จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 67 – สาระน่ารู้ 4

Newsletters

ปริญญา คืออะไร

เรื่อง :ดร.มนัสวี ศรีนนท์

         ช่วงนี้หรือราว ๆ ว่าไม่เกิน 3 เดือนที่ผ่านมา แต่ละสถาบันก็ได้จัดพิธีรับปริญญากัน โดยจัดมากน้อยวันแตกต่างกันไป ดังนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับปริญญาของคนทั่วไปก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพิธีการสุดท้ายที่แต่ละสถาบันการศึกษาจะจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติและการันตีการศึกษาหาความรู้จากสถาบันของผู้ศึกษาเป็นหลักคิด ทั้งนี้ ผลการศึกษาจะมีความแตกต่างกันไปย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการศึกษาหาความรู้และเกณฑ์การวัดของสถาบันการศึกษาเป็นสำคัญ หากตั้งใจหมั่นศึกษา ผลการศึกษาหรือที่เรียกกันว่า “เกรด” ก็จะสะท้อนเกิดเป็นรูปธรรมให้มองเห็นได้ แต่ในปัจจุบันก็เป็นที่ปรากฎชัดให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในวิธีการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา วิธีการเรียน ตลอดถึงวิธีการประเมิน หรือแม้แต่อีกหลาย ๆ เรื่องในระบบและกลไกการจัดการศึกษาของสถาบันศึกษา อีกประการหนึ่ง รูปแบบการประเมินผลงานการศึกษาก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ มีบางประเทศถึงกับไม่ใช้วิธีการวัดผลการเรียนแบบเป็นเกรดอีกต่อไป โดยหันไปดูที่ผลลัพธ์หรือทักษะที่เกิดขึ้นในผู้ศึกษาเป็นกรอบแนวคิด
        ในเรื่องปริญญานี้ ผู้เขียนบทความจึงได้เกิดความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ปริญญา” ว่ามีบริบทกว้างแคบขนาดไหน แต่พอไปเปิดดูจากเอกสารวิชาการต่าง ๆ แล้ว ก็จะมีความหมายไม่แตกต่างกันนัก โดยจะเน้นไปที่เรื่องความรู้รอบหรือรอบรู้เป็นความหมายหลัก ดังนั้น หากกล่าวถึงเรื่องปริญญาหรือการเข้ารับปริญญาของผู้ศึกษาจึงอาจสรุปความหมายและลักษณะที่สำคัญ ๆ ได้ ว่าเกี่ยวข้องกับ “ความรู้” โดยความรู้ที่ว่านี้ก็มีความแตกต่างกันไปตามสาขาวิชา จบสาขาวิชาไหนก็มีความรู้ในสาขาวิชานั้น ส่วนจะมีความรู้นอกเหนือจากสาขาวิชาไปบ้างก็เป็นไปตามอัธยาศัยการศึกษาค้นคว้า แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันจะพบเห็นข่าวสารเกี่ยวกับบางคนที่จบปริญญาโดยจะเป็นปริญญาตรีหรือปริญญาเอกแล้วทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวเองก็มีให้เห็นกันถี่ขึ้น หรือแม้แต่จบปริญญาแล้วทำทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ ๆ ที่มีเงินค่าใช้จ่ายจำนวน ผู้เขียนก็เลยหันกลับมาตั้งคำถามกับคำว่า “ปริญญา” ที่แปลว่า “ความรอบรู้หรือความรู้รอบ” นั้นตกลงแล้วเป็นความรู้ที่สัมพันธ์หรือสอดคล้องกับหลาย ๆ เรื่องในชีวิตคนเราได้มากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีคุณธรรมจริยธรรม การทำมาหาเลี้ยงชีพ การคิดวิเคราะห์ หรือการใช้ชีวิต เพราะหากปริญญาหรือความรู้ที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียนส่งผลดี ๆ ต่อทุกเรื่องราวในชีวิตและสังคมแล้ว ทำไมคนที่จบปริญญาหรือมีความรู้ตามปริญญาที่สถาบันการศึกษาออกให้แล้วจึงยังมีความทุกข์ยากลำบาก ไม่พออยู่พอกิน ก่อคดีความ โกหกหลอกลวงเพื่อให้ตนเองอยู่รอดและมีความสุขสบาย ทั้งที่จริงแล้ว คนที่มีความรู้หรือจบปริญญาแล้วน่าจะอะไรดี ๆ เพื่อตนเองและสังคมได้มากกว่านั้น หรืออาจเป็นไปได้ว่าถึงเวลาแล้วที่นักการศึกษาทั้งหลายหรือสังคมเองต้องรื้อ ปรับ สร้างระบบการศึกษาใหม่ โดยควรหันไปเน้นที่ทักษะที่จะเกิดขึ้นกับผู้ศึกษาเป็นคำตอบในการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาเท่านั้น เรียกว่าเมื่อหลักสูตรการศึกษาของสถาบันการศึกษาการันตีว่าจะสร้างหน้าตาบัณฑิตแบบไหนออกไปสู่สังคม บัณฑิตก่อนที่จะจบการศึกษาหรือรับปริญญาก็จะต้องมีความรู้ ทักษะ อัตลักษณ์ที่สามารถเห็นได้ โดยเฉพาะที่สำคัญมาก ๆ ที่บัณฑิตจะต้องมีก่อนโบกมืออำลาสถาบันการศึกษาออกไปทำงานหรือใช้ชีวิตคือ “คุณธรรมจริยธรรม” เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั่นเอง จึงเห็นควรที่ทุกฝ่ายควรจะได้ให้ความสำคัญกับการผลิตหรือสร้างบัณฑิตที่เป็น “คนรู้ คนดี คนพัฒนา” ออกสู่สังคมกันเยอะ ๆ

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (1 votes, average: 2.00 out of 4)
Loading…
Views : 82 views