จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 62 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

เด็กและเยาวชนกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

ดร. มนัสวี ศรีนนท์
ดร. มนัสวี ศรีนนท์

         เรื่องนี้ ผู้เขียนอยากจะเสนอให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนชวนกันขบคิดกันให้มาก เพราะเท่าที่ดูสถานการณ์สังคมทางการศึกษาทั่วโลกและไทยตอนนี้ เป็นช่วงแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกอย่างจึงต้องอยู่ในที่ตั้งเป็นพื้นฐาน แม้แต่เรื่องการจัดการศึกษาก็ต้องเรียนอยู่ที่บ้านหรือที่พักเท่านั้น ดังนั้น หลายอย่างที่คุ้นเคยในอดีตหรือเคยทำผ่านมาแล้ว ย่อมใช้ไม่ได้ในช่วงเวลานี้และอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้ แต่ก็น่าสนใจในปรากฏการณ์นี้ คือ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งได้มีผลงานวิชาการหลายชิ้นนำเสนอถึง ผลการเรียนแบบออนไลน์ของเด็กและเยาวชน ว่าเกิดผลที่ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควรหรือจะเรียกว่า ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ได้ จึงได้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมการจัดการศึกษา แบบออนไลน์ของเด็กและเยาวชนไทยจึงไม่ตอบโจทย์ และเป็นไปได้ไหมว่า ทรัพยากรทางการศึกษาไทยหลายอย่างยังไม่เอื้อต่อการสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบออนไลน์เท่าที่ควร ทั้งเรื่องเอกสารทางการศึกษา ครูผู้สอน ตลอดจนอินเทอร์เน็ต ที่จะเป็นสิ่งช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความน่าสนใจหรือเกิดความ ท้าทายให้กับผู้เรียนได้ แต่กลับกลายเป็นปัญหาหรืออุปสรรคไปนั่นเอง

        เพื่อให้ได้คำตอบต่อเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเด็กและเยาวชนในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เช่น จะไม่เป็นประโยชน์ หรือจะเกิดประโยชน์จนต้องเดินหน้าต่อไปในระบบการศึกษาแบบออนไลน์แบบนี้ เพราะเด็กและเยาวชนเกิดทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเข้าสู่ข้อมูลทางการศึกษาได้มากกว่าเดิมอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้ ดังนั้น จึงขอวิเคราะห์ถึงการมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ต่อการศึกษาสำหรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเด็กและเยาวชน ดังนี้
        1. หากมองว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจะทำให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนมากกว่าแน่นอน การมองเช่นนี้อาจถือว่าเป็นการมองในเชิงบวกก็ได้ เพราะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงข้อมูลทางการศึกษาได้ง่ายขึ้น อนึ่ง การมองว่าวิถีการเรียนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือนั้นเหมาะสมกับรูปแบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพราะเด็กและเยาวชนในยุคนี้เจริญเติบโตมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศนั่นเอง ดังนั้น หากจะส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลักหรือเป็นพื้นฐานแล้ว ก็ไม่น่าแปลกประหลาดอะไร เพราะทักษะด้านนี้ของเด็ก ได้รับการฝึกฝนจนคุ้นเคย และที่สำคัญอย่างยิ่ง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนย่อมทำให้เด็กสนุกสนานกับสิ่งที่เรียนมากกว่า ด้วยอุปกรณ์ทางการศึกษาที่เหมาะสมกับคุณลักษณะของเด็กและเยาวชน สรุปแล้ว การเรียนการสอนเด็กและเยาวชนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศในมุมมองแบบแรก เข้าใจว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็นเครื่องมือทางการศึกษาจนก่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนในยุคนี้มากกว่า ส่วนปัญหาอื่นที่จะเกิดขึ้นตามมา หากผู้จัดการศึกษาได้บริหารจัดการให้ดีแล้วย่อมจะผ่านพ้นไปได้ คงมีเพียงปัญหาบางประการที่จะต้องให้ความสำคัญไปในขณะเดียวกัน เช่น ปัญหาการขาดความอดทนในการเรียนหรือปัญหาการเอาใจใส่ในเนื้อหาและการติดตามการเรียนอย่างสม่ำเสมอ ที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขในผู้เรียนให้ได้เท่านั้น
        2. การมองประการที่สองนี้เป็นการมองที่ตรงกันข้ามกับทัศนะแรก เพราะการมองในลักษณะต่อไปนี้อาจจะเป็นการมองที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยกลุ่มที่มีแนวคิดแบบนี้ มองว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลักในการจัดการศึกษาแบบออนไลน์แก่เด็กและเยาวชนในขณะนี้ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือช่วงขณะที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเท่านั้น ดังนั้น ต่อไปถ้าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ควรที่จะนำเด็กและเยาวชนเข้าสู่ห้องเรียนตามเดิมได้ และไม่ควรที่จะปล่อยให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์เช่นนี้เป็นเรื่องปกติต่อไป เพราะการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ เมื่อเด็กและเยาวชนเรียนอยู่ที่บ้าน ก็เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย ทั้งในเรื่องเด็กและเยาวชนไม่มีสมาธิกับสิ่งที่เรียนได้ครบชั่วโมงเรียน หรือบางทีเด็กและเยาวชนก็ไม่สนใจในการเรียนเลย ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาในการเรียนของเด็กและเยาวชนแบบนี้ขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องคอยกำกับดูแลตลอด ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กสมัยนี้แทบจะออกไปทำงานนอกบ้านเป็นหลักหรือเมื่อทำงานแบบออนไลน์ ก็ไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกอยู่เช่นเดิม แตกต่างจากสมัยก่อนที่เด็กและเยาวชนเมื่อออกไปเรียนที่สถานศึกษา ก็ได้ครูผู้สอนช่วยแนะนำวิชาการและปกป้องดูแล สรุปแล้ว ในแนวคิดแบบที่สองนี้ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ควรที่จะให้เด็กและเยาวชนเข้าห้องเรียนตามปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้การเรียนแบบออนไลน์อีกต่อไป ถึงแม้จะอ้างว่าเพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นก็ตาม แต่การมาเรียนในห้องเรียนก็สามารถที่จะต่อยอดทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ไม่แตกต่างกัน

