จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 62 – ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา

Newsletters

การจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐานของครูผู้สอนและผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน

 
รศ.ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์
จิรัฐิติกาล พิมพ์วิชัย

    แนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม (Science, Technology, and Society; STS) เป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้นักเรียนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้ตรวจสอบประเด็นหรือปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และ/หรือเทคโนโลยี และได้นำความรู้ หลักการ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง กับโรงเรียน กับชุมชน และกับโลก (Chiappetta & Koballa, 2010) การนำแนวคิดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนานักเรียนในหลายด้าน ได้แก่ การเรียนรู้และตระหนักถึงธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ขอบเขตของอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การสนใจใฝ่รู้ธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น การรู้จริงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการใช้แนวคิดและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในสถานการณ์ใหม่ ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (Dass, 2005)

ภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม

ที่มา: Pimvichai, J. & Buaraphan, K*. (2019). A case study of helping in-service science teacher to teach with the science-technology-society approach and its influence on students’ scientific argumentation. International Journal of Education and Practice, 7(4), 391-403.

        การจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐานเริ่มต้นได้จาการใช้ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Socio-scientific issue) ที่ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคม เช่น ภาวะโลกร้อน การใช้ถุงพลาสติก การใช้ยาฆ่าแมลง ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในตัวเนื้อหาวิทยาศาสตร์และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อหาคำตอบหรือทางออกที่เป็นไปได้ของประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงดังกล่าว ซึ่งกิจกรรมแบบนี้สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทักษะการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ (Scientific argumentation) ได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 2 ประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้จัดการเรียนรู้ แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/336084

        ผู้วิจัยงานวิจัยได้ศึกษาผลของการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ ของครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ประจำการ และศึกษาผลของการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐานของครูผู้สอนที่มีต่อการพัฒนาทักษะการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ของผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 

          การอบรมเชิงปฏิบัติการสามารถช่วยพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-สังคมเป็นฐาน เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ของครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ประจำการที่เข้าร่วมในการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ นอกจากนั้น ผู้เรียนที่เรียนด้วยหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง แรงและการเคลื่อนที่ ที่ออกแบบโดยครูผู้สอนที่เป็นกรณีศึกษาสามารถพัฒนาทักษะการโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง
Chiappetta E. Chiappetta E. L., & Koballa T. R. (2010). Science instruction in the middle and secondary schools: developing fundamental knowledge and skills. (7th ed.). Boston: Pearson.

Dass P. M. (2005). Using science/technology/society approach to prepare reform-oriented science teachers: the case of a secondary science method course. Electronic Journal of Issue in Teacher Education, 14(1). Retrieved from http://web.a.ebscohost.com

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 173 views