จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 61 – คนดังนั่งคุย

Newsletters
ดร. มนัสวี ศรีนนท์
รศ ดร. พัชรินทร์ ปัญจบุรี

       

          สวัสดีค่ะ วันนี้คอลัมน์ คนดังนั่งคุยของเราจะพามาพบกับศิษย์เก่าผู้เปี่ยมคุณภาพ ซึ่งเป็นอาจารย์ของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ค่ะ รศ ดร. พัชรินทร์ ปัญจบุรี  จะมาให้ข้อเสนอแนะผ่านจุลสาร ในการทำงานภายใต้การระบาดจาก COVID19

1.การทำงานภายใต้การระบาดจาก COVID19 ซึ่งนับเป็นเวลาปีกว่าๆ จากการเริ่มระบาดครั้งแรก สำหรับการระบาดระลอกใหม่อาจารย์มีวิถีชีวิตในการทำงานเป็นแตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้างคะ
          “สวัสดีค่ะ รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมากๆค่ะ ที่ได้มาพบปะและนั่งพูดคุยกันในครั้งนี้ ซึ่งมาทั้งในมิติของศิษย์เก่า และก็ยังเป็นอาจารย์ประจำของที่นี่อีกด้วย ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา กับจุลสารของสถาบันฯมากเท่าไหร่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเกือบๆ 2 ปี เห็นจะได้ ก็ปฏิบัติภารกิจคุณแม่ลูกอ่อนพร้อมๆกับทำการสอน ดูแลงานวิจัยของ นักศึกษา ป.โท และ ป.เอก ที่ตัวเองเป็นที่ปรึกษาหลัก และทำงานวิจัยของตัวเองที่ได้รับทุนจากทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล และ สกว. (เดิม) เป็นหลัก ผนวกกับสถานการณ์การระบาดจาก COVID19 เลยต้อง Work from Home เป็นส่วนใหญ่ค่ะ จึงเป็นที่มาว่าเราจะทำงานสอนและงานต่างๆ อย่างไรในช่วง COVID19 ครั้งแรก ก็คงจะเลี่ยงไม่ได้เลยกับทำงานวิถีใหม่ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งในการระบาดครั้งแรกนั้นก็ปรับตัวแบบกะทันหันมากที่จะต้อง Platform การสอนออนไลน์อย่างไร แรกๆ ในรายวิชา Emerging technology education ที่ตัวเองรับผิดชอบสอนหลักเลยก็จะทำผ่าน Facebook เรียกได้ว่า Facebook as Learning Management System (LMS) เลยก็ว่าได้ค่ะ ก็คือทั้ง VDO call กับ นักศึกษา ใช้ space ของ Facebook เป็น learning space พอเริ่มตั้งตัวได้ก็ใช้ ZOOM และ Webex เป็น Virtual learning กับ นักศึกษา ในการสอน และติดตามวิทยานิพนธ์ แม้กระทั่งสอน นักศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลวิจัยด้วย SPSS ผ่าน Webex ก็ทำเพื่อให้งานเดินต่อไปได้ตามกำหนดการที่วางไว้ ถือได้ว่าสถานการณ์การระบาดจาก COVID19 ครั้งแรก เป็นการ Pilot online platform ที่หลากหลายเลยก็ว่าได้ จนสนุกและเริ่มใช้คล่อง ทีนี้เริ่มชินกับการใช้ online platform สำหรับทำงานเลยค่ะ เรียกได้ Ubiquitous working เลย
          พอมาระบาดระลอกใหม่ก็เป็นอะไรที่ง่ายเลย ใช้ online platform ต่างๆ คล่องเลยแทบจะไม่ต้องปรับอะไรมากเลยค่ะ อาศัยประสบการณ์จากครั้งแรกผนวกกับกลวิธีการสอนต่างๆที่เป็นข้อค้นพบจากงานวิจัยของตัวเองในมิติของ Technology-enhanced learning เลยคิดว่าเป็นการสอนแบบออนไลน์ที่น่าจะสมบูรณ์ที่สุดของตัวเองละค่ะ (หัวเราะ) ก็คือในช่วงที่ระบาดระลอกใหม่ก็มีใช้ Annotation tool เพื่อให้ นักศึกษา เกิด interaction ระหว่างเนื้อหาและตัวอาจารย์มากขึ้น ใช้ Google Classroom เป็น LMS หลักเลยค่ะ วางกิจกรรมการสอนให้เป็นลำดับขั้นตอนในนั้น ใช้ applications ของ Google เป็นหลักในการทำกิจกรรมการเรียน และก็ใช้ YouTube Channel ให้เกิดประโยชน์ ก็คือระหว่างที่เราสอนผ่าน Zoom หรือ Webex ก็จะอัดไว้ จากนั้นก็ upload เก็บไว้ที่ YouTube เพื่อให้ได้ Link มาวางไว้ที่ Google Classroom ของรายวิชา ก็คือเรียกได้ว่า นักศึกษา ถ้ากลับมาทบทวนกิจกรรมการเรียนได้ตลอดเวลาเลยค่ะ ดู VDO การสอนย้อนหลังได้เลยผ่าน Link ของ YouTube ที่เราแปะไว้ใน Google Classroom นักศึกษา ก็จะเห็นบบรยากาศการสอน ทั้งกลับมาดูได้ด้วยว่าตอนที่ discuss เนื้อหา ตัว นักศึกษา เองได้แลกเปลี่ยนอะไรกับเพื่อนบ้าง ก็ค่อนข้าง Happy เลยค่ะกับวิธีการสอนแบบนี้ นักศึกษา ก็น่าจะ Happy ด้วย”

