ประสบการณ์ในการคิดอภิปัญญากับการพัฒนาการเรียนรู้ฟิสิกส์
การคิดอภิปัญญาเป็นคุณลักษณะสำคัญหนึ่งของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยการคิดอภิปัญญา (Metacognition) หมายถึง ความสามารถของบุคคลที่มีต่อกระบวนการคิดของตนเอง รู้ว่าอะไรที่ เหมาะสมกับตนเองในการเรียนรู้ ตลอดจนสามารถเลือกกลวิธี ในการวางแผน กำกับควบคุม และประเมินการเรียนรู้ของตนเองได้ เพื่อให้การเรียนรู้หรือการปฏิบัติงานต่าง ๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรอบแนวคิดของการคิดอภิปัญญาสามารถแสดงได้ดังแผนภาพที่ 1
Flavell (1985) ได้แบ่งอภิปัญญาออกเป็น 2 องค์ประกอบ คือ ความรู้ในอภิปัญญา (Metacognitive Knowledge) และประสบการณ์ในการคิดอภิปัญญา (Metacognitive Experience) โดย 1) ความรู้ในอภิปัญญา เป็นส่วนของความรู้ทั้งหมดที่บุคคลสะสมไว้ในระบบความจำระยะยาว เป็นการที่บุคคลรู้ว่า ตนเองรู้อะไรและคิดอย่างมีเป้าหมาย และรู้ว่าจะบรรลุเป้าหมายอย่างไร ความรู้ในอภิปัญญาประกอบด้วย ความรู้เบื้องต้นหรือความเชื่อในเรื่องของตัวแปรหรือองค์ประกอบที่มีผลต่อกิจกรรมการคิดซึ่ง Flavell (1985) ได้แบ่งความรู้ในอภิปัญญาออกเป็น 3 ความรู้ด้านบุคคล (Knowledge of persons) ความรู้ด้านงาน (Knowledge of tasks) และความรู้ด้านยุทธวิธี (Knowledge of strategies) อนึ่งสำหรับ 2) ประสบการณ์ในอภิปัญญา เป็นประสบการณ์ทางการคิดที่บุคคลสามารถควบคุมได้ และประสบการณ์นี้มีความสำคัญต่อการกำกับตนเอง (Self-regulation) ในกิจกรรมการคิด เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่สถานการณ์ในการคิดจนกระทั่งสามารถบรรลุเป้าหมายหรือหยุดการกระทำ ในการใช้ประสบการณ์การคิดอภิปัญญานั้นเป็นกระบวนการที่บุคคลวางแผนควบคุมและกำกับพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งประกอบด้วยการสังเกตตนเอง กระบวนการตัดสิน และกระบวนการแสดงปฏิกิริยาต่อตนเอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ประสบการณ์ในอภิปัญญามี 3 องค์ประกอบย่อย ซึ่งทั้งหมดเป็นกิจกรรมทางการคิด คือ 2.1) การวางแผน (Planning) เป็นการรู้ว่า ตนเองคิดว่า จะทำงานนั้นอย่างไร ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายจนถึงการปฏิบัติงานจนบรรลุเป้าหมาย โดยที่มีขั้นตอน คือ การกำหนดเป้าหาย การเลือกวิธีปฏิบัติ การรวบรวมจัดหมวดหมู่ปัญหาและอุปสรรคที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ การรวบรวมแนวทางเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายหรือขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้น และการคาดคะเนหรือทำนายผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า 2.2) การตรวจสอบ (Monitoring) เป็นการทบทวนความคิดเกี่ยวกับแผนที่วางไว้ว่า เป็นไปได้เพียงใด ความเหมาะสมของลำดับขั้นตอนและวิธีการที่เลือกใช้การกำกับตนเองหรือการตรวจสอบตนเอง (Self-monitoring) ตระหนักในการใช้ยุทธวิธีเพื่อการเรียนรู้มิได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่เป็นผลจากการพัฒนากระบวนการทางปัญญามาเป็นเวลานาน การฝึกให้เด็กสามารถกำกับตนเองได้ (Self-regulation) จะส่งผลต่อการปรับพัฒนาพฤติกรรมหรือการกระทำและส่งเสริมการสร้างมโนทัศน์อันจะเป็นผลต่อความสามารถทางวิชาการ และ 2.3) การประเมินผล (Evaluating) เป็นการคิดเกี่ยวกับการประเมินการวางแผนวิธีการตรวจสอบและประเมินผลลัพธ์
จะเห็นได้ว่า ผู้เรียนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยควรได้รับการพัฒนาทั้งความรู้ในอภิปัญญาและประสบการณ์ในอภิปัญญา อย่างไรก็ตาม จากการวิจัย ผู้วิจัยพบว่าประสบการณ์ในการคิดอภิปัญญาในห้องเรียนฟิสิกส์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1 ห้อง จำนวน 35 คน ในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีการจัดการเรียนรู้ เรื่อง สมดุลต่อการหมุน ผู้เข้าร่วมการวิจัย คือ ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1 ห้อง รวม 35 คนที่ทำแบบสำรวจประสบการณ์การคิดอภิปัญญา Metacognitive Experience Questionnaire; (MEQ) ผลการวิจัยพบว่า ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ในการคิดอภิปัญญาในห้องเรียนฟิสิกส์ในระดับปานกลางถึงบ่อย ซึ่งผู้สอนควรเพิ่มประสบการณ์ในการคิดอภิปัญญาในห้องเรียนฟิสิกส์ให้แก่ผู้เรียนมากยิ่งขึ้น
ตามหลักการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า นักเรียนทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้นักเรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ซึ่งทักษะการคิดอภิปัญญาจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เนื่องจากอภิปัญญาช่วยให้ผู้เรียนตระหนักในความรู้อภิปัญญาและสามารถวางแผนการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมทั้งตรวจสอบการเรียนรู้ของตนว่า เป็นไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้หรือไม่ นอกจากนั้นผู้เรียนยังประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเองและสามารถวางแผนที่จะทบทวนการเรียนเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้ จึงกล่าวได้ว่าอภิปัญญาเป็นทักษะสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง
Flavell, J. H. (1979). Metacognition and cognitive monitoring: A new area of cognitive development inquiry. American Psychologist.
Flavell, J. H. (1985). Metacognitive aspects of problem solving. In L. B. Resnick (Ed.), The nature of intelligence, 12, 231-235. New York: Lawrence Erlbaum Associates.
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…