสบาย ไม่สลับซับซ้อน สามารถที่จะเข้าถึงฐานข้อมูลหรือตอบโจทย์ได้ง่ายที่สุด รวมทั้งมีความเสี่ยงไม่สูง ด้วยคนผู้สูงวัยส่วนใหญ่นั้นมักไม่ชอบอะไรๆ ที่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงนั่นเอง ดังนั้น ระบบและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศจะต้องเอื้อให้เกิดความสนใจต่อการเข้าไปใช้ด้วย
        2. การสื่อสารเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ก็ควรทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ยังเป็นเรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องที่คนผู้สูงวัยในขณะนี้ไม่ค่อยให้ความสำคัญมาก่อน ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสื่อสารในเรื่องนี้ให้ผู้สูงวัยมีทัศนคติเชิงบวกให้ได้
        3. การให้พื้นที่ทางสังคมกับผู้สูงวัยให้มากขึ้น สำหรับประเด็นนี้จะเห็นได้จากที่ทางภาครัฐบาลได้ดำเนินการมาเมื่อเร็วๆ นี้ คือ การขยายอายุการเกษียณงานราชการให้มากขึ้น จากปกติเกษียณราชการเมื่ออายุ 60 ปี มาเป็นเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี ซึ่งลักษณะเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินการที่สะท้อนไปหาการยอมรับว่าสังคมผู้สูงวัยก็ต้องให้โอกาสผู้สูงวัยได้ทำงานต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นย่อมดีกว่าปล่อยให้ผู้สูงวัยทั้งหลายไปนั่งเลี้ยงลูกหลานอยู่ที่บ้านเฉยๆ แต่สิ่งที่ควรจะทำต่อไปเพิ่มเติมคือการสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับผู้สูงวัยที่จะทำงานต่อไปตามการขยายอายุให้ได้ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้แล้ว การขยายอายุการเกษียณราชการออกไปก็อาจจะแก้ไม่ถูกจุด ด้วยหากมองในมุมกลับกันแล้ว การขยายอายุการเกษียณให้กับข้าราชการก็เท่ากับเป็นการปิดทางการเข้าสู่อาชีพข้าราชการของคนอีกรุ่นด้วย ดังนั้น ในประเด็นที่ 3 นี้ สังคมหรือผู้นำประเทศจะต้องบริหารจัดการร่วมกับอีก 2 ประเด็นข้างต้นดังกล่าวด้วย จึงจะทำให้คนผู้สูงวัยในสังคมสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสมและมีอนาคต

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 47 views