โควิโท
ผู้เขียนได้เห็นเอกสารมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 12/2564 สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ทางโลกออนไลน์ ซึ่งได้สรุปความไว้ว่า “โรคโควิด” หรือ “โควิด” เป็นศัพท์เฉพาะ (อสาธารณนาม) เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาบาลี ต้องปริวรรตอักษรเป็นอักษรโรมันที่ใช้เขียนภาษาบาลี โดยที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้ใช้ศัพท์ว่า “โควิโท” เป็นชื่อ โรคโควิด เป็นภาษาบาลี และเป็นอสาธารณนาม
ดังนั้น ในแง่นักภาษาศาสตร์ เมื่อได้ทราบข่าวนี้ จึงถือว่าเป็นความตื่นเต้นกันได้เลย เพราะจะเป็นการเพิ่มช่องทางการใช้ภาษาได้มากขึ้น แต่ที่จะมาชวนคุยในฉบับนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิโทนี้เป็นหลัก เพราะตามที่เห็นแชร์กันจะมีแง่คิดต่ออยู่หลายประการ อาทิ ฉีดแล้วจะตายไหม ไม่ฉีดจะติดโรคไหม ควรเชื่อใคร ไม่ควรเชื่อใคร เป็นต้น ตกลงแล้ว เรื่องการฉีดวัคซีนต้านโรคโควิโทนี้ ทำให้เกิดแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมได้หลายอย่าง กล่าวคือ “1. ให้แต่ละคนได้มีโอกาสกลับไปตั้งคำถามว่า ที่ผ่าน ๆ มา หลายอย่างในชีวิตที่ตนเองได้หรือเสียนั้น ความเชื่อเป็นเงื่อนไขทำให้ได้หรือเสียเกิดขึ้นในชีวิตได้มากน้อยเพียงใด 2. ถ้าหากตนเองได้หรือเสียเพราะความเชื่อ แล้วจะมีมาตรฐานอะไรมาวัดว่า เรื่องนี้ควรใช้ความเชื่อตัดสิน หรือไม่ควรใช้ความเชื่อตัดสิน 3. แต่ถ้าหากเรื่องโรคโควิโทนี้ไม่ใช้ความเชื่อมาเป็นเงื่อนไขเลย คือ คงใช้แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องวัคซีนเท่านั้น ก็น่าจะพอได้ 4. ส่วนถ้ามองว่าลำพังข้อเท็จจริงในเรื่องวัคซีนต้านโรคโควิโทนี้ยังไม่พอ ก็ต้องพึ่งความเชื่อเข้ามาเป็นเงื่อนไขตัดสินด้วย”
สรุปแล้ว โรคโควิโทนี้ ถ้ามองอย่างรวมๆ คงไม่มีทางปฏิเสธว่าความเชื่อไม่มีผลต่อการฉีดวัคซีน เพราะมีหลายคนไม่ฉีดวัคซีน เพราะไม่เชื่อ และก็มีหลายคนฉีดวัคซีน ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อเลย ดังนั้น การจะทำให้คนในสังคมฉีดวัคซีนต้านโรคโควิโทนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้คนเกิดความเชื่อในวัคซีน ทั้งนี้ การสื่อสารเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในโรคโควิโทก็จำเป็นอยู่เหมือนกัน กล่าวคือต้องทำให้คนทั้งเชื่อและยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนต้านโรคโควิโทให้เกิดขึ้นด้วยกัน จึงจะทำให้การฉีดวัคซีนในสังคมราบรื่นดี แต่ถ้าหาก ไม่ปรับเรื่องความเชื่อและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามบริบท คงเป็นไปได้ยากที่คนในสังคมจะมาฉีดอย่างล้นหลาม
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…