จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 64 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

แนวทางปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงวัย

เรื่องโดย
ดร. มนัสวี ศรีนนท์

         นับเป็นข้อถกเถียงกันอยู่พอสมควรเกี่ยวกับการปรับตัวของคนวัยต่างๆ ต่อความเจริญเติบโตของเทคโนโลยีในปัจจุบัน หรือแม้แต่สถานการณ์ทางสังคมในยุคนี้ต่างได้ทำให้หลายคนในแต่ละช่วงวัยต้องปรับตัวในขนานใหญ่เพื่อให้เกิดความอยู่รอดปลอดภัยนั่นเอง ฉะนั้น ในประเด็นการคิดนี้ จึงได้เกิดคำถามขึ้นมาว่าเมื่อเทคโนโลยีและสังคมมีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เด็กและผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยนั้นจะต้องปรับตัวตนอย่างไรบ้าง กล่าวคืออาจเป็นไปได้ที่ผู้ใหญ่นั้นมีประสบการณ์เยอะมาก การปรับตัวก็อาจจะไม่ยากเหมือนเด็กก็ได้ แต่ในเรื่องนี้ ก็ยังเป็นที่ไม่ชัดเจนนัก เพราะการเป็นผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน แล้วจะสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนทางสังคมและเทคโนโลยีได้ดีกว่าเด็ก อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไปก็ได้
        ด้วยเหตุผลที่กล่าวถึงข้างต้น ผู้เขียนจึงประสงค์จะนำเสนอถึงการปรับตัวของผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยต่อพลวัตที่เทคโนโลยีมีต่อผู้คนและสังคมเรื่อยมา ในที่นี้ ผู้เขียนจึงมีสมมติฐานเป็นเบื้องต้นก่อนว่าระหว่างเด็กและผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยนั้นจะอ้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบต่อกันนั้นคงไม่สามารถยืนยันได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะฝ่ายเด็กอาจจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้เร็วกว่าผู้ใหญ่นั้นก็เป็นได้ เพราะเด็กเกิดมาในช่วงเจริญเติบโตของเทคโนโลยีในสังคมนั่นเอง ส่วนฝ่ายผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยก็อาจจะมีข้อได้เปรียบในจุดที่มีประสบการณ์ในชีวิตและสังคมมากกว่า ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องจุดที่ควรปรับปรุงและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีกับผู้สูงวัยให้มากขึ้น ผู้เขียนจึงนำเสนอเป็น 2 ประเด็นดังนี้
        ประเด็นที่ 1 จุดที่ควรปรับปรุงในเรื่องเทคโนโลยีกับผู้สูงวัย
        สำหรับประเด็นนี้ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่มีความเจริญเติบโตไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้สูงวัยนั้นก็เป็นผู้เสื่อมถอยไปข้างหน้าต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้น หากมองในมิติแห่งอภิปรัชญาหรือความเป็นจริงของทุกสิ่งแล้ว อาจกล่าวได้ว่าทั้งเทคโนโลยีและผู้สูงวัยนั้นล้วนไปข้างหน้าอย่างสวนทางกันคือเทคโนโลยีเจริญไปข้างหน้าเพื่อเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำงานให้เกิดความคล่องตัวของผู้ใช้ ส่วนผู้สูงวัยก็เจริญไปข้างหน้าอย่างมีความผิดแผกไปจากเทคโนโลยี ได้แก่ ผู้สูงวัยโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นวัยที่ปล่อยวาง ละทิ้ง และไม่สนใจไยดีกับอะไรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นสังคมโลก ดังนั้น หากจะปรับปรุงให้ผู้สูงวัยไปด้วยกันได้กับเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลานั้น ผู้เขียนมองว่าผู้สูงวัยก็ต้องมีทัศนคติที่ไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเดิม ๆ เรียกว่าถ้าไม่ใช่หรือไม่เหมือนสิ่งที่เคยใช้มาก็ต้องรับให้ได้ อีกประการหนึ่ง เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าจะเหมาะและเข้ากันได้กับสภาพลักษณ์ของผู้สูงวัยคือต้องมีมิติการใช้งานที่ไม่สลับซับซ้อน เข้าถึงง่าย และมีรูปลักษณ์ที่เข้ากันได้กับยุคสมัยที่ผู้สูงวัยผ่านมาด้วย จึงจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น การที่กล่าวเช่นนี้ สืบเนื่องจากการที่จะให้ผู้สูงวัยปรับตัวจนไม่เหลือร่องรอยของตัวเองไว้เลยนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะตัวตนของผู้สูงวัยนั้นจะให้ถอยจากนิสัยเดิมนั้นคงยาก สรุปแล้ว หากจะสร้างเทคโนโลยีให้เหมาะกับนิสัยของผู้สูงวัยย่อมน่าจะเป็นไปได้มากกว่าที่จะให้ผู้สูงวัยปรับตัวอย่างพลิกผันตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่พลิกโฉม
        ประเด็นที่ 2 แนวทางการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีกับผู้สูงวัย
        สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนมองว่าแนวทางที่จะเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาร่วมกันทั้งเทคโนโลยีและผู้สูงวัยคือการที่สังคมที่ผู้สูงวัยอยู่อาศัยจะได้เร่งพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของผู้สูงวัย เช่น พัฒนาด้านทักษะการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้สูงวัยน่าจะเป็นทางที่ถูกต้องและยั่งยืนมากกว่า เพราะการที่ให้เทคโนโลยีหยุดชะลอการเจริญเติบโตเพื่อรอคอยให้ผู้สูงวัยในสังคมปรับตัวเข้าหานั้นคงไม่ทันการณ์แน่นอน ดังนั้น ทางที่ถูกต้องกว่าน่าจะเป็นการสร้างหลักสูตรหรือหลักการในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม กล่าวคือธรรมชาติผู้สูงวัยนั้นต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยในการย่อยข้อมูลที่มีเนื้อหายาวๆ ทำให้ไม่ยาวเกินไป มีความกระชับและได้ใจความ ในที่นี้ จึงสรุปได้อย่างง่ายๆ ว่าเทคโนโลยีกับผู้สูงวัยประการที่ 2 นี้ ควรดูที่บริบทการใช้ หลักการที่นำมาใช้ และเนื้อหาที่ต้องการสร้างให้มีในผู้สูงวัย เป็นหลักการในการดำเนินการจึงจะเหมาะสม แล้วในที่สุด เทคโนโลยีกับผู้สูงวัยจะเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายและราบรื่นได้ตลอดไป

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 4.00 out of 4)
Loading…
Views : 30 views