จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 60 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

ปฏิรูปการศึกษา : เนื้อหา การปรึกษา เทคโนโลยี

ดร. มนัสวี ศรีนนท์
ดร. มนัสวี ศรีนนท์

         เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังการสัมมนาทางวิชาการแบบออนไลน์เกี่ยวกับรูปแบบของศึกษาในยุคนี้และยุคหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตและเวลานี้ ซึ่งในวงสนทนาวิชาการได้ระบุถึงทิศทางของการศึกษาในอนาคตนั้นจะไม่อยู่ในสภาพแบบเดิมเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกต่อไป เรียกว่าต่อไปรูปแบบการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก หากผู้ใดไม่สนใจหรือเอาใจออกห่างจากการศึกษาแม้ชั่วเวลาหนึ่ง รูปแบบการศึกษาที่ตนยึดว่าดีเลิศจนเป็นคติทางการศึกษาไว้ ก็จะถูกแทนที่ด้วยนวัตกรรมทางการศึกษาอีกแบบแน่นอน ดังนั้น เพื่อเป็นการนำเสนอองค์ความรู้ที่ผู้เขียนได้รับฟังมาจากการสัมมนา จะได้สรุปถึงประเด็นหลัก ๆ มานำเสนอดังต่อไปนี้
1. เรื่องเนื้อหา สำหรับเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังคมการศึกษาก็จะเน้นเป็นพิเศษ แต่การเน้นเนื้อหาในอดีตนั้นจะไม่ค่อยมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเท่ากับยุคนี้ ด้วยที่ผ่านมา เนื้อหาทางการศึกษาจะผูกติดกับครูผู้สอนหรือตำราที่ครูผลิตขึ้นมาเพื่อประกอบการสอนของตนเองเท่านั้น แต่ในขณะนี้ การยึดโยงความถูกต้องของเนื้อหาด้วยครูและตำรานั้นอาจจะไม่ทันกินหรือช้าไปเสียแล้ว เพราะเนื้อหาวิชาการที่ผู้เรียนสนใจศึกษาในทุกวันนี้แทบจะอยู่ทุกที่และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการเข้าถึงเนื้อหาไม่จำเป็นต้องพึ่งครู ตำราของครู และห้องสมุดของสถาบันการศึกษาแบบเดิมอีกต่อไป เรียกว่าตั้งแต่เวลานี้ ผู้สนใจหรือผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาวิชาการได้ตลอดเวลาและเนื้อหาวิชาการดังกล่าวก็สามารถปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดตราบเท่าที่ผลสรุปเรื่องที่ศึกษานั้นเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เนื้อหาวิชาการที่ศึกษาจึงไม่สามารถอ้างอิงความถูกต้องด้วยการอ้างอิงแบบเดิม ๆ ได้อีกแล้ว
2. เรื่องการปรึกษา ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันที่จะถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือ หากการเรียนของนักศึกษานั้นเกิดความสงสัยหรืออยากจะรู้มากขึ้นกว่าที่เรียนในห้องเรียน ทุกวันนี้ผู้เรียนก็ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเปิดชั่วโมงเรียนแล้วสอบถามถึงคำตอบกับครูประจำวิชาอีกต่อไป เพราะการสอบถามในประเด็นวิชาการที่สงสัยหรือใคร่จะรู้ของตนเองนั้น ผู้เรียนสามารถถามใครก็ได้ที่เป็นเพื่อนหรือไม่ได้เป็นเพื่อนในโลกออนไลน์หรือช่องทางอื่นที่ในปัจจุบันมีอยู่อย่างมากมาย ดังนั้น การตั้งคำถามที่เกิดจากความสงสัย หากได้ถามหรือตั้งเป็นกระทู้ไว้ในสื่อออนไลน์ ผู้ที่รู้เรื่องดังกล่าวดีก็จะเข้ามาตอบให้ทันที สรุปแล้ว การให้คำปรึกษาหรือการตอบข้อสงสัยของผู้เรียนนั้นจะไม่มีขอบเขตด้านเวลาเป็นเครื่องกีดกั้น เรียกว่าอยากจะรู้หรือสงสัยอะไร ก็สามารถโพสหรือตั้งกระทู้ถามได้เลย ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีผู้เข้ามาตอบคำถามให้เอง
3. เรื่องเทคโนโลยี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องจากสองเรื่องดังกล่าวข้างต้น เพราะการศึกษาทุกวันนี้ หากสถาบันการศึกษาใดหรือครูผู้สอนใดไม่มีทักษะในด้านนี้แล้ว ย่อมจะทำให้หมดความน่าสนใจและความน่าเชื่อถือได้เลย การที่ผู้เขียนกล่าวยืนยันเช่นนี้ เกิดจากความเข้าใจว่าเรื่องเนื้อหาและเรื่องการปรึกษาล้วนมีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยทั้งสองเรื่องนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างทันด่วนก็ด้วยอาศัยระบบและกลไกของเทคโนโลยีนี้นั่นเอง ดังนั้น การมีทักษะในด้านนี้จึงเป็นการทำให้อีกสองเรื่องข้างต้นมีความน่าสนใจ ไม่ตกยุค และทันสมัยอยู่เสมอ
สรุปแล้ว ทั้งสามเรื่องข้างต้นนี้ ผู้เขียนได้พยายามแสดงให้เห็นว่าการจัดการศึกษาในยุคนี้และยุคต่อไป ผู้จัดการการศึกษาจะให้ความสำคัญแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ หมายความว่าเรื่องเนื้อหาและเรื่องการปรึกษาหากไม่มีเทคโนโลยีแล้ว เนื้อหาและการปรึกษาก็ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนในสมัยนี้ เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีก็ต้องมีเรื่องเนื้อหาและเรื่องการปรึกษาด้วย เพราะลำพังเทคโนโลยีหาได้สร้างคุณค่าอย่างโดด ๆ ได้ไม่ ดังนั้น การบริหารการศึกษาที่จะประสบความสำเร็จและเป็นที่น่าสนใจของคนในสังคมตั้งแต่บัดนี้ไป จึงจำเป็นที่จะต้องนำสามเรื่องนี้มาเป็นองค์ประกอบในการบริหารการศึกษาให้มีและให้เกิดประสิทธิภาพ แล้วในที่สุด ประโยชน์โดยรวมก็จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ฝ่ายผู้รับบริการและฝ่ายผู้ให้บริการ แต่ถ้าหากไม่สามารถบริหารจัดการให้ทั้งสามเรื่องนี้เกิดมีขึ้นในการบริหารการศึกษาของสถาบันการศึกษาแล้ว ก็เป็นที่น่ากลัวเหมือนกันว่าการศึกษาที่ไม่ปรับเปลี่ยนอาจจะถูกปรับเปลี่ยนจนทำให้สูญหายไปเลยก็ได้

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (No Ratings Yet)
Loading…
Views : 28 views