จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 63 – ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา

Newsletters

ประสบการณ์อภิปัญญาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากการเรียนรู้ด้วยกล่องการเรียนรู้ประสบการณ์อภิปัญญา เรื่อง สมดุลต่อการหมุน

เรื่องโดย
สุนทรียา สาเนียม
รศ.ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์

    วิทยาศาสตร์ (Science) เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะวิทยาศาสตร์ส่งเสริมให้มนุษย์รู้จัก “การคิด การค้นคว้าทดลอง และการพัฒนา” และดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและการคิดวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผล อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเด็กไทยยังขาดทักษะการคิดที่ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) การเรียนรู้วันนี้จึงต้องสร้างเด็กไทยให้เป็นนักคิดที่มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผน แก้ปัญหา โดยยังคงคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมไว้ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวของโลกยุคดิจิทัล (ข่าวสด, 2561) ที่มา: https://www.khaosod.co.th/sci-tech/news_1475960
        อภิปัญญา (Metacognition) ได้รับการยอมรับให้เป็นทักษะหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ (Flavell, 1976) ผู้เรียนที่มีอภิปัญญาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดให้ถูกต้องทำให้ความรู้ความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดความคงทน (Blank, 2000) ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นอภิปัญญาในกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของผู้เรียน ผู้วิจัยได้พัฒนากล่องการเรียนรู้ประสบการณ์อภิปัญญา เรื่อง สมดุลต่อการหมุน สำหรับพัฒนาประสบการณ์อภิปัญญา (metacognitive experience) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอภิปัญญาให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

ภาพที่ 1 กล่องการเรียนรู้ประสบการณ์อภิปัญญา เรื่อง สมดุลต่อการหมุน

        เนื้อหาเป้าหมายของกล่องการเรียนรู้ประสบการณ์อภิปัญญา คือ สมดุลต่อการหมุน ผู้เล่นกล่องจะได้รับกล่องที่ประกอบด้วยฐานรูปตัวที คาน และกล่องพลาสติก (box) ที่มีมวลที่แตกต่างกัน ในการเล่น ผู้เล่นจะได้รับใบกิจกรรมที่กำหนดสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมีคำถามหลักก็คือ ทำอย่างไรให้คานอยู่ในสมดุล เมื่อใช้กล่องที่มีมวลตามที่กำหนดให้แขวนในระยะต่าง ๆ กันทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวาของคาน เมื่อผู้เรียนทำใบกิจกรรมในและสถานการณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้เรียนจะบันทึกการคิด ปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้ การปรับปรุงการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ของตนเองลงในใบสะท้อนการคิดอภิปัญญา
        ผู้วิจัยค้นพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนรู้เนื้อหา เรื่อง สมดุลต่อการหมุน ด้วยกล่องการเรียนรู้ประสบการณ์อภิปัญญาเกิดการพัฒนาประสบการณ์อภิปัญญาขึ้นในระดับที่น่าพึงพอใจ และเกิดการพัฒนาแนวคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับสมดุลต่อการหมุน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไมได้รับการฝึกฝนเกี่ยวกับการคิดอภิปัญญามาก่อนและความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ที่ยังไม่ดีนักทำให้นักเรียนประสบความยากลำบากในการสะท้อนกระบวนการเรียนรู้ของตนเองผ่านการเขียน ดังนั้นการจะทำให้ผู้เรียน ค้นพบ รู้จัก และเข้าใจกระบวนการคิดของตนเองได้มากขึ้นผ่านกระบวนการอภิปัญญานั้น ผู้สอนควรฝึกฝนผู้เรียนทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่อง ค่อย ๆ ให้เด็กเรียนรู้และทำความเข้าใจวิธีเรียนรู้ของตนเอง ผ่านการทบทวน วางแผนทำความเข้าใจ จนสามารถนำพาตนเองไปสู่การอยากที่จะเรียนรู้ อยากที่จะรู้วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลผ่านการคิด อยากที่จะตรวจสอบความคิดความเข้าใจของตนเอง ตลอดจนกลายมาเป็นความรู้ความเข้าใจของตนเอง นำมาซึ่งการพัฒนาขีดความสามารถในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และมากไปกว่านั้นก็คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นเอง

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ: Sanium, S. & Buaraphan, K. (2021). Ninth-grade students’ metacognitive experience from learning with the metacognitive experience learning box in the equilibrium of moments. The International Journal of Science, Mathematics and Technology Learning, 28(1), 41-59.

เอกสารอ้างอิง
ข่าวสด. (2561). สสวท.ชูความรู้นำไทยก้าวสู่ยุค 4.0 ปั้นนักคิด ใช้วิทย์สร้างภูมิคุ้มกัน. ที่มา: https:// www.khaosod.co.th/sci-tech/news_1475960
Blank, L.M. (2000). A Metacognitive Learning Cycle: A Better Warranty for Students Understanding. Science Education, 84(4), 486-516.
Flavell, J.H. (1976). The Development of Metacommunication. Paper presented at the Twenty–First International Congress of Psychology, Paris, July 1976.
Flavell, J.H. (1979). Metacognition and cognitive monitoring: A new area of cognitive development inquiry. American Psychologist, 34(10), 906-911.

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 65 views