จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 63 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

เทคโนโลยีกับการตัดสินพฤติกรรม

เรื่องโดย
ดร. มนัสวี ศรีนนท์

         ในทุกวันนี้ สังคมเวลามีปัญหาหรือมีอะไรที่อยากจะบอกใคร โดยส่วนใหญ่ก็มักจะนำเสนอผ่านเทคโนโลยีบนสื่อสังคมออนไลน์ แม้แต่เรื่องการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนการขายสินค้าไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการหรือธุรกิจส่วนตัว ก็ดำเนินการผ่านทางเทคโนโลยีด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่ามนุษย์มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คือ ในอดีตกาล การพึ่งพาเทคโนโลยีของมนุษย์อาจจะดูไม่มากมายเหมือนกับในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การติดต่อประสานงาน ถ้าเป็นในอดีตกว่าเนื้อหาหรือสาสน์จะถูกส่งไปถึงมือผู้รับสาสน์นั้นย่อมต้องใช้เวลานานมาก เรียกว่าเป็นเดือนหรือเป็นสัปดาห์เลยก็ได้ แต่ในมิติของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้การสื่อสารหรือแม้แต่กิจกรรมอื่น ๆ ที่มนุษย์ต้องการนำเสนอสู่โลกกว้างนั้นสามารถทำได้ง่ายชั่วพริบตา คนทั้งโลกสามารถเห็นในสิ่งที่ต้องการสื่อสารออกไปได้ทันที

        จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีนั้นทำให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม จากที่ในอดีตการคิด การพูด หรือการกระทำของมนุษย์จะสามารถสื่อสารไปยังสังคมหรือผู้อื่นให้รู้เห็นนั้นแทบจะยากแสนยากหรือต้องลงทุนสูงอยู่พอสมควร แต่ในยุคปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่าเทคโนโลยีสามารถทำให้ปัญหาที่กล่าวเป็นตัวอย่างข้างต้นนั้นหมดไปเลย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์ต่อบุคคลและสังคมเป็นอย่างมาก เรียกว่ามากเสียจนทำให้มนุษย์ละเลยสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาร่างกายและจิตใจของตนไปเลย เช่น เรื่องมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมในตนเอง หรือเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกันในสังคม เป็นต้น ประเด็นที่ยกขึ้นมาเป็นกรณีเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะถูกลดทอนลงจากการให้คุณค่าต่อเทคโนโลยีมากเกินของมนุษย์นั่นเอง ดังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นว่าเทคโนโลยีที่มนุษย์ใช้หรือพึ่งพาอาศัยอยู่ทุกวันนี้มีผลอย่างไรบ้างต่อพฤติกรรม อีกนัยหนึ่ง เทคโนโลยีสามารถที่จะให้มนุษย์ใช้เป็นเครื่องตัดสินพฤติกรรมได้มากขนาดไหน หากเป็นไปได้อย่างสุดโต่ง ย่อมเท่ากับว่าต่อไปนี้เทคโนโลยีจะได้รับการยอมรับจากสังคมมนุษย์มากขึ้นจนสามารถตัดสินมนุษย์ได้เท่ากับมนุษย์ตัดสินมนุษย์ ในเรื่องผู้เขียนจึงขอตั้งประเด็นนำเสนอไว้เป็น 2 ทางแห่งการศึกษาวิเคราะห์ดังนี้
        1. หากทุกพฤติกรรมของมนุษย์ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือตัดสินเป็นลำดับที่หนึ่งหรือเป็นปฐมภูมิ ก็แสดงว่าตั้งแต่นี้ต่อไป การตัดสินเรื่องถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ ของมนุษย์นั้น เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยที่หนึ่งที่ให้มนุษย์ด้วยกันเองใช้เป็นเครื่องมือ กล่าวคือหากเป็นเช่นนี้ ต่อไปมนุษย์จะเป็นอิสระทั้งในส่วนตนหรือในส่วนสังคมนั้นย่อมจะเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อมนุษย์จำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีตัดสิน นั่นแสดงว่ามนุษย์ด้วยกันเองนั้นหมดความชอบธรรมที่จะเป็นผู้ตัดสินแล้ว ด้วยว่าการจะตัดสินอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์แล้ว ก็ต้องเริ่มต้นที่ข้อมูลในเทคโนโลยีที่จะมีให้เป็นอย่างไร หากมีจำนวนมาก การตัดสินว่าดีหรือถูกก็จะมากไปด้วย ดังจะเห็นได้จากทุกวันนี้ ตัวตนของมนุษย์จะเป็นอย่างไร ได้แก่ จะเป็นคนดี คนไม่ดี คนดังคนเด่นหรือไม่ สามารถพิจารณาดูผ่านเทคโนโลยีได้เลย ตรงกันข้าม หากมนุษย์คนไหน ไม่มีฐานข้อมูลในระบบเทคโนโลยีดังกล่าว ย่อมอาจจะถูกนิยามว่าไม่มีอะไรเลยหรือไร้ตัวตน ก็อาจเป็นไปได้เหมือนกัน ดังนั้น ในประเด็นนี้ จึงสรุปได้ว่ามนุษย์ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วต่อไปนี้ เพราะมนุษย์จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องตัดสินพฤติกรรมทุกอย่างของตนเองตลอดไป
        2. การให้น้ำหนักเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการตัดสินพฤติกรรมเป็นลำดับที่สองหรือเป็นทุติยภูมิเท่านั้น คือ พฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคิด การพูด หรือการแสดงออก มนุษย์มีอิสระตามประสบการณ์ที่ตนเองได้สั่งสมมาเป็นลำดับ มนุษย์ไม่ได้ตัดสินความถูกต้องหรือความผิด ใช่หรือไม่ใช่ด้วยการชี้นำของเทคโนโลยีโดยไม่ใช้ความคิดอ่านของตนเองประกอบ ฉะนั้น ในทางที่ 2 นี้ จึงเป็นการมองถึงการคงอยู่ของศักยภาพที่มีอยู่ในตัวตนของมนุษย์ เรียกว่ามนุษย์สามารถที่จะทำการดีหรือไม่ดีได้โดยไม่ต้องอาศัยการชี้นำจากเทคโนโลยี และเทคโนโลยีซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในบรรดาเครื่องมือทั้งหลายที่มนุษย์มีเอาไว้ใช้ในการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนสังคมเท่านั้น ประเด็นนี้จะเห็นได้จากที่มนุษย์อาศัยข้อมูลต่าง ๆ จากเทคโนโลยีแล้วมาประเมินตัดสินพฤติกรรมของตนเอง คนอื่น และสังคมโดยรวมนั่นเอง

        ตามที่กล่าวไว้ใน 2 ทางข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าทางที่หนึ่งนั้น เป็นการมองว่าต่อไปนี้ เทคโนโลยีจะยึดครองวิถีชีวิตและสังคมมนุษย์ อนาคตของมนุษย์และสังคมขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีในที่นี้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในระบบดังกล่าว ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง ดังนั้น เทคโนโลยีจึงเป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมนุษย์แน่นอน มนุษย์ต่อไปนี้จะไร้อิสรภาพหรือหมดสภาพ ด้วยเทคโนโลยีจะตัดสินทุกอย่างแทนให้ ส่วนทางที่สอง เป็นการมองว่ามนุษย์ยังเสรีภาพ อิสรภาพ ในพฤติกรรมทุกอย่างของตนเอง ส่วนเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่มนุษย์เอาไว้ใช้ในการบริหารจัดการตนเองและสังคมเท่านั้น เทคโนโลยีหาใช่เป็นอะไรอื่นนอกจากสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ซึ่งไม่มีทางที่อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจะสามารถมามีอิทธิพลเหนือตัวตนมนุษย์และสังคมได้