2.อาจารย์มีข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือการปรับตัว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอย่างไรในยุคนี้เพื่อให้มีประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้เรียนซึ่งอยู่ทางบ้านคะ
          “การปรับตัว น่าจะเป็นอะไรที่เราสามารถทำได้เลยอัตโนมัติ เป็นแบบ COVID disruption ก็ว่าได้ สามารถพร้อมทำงานได้เลยหากมีเครื่องมือและวิธีจัดการการทำงานที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ นะคะ เรียกได้ว่าเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่อยู่ในมือดีก็ควรจะคู่กับวิธีการใช้ที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ หากมองในมิติการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน สามารถกล่าวได้เลยว่าการปรับมาใช้ online learning ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบันนี้ได้จริงๆ กลวิธีที่ตัวเองใช้ในจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ก็ใช้ดึงมาจากงานวิจัยของตัวเองเลยก็คือใช้กลวิธี Knowledge Inquiry-Knowledge Management ใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้คิด มีแหล่งข้อมูลเพื่อให้ นักศึกษา ศึกษา Basic หรือ Related knowledge ใช้ Annotation Tool ใน application ของ virtual meeting platform เพื่อสร้าง interaction ระหว่างเนื้อหาและผู้สอน จากนั้นเปิดโอกาสให้ นักศึกษา Discuss เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และปรับองค์ความรู้ของตนเองให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น หากสนใจรายละเอียดก็ขอแนะนำบทความวิชาการ 2 บทความ ดังนี้ค่ะ

  1. Thongkoo, K., Panjaburee, P., & Daungcharone, K. (2019). Integrating inquiry learning and knowledge management into a flipped classroom to improve students’ web programming performance in higher education. Knowledge Management & E-Learning, 11(3), 304–324. (SCOPUS, Q2)
  2. Thongkoo, K., Panjaburee, P., & Daungcharone, K. (2019). A development of ubiquitous learning support system based on an enhanced inquiry-based learning approach. International Journal of Mobile Learning and Organisation, 13(2), 129-151. (SCOPUS, Q1)

          ซึ่งอาจจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นว่าใช้กลวิธีแบบนี้แล้วสามารถช่วย นักศึกษา เพิ่มผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้จริงๆ นะคะ

3.ในฐานะที่อาจารย์เป็นศิษย์เก่า ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์ใดหรือความรู้ ความสามารถด้านใดที่ทำให้นำความรู้นั้นมาใช้ในการเติมเต็มการจัดการเรียนการสอนในยุคนี้ได้ดีบ้างคะ
          “ด้วยความที่ตนเองก็เรียนจบ ป.ตรี ทางด้าน Computer Science จากคณะวิทยาศาสตร์ และมา ป.โทควบเอก สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) ที่สถาบันนวัตกรรมฯ เรียกได้ว่าไขว้สายมาเลยค่ะ จากสาย computer science (CS) ที่เน้นเรื่องการคิด algorithm เพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไขว้มาเรียนในสาย Education ซึ่งท้าทายมากที่ต้องศึกษาอีกศาสตร์หนึ่งใหม่เลย จึงจำเป็นมากที่จะต้องเป็น self-directed learner อย่างแท้จริง เพื่อให้นำองค์ความรู้จาก CS ประยุกต์ในมิติ education ให้ได้ ซึ่งหลักสูตรนี้ก็สร้างให้เราเป็นแบบนั้นจริงๆ ก็คือเราได้ self-directed ability จากหลักสูตรนี้ก็ว่าได้นะคะ จึงทำให้เราคิดว่าเรามีเครื่องมือเชิงเทคโนโลยีอยู่ในมือของเราที่ดีๆทั้งนั้นเลย และมีเยอะมากๆในปัจจุบันนี้ แล้วเราจะใช้เครื่องมือเหล่านั้นได้อย่างไรให้เหมาะสม เราก็ทำ study ทำ research อย่างเป็นระบบด้วยตนเองได้ กลวิธีหรือกลยุทธ์การสอนใหม่ๆที่เหมาะสมสามารถขับเคลื่อนเครื่องมือเชิงเทคโนโลยีนั้นในการจัดการเรียนการสอนได้ค่ะ