         จากที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์หรือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนมากกว่ากันนี้ คงต้องใช้เวลาในการประเมินผลข้างเคียงอีกสักระยะหนึ่ง ลำพังเพียงผลการวิจัยหรือผลงานวิชาการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ก็อาจจะมีข้อโต้แย้งได้อีกเหมือนกัน ดังนั้น ในเรื่องนี้ จึงไม่อาจสรุปจบลงได้อย่างง่าย ๆ คือ ถึงแม้เด็กและเยาวชนยุคนี้จะเกิดมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศก็ตาม แต่เมื่อวินิจฉัยถึงภูมิต้านทานที่เด็กและเยาวชนมีต่อการสื่อสารที่ส่งผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ก็อาจตั้งเป็นข้อคำถามได้ว่าเด็กและเยาวชนมีภูมิต้านทานมากน้อยขนาดไหน และสามารถรู้เท่าทันอันตรายที่จะมากับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้หรือไม่ เชื่อได้เลยว่าเด็กและเยาวชนโดยส่วนใหญ่น่าจะยังไม่พร้อมเท่าที่ควร การที่กล่าวเช่นนี้ จะเห็นได้จากเหตุการณ์ก่อนที่จะมีไวรัสโควิด-19 ระบาด ก็แทบไม่เห็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาที่จะเน้นการเรียนการสอนแบบออนไลน์กันเลย ส่วนที่มาเรียนออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์กันนี้ เข้าใจว่าเกิดจากสถานการณ์บีบบังคับมากกว่า ดังนั้น การที่จะด่วนสรุปว่าการเรียนแบบออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนี้ดีหรือเหมาะสมอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชนแล้ว ก็อาจจะเป็นหายนะทางการศึกษาได้ โดยอาจจะเป็นการสร้างเด็กและเยาวชนพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่แปลกประหลาดไปเลยก็ได้

        ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนจึงขอฝากให้ทุกคนร่วมกันพิจารณาเป็นพิเศษว่าหลังจากยุคโควิด-19 นี้ จะบริหารจัดการการศึกษาแบบใดจึงจะเหมาะกับเด็กและเยาวชนนั้นน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะตอนนี้การเรียนแบบออนไลน์ได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนของเด็กและเยาวชนไปแล้ว ซึ่งหากจะหวนกลับมาเรียนแบบเดิม เด็กและเยาวชนจะมองทรัพยากรทางศึกษาที่ตนเองเคยชินเป็นแบบไหนกันแน่ เช่น ยังมองโรงเรียน ห้องเรียน ห้องสมุด และครูผู้สอนเหมือนก่อนที่จะมีการเรียนแบบออนไลน์หรือไม่ ถ้ายังคงมองเหมือนเดิมก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่ได้มองเหมือนเดิม คงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการศึกษาที่จะต้องปรับปรุงสิ่งที่จะส่งมอบให้กับนักเรียนหลังยุคโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ใหม่ในตัวนักเรียนให้ได้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การกลับเข้ามาเรียนในห้องเรียนเหมือนเดิมก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรกับนักเรียน กล่าวคือ อาจจะเป็นประโยชน์ได้บ้างกับทรัพยากรบุคคลบางส่วนในสถานศึกษาที่ยังล้าหลังหรือปรับตัวเข้ากับการเรียนการสอนแบบออนไลน์หรือแบบใหม่ไม่ได้เท่านั้น

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 250 views