        สรุปแล้ว ประเด็นการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นแล้วถึงสถานะของเทคโนโลยีกับมนุษย์ ซึ่งตอนนี้ ผู้เขียนก็มองว่ามนุษย์ควรได้ตั้งคำถามแล้ว เพราะหากไม่ริเริ่มถามถึงสถานะของมนุษย์กับเทคโนโลยีแล้ว อนาคตต่อไป สถานะของมนุษย์อาจจะถูกสั่นคลอนด้วยเทคโนโลยีได้ โดยเทคโนโลยีนั้นโดยตัวมันเองแล้ว แทบจะเป็นแค่บางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้น แต่ก็เป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากเทคโนโลยีเป็นเพียงสิ่งของบางสิ่งตามที่มนุษย์ส่วนใหญ่กำลังมองนั้น แล้วทำไมตอนนี้ มนุษย์จึงได้ดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันโดยต้องอาศัยเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา คือ ในสมัยก่อน มนุษย์อาจทำอะไรได้ด้วยตนเองเป็นหลัก ส่วนเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงเครื่องมือประกอบในการดำเนินการเท่านั้น แต่ในยุคปัจจุบัน การตัดสินในหลายๆ เรื่องหรือแทบจะทุกเรื่องในชีวิตและสังคม มนุษย์ได้อาศัยเทคโนโลยีช่วยเหลือตลอด ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่ามนุษย์ได้มอบอำนาจในการตัดสินทุกอย่างที่ตนเองมีให้กับเทคโนโลยีแล้ว ตัวอย่างในเรื่องนี้จะเห็นได้จากเวลาที่มนุษย์ทำอะไรก็แล้วแต่ เช่น ทำงานหรือเดินทาง เป็นต้น หากเทคโนโลยีไม่เอื้อหนุนแล้ว การทำงานหรือเดินทางดังกล่าวก็ย่อมไม่สะดวกสบายแน่นอน

        ดังนั้น ผู้เขียนจึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าคงถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ควรจะได้ถามถึงสถานะของตนเองกับเทคโนโลยี ด้วยหากไม่ถามคำถามนี้แล้ว วันหนึ่งข้างหน้า มนุษย์อาจต้องตกเป็นเชลยหรืออยู่ใต้อำนาจของสิ่งที่ตนเองประดิษฐ์ขึ้นก็ได้ การที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ จะได้เห็นได้จากหลายสิ่งหลายอย่างในระบบเทคโนโลยีได้วิวัฒน์ตนเองไปไกลมาก เรียกว่ามากเสียจนมนุษย์จำเป็นจะต้องอาศัยเทคโนโลยีเท่านั้นจึงจะเรียบร้อย หมายความว่าหากไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยเหลือ มนุษย์อาจจบสิ้นหนทางไปเลยก็ได้ เพียงเท่านี้ก็น่าจะคาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นานเกินรอ มนุษย์อาจจะไม่เหลือตัวตนให้ตนเองเห็นคุณค่าได้อีก หรือแม้แต่ความล่มสลายของสังคมก็อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน หากตัวตนของมนุษย์ได้ถูกลดทอนลงแล้ว ในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้จากสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยยุคนี้ ที่เวลาจะตัดสินอะไรๆ ที่เป็นความกันระหว่างสองฝ่ายขึ้นไป ก็จะอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือต่อสู้ระหว่างกัน เรียกว่าความได้เปรียบหรือเสียเปรียบนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพในตัวมนุษย์ แต่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่มนุษย์มี ซึ่งทั้งที่จริงแล้ว มนุษย์น่าจะตัดสินกันและกันด้วยตัวของมนุษย์เอง เปรียบได้กับการดูพฤติกรรมมนุษย์ด้วยกัน ก็ควรดูที่เจตนาของกันและกันเป็นหลัก มากกว่าที่จะดูข้อมูลจากเทคโนโลยีที่มนุษย์แต่ละคนมีกัน 

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 50 views