4.อยากฝากอะไรถึงผู้สนใจศึกษาต่อ เพื่อพิจารณาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
          “สำหรับท่านใดที่สนใจศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำอย่างไรเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้แบบใหม่ๆให้เอื้อต่อการสร้างทักษะแห่งอนาคตกับผู้เรียนในยุคสมัยนี้ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ท่านได้อย่างแน่นอนค่ะ ดังนั้นแล้วมาเรียนด้วยกันนะคะเราจะทำให้ท่านมี self-directed ability ผ่านห้องเรียน แบบ mastery leaning และก้าวสู่การเป็นนวัตกรทางการศึกษาได้ค่ะ”

5.อยากให้เล่าถึง ปัจจัยสู่ความสำเร็จ รางวัลผลงานวิจัย (ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์) ระดับดีสาขาการศึกษาจากผลงานวิจัยเรื่อง“การส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนเพื่อยก ระดับผลการเรียนรู้ในมโนมติวิทยาศาสตร์โดยใช้วิธีการวัดและประเมินผลเพื่อการพัฒนาบูรณาการร่วมกับสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้บนเครือข่ายที่ตอบสนองอย่างจำเพาะต่อผู้เรียนรายบุคคล”จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
          “ด้วยความที่ตัวเองเรียนจบ ป.เอก จาก สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) ของ สถาบันนวัตกรรมฯ แล้วเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ต่อทันที เลยมีความมั่นใจในเบื้องต้นละว่าเรามีความเชี่ยวชาญ มี Master experience เกี่ยวกับการทำวิจัยทางการศึกษาแบบร่วมสมัยในระดับหนึ่ง ก็คือในแบบที่สามารถประยุกต์ CS เพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีการศึกษาได้โดยเฉพาะการสร้างบทเรียนออนไลน์แบบจำเพาะรายบุคคล (Personalized online learning system) ซึ่งเป็นงานที่เราจะต่อยอดจาก PhD Thesis ของเราได้ต่อไปค่ะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เขียนข้อเสนอโครงการวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัย การส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนเพื่อยกระดับผลการเรียนรู้มโนมติวิทยาศาสตร์โดยวิธีการวัดและประเมินผลเพื่อการพัฒนาบูรณาการร่วมกับสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้บนเครือข่ายที่ตอบสนองอย่างจำเพาะต่อผู้เรียนรายบุคคล ดำเนินงานต่อเนื่อง 2 ปีงบประมาณ 2557-2558 ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการวิจัยย่อย ทำร่วมกันกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ค่ะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการทำแบบพหุสาขา (Multidiscipline) เลยก็ว่าได้เราก็ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้าน CS ให้ผนวกร่วมกันกับศาสตร์ทางการศึกษาที่ลึกซึ้งจากท่านอาจารย์นิวัฒน์ ก็เป็นการทำงานที่ค่อนข้างลงตัวเลยทีเดียวค่ะ
          โครงการย่อยที่ 1 เรื่องสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้บนเครือข่ายที่ตอบสนองอย่างจำเพาะต่อผู้เรียนรายบุคคลเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้มโนมติวิทยาศาสตร์ (Supervised-Online Personal Learning Environment: SOPLE) ดำเนินงานในปีที่ 1 ปีงบประมาณ 2557 เพื่อสร้างนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีการศึกษา SOPLE เป็นงานหลัก SOPLE ที่เราได้ออกแบบและพัฒนาขึ้นนี้ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่ตอบสนองการเรียนรู้อย่างจำเพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำ สามารถสร้างเส้นทางการเรียนรู้แบบพิเศษที่จำเพาะต่อความสามารถในการเรียนรู้แบบรายบุคคล และตัดสินใจ ปรับเลือกรูปแบบสื่อ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ได้อย่างชาญฉลาด รวมทั้งสามารถวัดผลเพื่อปั้นแต่งการเรียนรู้และประเมินระดับความสำเร็จในการเรียนรู้รายบุคคลทั้งในมิติ minds-on และ hands-on เน้นการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
          จากนั้นก็นำ SOPLE ไปขยายผลการใช้จริงในโครงการย่อยที่ 2 เรื่องการศึกษาอิทธิพลของปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองและความก้าวหน้าในความเข้าใจมโนมติวิทยาศาสตร์ในบริบทการจัดการเรียนรู้โดยใช้สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้บนเครือข่ายที่ตอบสนองอย่างจำเพาะต่อผู้เรียนรายบุคคล ในปีที่ 2 ปีงบประมาณ 2558 ข้อค้นพบของงานวิจัยนี้ก็พบว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองและความก้าวหน้าในความเข้าใจมโนมติวิทยาศาสตร์ ได้แก่ด้านกลยุทธ์การเรียนรู้ที่มีกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ความสอดคล้องกับชีวิตประจำและกิจกรรมสอดคล้องกับความจำเพาะกับนักเรียนเป็นรายบุคคล มีการแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมที่หลากหลาย มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนไตร่ตรองความรู้วิทยาศาสตร์ และการตระหนักถึงองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ ที่ผนวกกับด้านวิธีการวัดและประเมินผลเพื่อการพัฒนาที่มีการให้ผลสะท้อนกลับอย่างรวดเร็วในปริมาณที่เหมาะสมระหว่างเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ซึ่งผลสะท้อนกลับนั้นต้องไม่เป็นเพียงแค่คะแนนแต่เป็นการให้แหล่งความรู้เพิ่มเติมและคำแนะนำถึงวิธีการปรับปรุงความรู้วิทยาศาสตร์ที่บกพร่องนั้นๆ และนำนักเรียนกลับไปเรียนเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อซ่อมแซมข้อบกพร่องการเรียนรู้ในเนื้อหานั้นๆ

