9 วิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดี
สังคมไทยเรา ส่วนมากสมาชิกในครอบครัวจะมีผู้สูงอายุอยู่ด้วย เราลองมาศึกษาข้อแนะนำจาก อ.นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้บรรยายวิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดี 9 ข้อ ต่อไปนี้
- เลือกอาหาร ผู้สูงอายุใช้พลังงานน้อยลงจากกิจกรรมต่าง ๆ จึงควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน ให้เน้นอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะปลา เพิ่มแร่ธาตุที่ผู้สูงอายุมักขาด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ซึ่งมีอยู่ในนม ถั่วเหลือง ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ และควรกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนประเภทผัด หรือทอด จะช่วยลดปริมาณไขมันในอาหารได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด และดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- ออกกำลังกาย ถ้าไม่มีโรคประจำตัวแนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ประมาณ 30 นาทีต่อครั้ง ควรทำสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง จะมีประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดอย่างมาก ขั้นตอนการออกกำลังกายจะต้องค่อย ๆ เริ่ม โดยมีการยืดเส้นยืดสายก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มความหนักขึ้นจนถึงระดับที่ต้องการ ทำอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะเวลาที่ต้องการ จากนั้นค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ และค่อย ๆ หยุดเพื่อให้ร่างกายและหัวใจได้ปรับตัว
- สัมผัสอากาศที่บริสุทธิ์ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคได้ เช่นเดินสวนสาธารณะใกล้ ๆ บ้าน หรือปรับภูมิทัศน์ภายในบ้านให้ปลอดโปร่ง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก
- หลีกเลี่ยงอบายมุข ได้แก่ บุหรี่ สุรา จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงของโรคได้
- ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และโรคที่เป็นอยู่ ส่งเสริมการออกกำลังเพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือการหกล้ม
- ควบคุมน้ำหนักตัว หรือลดความอ้วน โดยควบคุมอาหาร และออกกำลังกายจะช่วยให้เกิดความคล่องตัว ลดปัญหาการหกล้ม และความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่นการซื้อยามากินเอง การใช้ยาเดิมที่เก็บไว้มารักษาอาการที่เกิดใหม่ เนื่องจากวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไต ในการกำจัดยาลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยา หรือผลข้างเคียง อาจมีแนวโน้มรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาจะดีที่สุด
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คลำเจอก้อน โดยเฉพาะก้อนโตเร็ว แผลเรื้อรัง มีปัญหาการกลืนอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก ท้องอืดเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไอเรื้อรัง ไข้เรื้อรัง เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องเสียเรื้อรัง ท้องผูกสลับกับท้องเสีย ขอแนะนำให้พบแพทย์
- ตรวจสุขภาพประจำปี แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยทุก 3 ปี โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแข็ง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และตรวจการมองเห็น การได้ยิน ตลอดจนประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…