จุลสารนวัตกรรม ฉบับที่ 56 – ศึกษาปริทัศน์

Newsletters

วิพากษ์การศึกษาไทยในปัจจุบัน : ต่างชาตินิยม หรือ ไทยนิยม

  ดร.มนัสวี ศรีนนท์

        จากการสังเกตการศึกษาไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา ทำให้เกิดความรู้สึกหลายอย่างผสมปนเปกันไป บางครั้งก็รู้สึกว่าการศึกษาของไทยกำลังจะก้าวหน้าทันประเทศตะวันตกและประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็มีบางครั้งที่มีความรู้สึกว่า จริงหรือที่การศึกษาไทยกำลังจะก้าวไกลจนน่าภาคภูมิใจ นี่คือความรู้สึกจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่ความรู้สึกท้อแท้ต่อปัญหาของการศึกษาที่เกิดขึ้นและกำลังแก้ไขกันอยู่ แต่เป็นความรู้สึกที่ได้พยายามมองอย่างรอบด้านก่อนหน้านี้มาหลายปีและในช่วงปีกว่าๆ มานี้ วงการการศึกษาไทยได้พยายามปรับตัวเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ค่อยมั่นใจมากนักว่า การแก้ไขหรือการดำเนินงานการศึกษาที่ผู้นำการศึกษาทุกระดับชั้นกำลังทำกันอยู่นี้เป็นทิศทางการศึกษาที่เดินมาถูกทางแล้ว หรือเป็นการเดินอยู่บนความเสี่ยง ส่วนผลลัพธ์ที่จะเกิดจากการบริหารการศึกษาในรูปแบบนี้จะดีขึ้นหรือเสียหาย คงต้องลุ้นกันต่อไป
        เพื่อให้เกิดความรู้สึกมั่นใจขึ้นมาบ้างต่อปรากฏการณ์ทางการศึกษา ที่จะทำให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้จัดการการศึกษาก็เกิดความเชื่อมั่นในแนวทางการบริหารการศึกษามากขึ้นหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเมื่อมารับบริการทางการศึกษาแล้ว เกิดความมั่นใจในคุณภาพที่หน่วยงานทางการศึกษาจัดให้ ในทางตรงกันข้าม หากการดำเนินงานการศึกษายังไม่ชัดเจน ไม่เป็นระบบระเบียบ เป็นการดำเนินงานการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความคิดผสมจินตนาการ ย่อมมีแนวโน้มที่การศึกษาจะไม่สามารถเป็นเครื่องมือพัฒนาประชากรของประเทศได้อีก จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจหาคำตอบเกี่ยวกับการศึกษาไทยในปัจจุบันว่า จะใช้แนวทางของชาติตะวันตกเป็นหลักการหรือแนวทางแบบไทย ๆ ที่บูรณาการด้วยแนวคิดและทฤษฎีของไทยเป็นหลักการ

การศึกษาไทยแนวต่างชาตินิยม
        การศึกษาในแนวต่างชาตินิยมนี้คือการจัดการศึกษาที่เดินตามชาติตะวันตกหรือชาติอื่น ๆ ที่ผู้นำทางการศึกษาไทยมองว่าควรนำมาเป็นแบบอย่างในการบริหารการศึกษา ส่วนจะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาไทยหรือไม่คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังจะเห็นจากในอดีตที่วงการการศึกษาไทยได้พยายามนำรูปแบบหรือแนวคิดที่ต่างชาติดำเนินการจนประสบความสำเร็จแล้วมาใช้ แต่ก็ปรากฏว่าหลายครั้ง รูปแบบหรือแนวคิดและทฤษฎีที่ใช้แล้วประสบความสำเร็จ แต่เมื่อนำมาใช้ในไทยแล้วกลับล้มเหลว จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า การนำกระบวนทัศน์การบริหารการศึกษาตามแนวประเทศอื่นมาใช้จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อสืบเรื่องราวเกี่ยวกับการพยายามนำแนวทางการศึกษาของต่างชาติมาใช้นั้น หลัก ๆ ก็มีเหตุปัจจัยอยู่ดังนี้
     1. ความเชื่อมั่นต่อแนวคิดและทฤษฎีของต่างชาติหรือตะวันตกมาก จนเกิดการดูหมิ่นดูแคลนแนวทางการศึกษาแบบไทย
     2. ความไม่เข้าใจต่อแนวทางการจัดการศึกษาแบบไทย ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดหรือหลักการที่คนไทยยึดถือปฏิบัติกันมานาน
ดังนั้น การที่นักการศึกษาไทยทุกระดับชั้นได้นำหลักการหรือแนวคิดทางการศึกษาของต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกมาใช้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการได้เรียนจบการศึกษาในประเทศนั้น ๆ แล้วนำสิ่งที่เรียนมาใช้ประกอบในการทำงาน ส่วนการนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้กับการจัดการศึกษาไทยจะเป็นเพียงแค่การก๊อบปี้แนวคิดมาใช้หรือไม่นั้น ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ การคาดหวังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงแค่เหล้าเก่าของชาติตะวันตก ที่นักการศึกษาไทยนำมาใส่ขวดใหม่เท่านั้นเอง จึงไม่น่าจะคาดหวังถึงมรรคผลทางการศึกษาได้เลย

