VoloCity บริการแท็กซี่อากาศไร้คนขับ
เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ขจรศักดิ์ บัวระพันธ์
การเดินทางทางอากาศเป็นสิ่งที่มนุษย์ใฝ่ฝันมาตั้งแต่อดีตกาล ด้วยความใฝ่ฝันนี้ผลักดันให้มนุษย์พัฒนาความคิดและความรู้ส่งผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานและเครื่องบินกันมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล และต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเรามีเทคโนโลยีการบินที่ล้ำหน้าจนสามารถประดิษฐ์เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังไฟฟ้าได้ สารคดีชุด Disruptors ของ BBC ได้แสดงช่วงเวลาสำคัญ ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์การบินโลกไว้ดังนี้
เทคโนโลยีการบินของโลกถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ยุค 150 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่ง “เฮโรแห่งอะเล็กซานเดรีย” (Hero of Alexandria) นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ในอียิปต์เขาได้ออกแบบของเล่นพลังไอน้ำ มีชื่อว่า “แอโอลิไพล์” (aeolipile) ซึ่งใช้ไอน้ำในการขับเคลื่อนลูกบอลที่อยู่ด้านบน ถือเป็นเครื่องจักรไอน้ำชนิดแรก ๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็น “เครื่องยนต์เจ็ท” เครื่องแรกของโลกและมีผลงานด้านคณิตศาสตร์ คือการประมาณค่ารากที่สองและสูตรของเฮรอน (Heron’s formula)
ค.ศ. 1843 เซอร์จอร์จ เคย์ลีย์ (Sir George Cayley) บิดาแห่งวิศวกรรมการบินและอวกาศชาวอังกฤษ ได้ประดิษฐ์อากาศยานพลังไอน้ำ ที่ในภายหลังได้กลายเป็นนวัตกรรมรุ่นบุกเบิกของเฮลิคอปเตอร์ในยุคปัจจุบัน
ค.ศ. 1930 เซอร์แฟรงค์ วิธเติล (Sir Frank Whittle) วิศวกรชาวอังกฤษได้จดสิทธิบัตรเครื่องยนต์เทอร์โบเจท W1 ซึ่งมันถูกใช้บินครั้งแรกในปี ค.ศ. 1941 ในเครื่องบิน Gloster E28/39 หรือ Gloster Whittle
ค.ศ. 1936 สายการบินอเมริกันแอร์ไลนส์ ได้เปิดบริการเที่ยวบินประจำครั้งแรกโดยใช้เครื่องบิน DC-3 ซึ่งเครื่องบินหรูลำนี้ใช้เวลา 16 ชม. ในการเดินทางระหว่างชายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ
ในปี ค.ศ. 1969 บริษัทโบอิ้งเปิดตัวเครื่องบินจัมโบเจ็ทรุ่น 747 มันถูกนำไปให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกกับสายการบินแพนแอม ในเดือน ม.ค. 1970
ค.ศ. 2016 เครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ “โซลาร์อิมพัลส์ 2” สร้างประวัติศาสตร์เป็นเครื่องบินขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนลำแรกที่บินรอบโลกได้สำเร็จ ปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ พากันเร่งแข่งขันพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานแบตเตอรี่
ค.ศ. 2017 การเดินทางทางอากาศได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของการเปิดบริการแท็กซี่อากาศในดูไบ (Dubai) นครใหญ่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คือ การลงนามระหว่างสำนักงานการทางและขนส่งดูไบ กับบริษัท โวโลคอปเตอร์ (Volocopter) ของประเทศเยอรมนี สำหรับการพัฒนาแท็กซี่อากาศไร้คนขับ รับผู้โดยสารได้ 2 คน กำหนดแผนการพัฒนาเทคโนโลยี และการเตรียมการเรื่องกฎระเบียบ สำหรับการเปิดบริการแท็กซี่อากาศอย่างเป็นทางการภายใน 5 ปี ซึ่งในปลายปี ค.ศ. 2017 บริษัท โวโลคอปเตอร์ ก็ได้ทำการทดลองบินแท็กซี่อากาศเป็นครั้งแรก และประสบความสำเร็จด้วยดี จนกระทั่งถึงล่าสุดคาดกันว่า แท็กซี่อากาศ จะสามารถเปิดบริการในดูไบได้เป็นครั้งแรกของโลกใน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
บริษัท โวโลคอปเตอร์ ได้ตั้งเป้าหมายการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีการบินแท็กซี่อากาศ โดยถือว่าโครงการนี้เป็นการ “Built for Technological Leadership” โดยแท็กซี่บิน VoloCity เป็นแท็กซี่บินไฟฟ้าที่ไร้คนขับที่สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 2 คน มีน้ำหนัก (ก่อนรับผู้โดยสาร) 290 กิโลกรัม รับผู้โดยสารได้ 160 กิโลกรัม บินได้ไกลเป็นระยะทางแต่ละครั้ง 27 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง VoloCity ใช้โรเตอร์ 18 ตัวและสามารถขึ้นลงจอดในแนวดิ่งได้ ปัจจุบัน VoloCity ได้รับการทดสอบต่าง ๆ ตามมาตรฐานของ the European Aviation Safety Agency (EASA) และได้รับประกาศนียบัตรรับรองในหลายด้านแล้ว
จับตาการเปิดบริการแท็กซี่อากาศไร้คนขับ เป็นแห่งแรกของโลก ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในปี พ.ศ.2565 ตามรายงานของ Frost & Sullivan Analysis พยากรณ์แนวโน้มของตลาดแท็กซี่อากาศ เมื่อปี พ.ศ. 2562 มองว่า เป็นตลาดใหญ่ระดับโลก จะเปิดบริการเป็นครั้งแรกได้จริงที่ดูไบ พ.ศ. 2565 ตามด้วยตลาดในประเทศ เช่น นิวซีแลนด์, สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ โดยที่ตลาดแท็กซี่อากาศทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มในลำดับเป็นทวีคูณ 45.9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และถึงปี พ.ศ.2583 จะมีแท็กซี่อากาศเปิดบริการเป็นจำนวน 430,000 คัน
อย่างไรก็ตาม แท็กซี่อากาศจะมิใช่ตลาดใหญ่ทั่วโลก เพราะราคาค่าโดยสารที่สูง (กว่าแท็กซี่ปกติ) จึงขึ้นอยู่กับสถานภาพเศรษฐกิจของประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบการจราจรในเมืองทางอากาศ แต่สำหรับประเทศไทยที่ประชาชนมีความต้องการสินค้าเทคโนโลยีในระดับสูงเสมอและชอบลองของใหม่ กอปรกับปัญหาจราจรที่คับคั่งในเมืองใหญ่หลายเมืองในประเทศไทย ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจจะเห็นแท็กซี่อากาศบินให้บริการดังในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในอนาคตที่ไม่ไกลนักในประเทศไทย
ที่่มา : https://www.thairath.co.th/scoop/world/2272700
เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน
(No Ratings Yet)Loading…