SOPLE ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติเชิงวิชาการ ได้ด้วยค่ะ SOPLE สามารถเป็นต้นแบบของแนวทางการส่งเสริมความสามารถการเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แบบออนไลน์แบบจำเพาะบุคคล เช่น โปรแกรมแบบทดสอบและเยียวยาข้อบกพร่องการเรียนรู้แบบออนไลน์ (ทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ) และเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์แบบจำเพาะรายบุคคลโดยใช้วิธีการเรียนรู้แบบสืบเสาะร่วมกันเป็นฐาน (ทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) และบทความวิชาการจำนวน 7 เรื่อง จากผลงานวิจัยนี้ยังสามารถใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนวิชาเทคโนโลยีอุบัติใหม่เพื่อการเรียนรู้ ของสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อีกด้วยค่ะ เรียกว่า นักศึกษา ได้เรียนจากงานวิจัย จากองค์ความรู้ใหม่เลย

จากการทำงานร่วมกับแบบพหุสาขาเพื่อให้เกิดงานวิจัยทางการศึกษาแบบร่วมสมัย และสามารถก่อเกิดการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายก็ปัจจัยที่ทำให้งานวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาการศึกษา จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้ค่ะ”

เคล็ดลับความสำเร็จ ของอาจารย์

          “ถ้าให้นิยามความสำเร็จของตัวเอง ณ ขณะนี้ ก็จะให้ธงไว้ที่ว่าเราสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ อาจจะเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบวารสารวิชาการ หรือการแพร่กระจายนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีการศึกษาที่เราสร้างขึ้นมา แน่นอนเลยว่าเราจะไปถึงธงนั้นได้เราต้องเป็นนักเรียนอยู่ตลอดเวลา ให้โอกาส และเปิดโอกาสตัวเองให้เป็นนักเรียนที่เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัย ปรับ ประยุกต์ในงานของเราให้ได้ ซึ่งก็ก่อเกิดนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีการศึกษาที่เราพัฒนาหรือสร้างขึ้นทั้งงานวิจัยที่เราขอทุนวิจัยเอง และผ่าน Thesis ของ นักศึกษา ที่เราเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ก็คือ ในส่วนของ นักศึกษา นั้น ตัวเองก็พยายามให้ DNA ในมุมมองทั้ง Personalized online learning หรือ Technology-enhanced learning ใส่ไปกับตัว นักศึกษา เพื่อวันหนึ่ง นักศึกษา จบการศึกษาไป ก็จะมี DNA นั้นติดตัวไป เราก็หวังว่า นักศึกษา ที่มี DNA ของเรา จะสามารถสร้างผลงานของตัวเองต่อไปได้ ก็จะเป็นการแพร่กระจายนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีการศึกษาในมิติ Personalized online learning หรือ Technology-enhanced learning กลายๆ เพื่อที่วันหนึ่งจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยต่อไปได้ค่ะ”

ขอขอบพระคุณ ท่านรศ ดร. พัชรินทร์ ปัญจบุรี ศิษย์เก่าน้ำดี ที่ได้เล่าถึงประสบการณ์ต่างๆ แนวทางการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบันรวมถึงเคล็ดลับความสำเร็จให้กับผู้อ่านทุกท่านนะคะ…สำหรับฉบับนี้ สวัสดีค่ะ….

 

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 146 views