การศึกษาไทยแนวไทยนิยม
        สำหรับการศึกษาแบบไทยนิยมหรือการจัดการศึกษาที่ตั้งอยู่บนการใช้แนวคิด หลักการ วัฒนธรรม ประเพณี หรือทรัพยากรทางการศึกษาที่เป็นผลิตผลของไทย โดยใช้ทรัพยากรเชิงนามธรรมคือแนวคิดและทรัพยากรเชิงรูปธรรมคือบุคลากร การดำเนินงานการศึกษาด้วยการใช้แนวทางนี้มีทั้งผลบวกและผลลบ แนวทางที่เป็นผลบวก ได้แก่ การได้ความภาคภูมิใจที่ได้นำหลักการหรือปรัชญาแบบไทย ๆ มาบูรณาการใช้กับการศึกษา ซึ่งทำให้เกิดการเข้ากันได้ดีระหว่างคนไทยกับแนวคิดทางการศึกษาแบบไทย เพราะการศึกษาแบบไทยก็ยังมีลักษณะการบริหารจัดการแบบไทย ๆ อยู่ ดังนั้น เมื่อจัดการการศึกษาไทยด้วยการนำแนวคิดทางการศึกษาไทยเป็นหลัก ย่อมทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นทรัพยากรทางการศึกษาไทยเป็นไปในทางที่ดี ส่วนแนวทางที่เป็นเชิงลบนั้นอาจเป็นเพราะการจัดการศึกษาไทย หากใช้แนวทางหรือหลักการแบบไทย อาจถูกมองว่าไม่ทันสมัย เหมือนใช้แนวคิดทางตะวันตกหรือชาติอื่นที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของสังคมสมัยใหม่และคนยุคใหม่มากกว่า
        สรุปแล้วการศึกษาไทยในแนวไทยนิยม เป็นการดำเนินงานการศึกษาแบบที่ใช้ทรัพยากรทุกอย่างแบบไทย ใช้แนวคิดที่มีกลิ่นอายแบบตะวันออกเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการศึกษา เช่น การนำหลักการในพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนามาเป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาของไทย เป็นต้น ดังนั้น การดำเนินงานการศึกษาตามแนวคิดของไทยจึงเป็นแนวทางที่พยายามนำสิ่งดี ๆ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานมาใช้ โดยไม่สนใจว่าสิ่งเหล่านั้นล้าสมัยหรือไม่ หลักสูตร รายวิชา หรืออุปกรณ์ทางการศึกษาที่อาจถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับการศึกษาสมัยใหม่ แต่ถ้าเข้ากันได้ดีกับรูปแบบการศึกษาของไทย ก็เห็นสมควรใช้เป็นเครื่องในการบริหารทางการศึกษาต่อไปได้ เพราะหากไทยนำทรัพยากรทางการศึกษาแบบเดิม ๆ ออกไปจากการศึกษาแล้ว การศึกษาไทยก็อาจเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ จนไม่รู้ว่ากำลังพัฒนาหรือกำลังถอยหลังก็เป็นได้

วิพากษ์การศึกษาไทยในปัจจุบัน
        จากที่กล่าวมาเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาการศึกษาไทยในยุคที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยสะท้อนผ่านแนวคิดของต่างชาติหรือชาติตะวันตกและแนวคิดทางการศึกษาแบบไทย ที่ผสมปนเปกับทรัพยากรทุกอย่างที่คนไทยมีอยู่ จึงทำให้เห็นเป็นภาพชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับทิศทางการศึกษาไทยดังนี้ เมื่อใช้แนวคิดทางการศึกษาของต่างชาตินำการศึกษาไทย ย่อมทำให้ประชาชนคนไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเจริญเติบโตบนพื้นฐานของแนวคิดชาติอื่น ซึ่งไม่ใช่แนวคิดที่คนไทยถนัดและไม่ใช่แนวคิดที่เข้ากันได้ดีกับธรรมชาติของคนไทย ดังนั้น การศึกษาไทยที่ใช้แนวคิดของต่างชาติจึงเป็นได้เพียงแนวทางสำรองที่ควรนำมาใช้เป็นหลักการเสริมและสนับสนุนหลักการหลักเท่านั้น เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การศึกษาไทยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดชาติอื่นก็จะกลายเป็นการทำลายสังคมไทยหรือการศึกษาไทยไปโดยปริยาย เพียงแค่มีความคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเป็นเพียงการนำแนวคิดทางการศึกษาของชาติอื่นมาใช้เท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่ควรลืมว่าการศึกษาไทยคือการบ่มเพาะคนไทยให้มีความเป็นไทยอย่างมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทยด้วย

        โดยสรุป การศึกษาไทยที่สังคมไทยกำลังคาดหวังถึงการเป็นเสาหลักในการผลิตกำลังคนให้กับสังคมนั้นจะเป็นไปได้มากเพียงใดก็คงต้องลุ้นกันต่อไป ยิ่งในปัจจุบันการศึกษาของไทยได้มีการบริหารจัดการโดยแบ่งเป็น 2 กระทรวงใหญ่ ๆ คือ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำให้การศึกษาไทยดูเหมือนจะมีความยิ่งใหญ่และก่อให้เกิดประโยชน์ในหลาย ๆ เรื่อง แต่เมื่อพินิจพิจารณาดูแล้ว ความใหญ่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็อาจกลายเป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการบริหารจัดการคือทำให้การบริหารการศึกษาเกิดความล่าช้านั่นเอง จึงทำให้เกิดคำถามว่า การนำแนวคิดของชาติตะวันตกหรือต่างชาติอื่นมาใช้กับแนวทางการศึกษาแบบไทยเหมาะสมและเข้ากันได้ดีกับสังคมไทยซึ่งมี อัตลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะตนสูงได้มากน้อยเพียงใด และแนวทางไหนที่จะทำให้อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของไทยดังกล่าว มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จนได้ชื่อว่าเป็นการศึกษาที่ทำแล้วไม่สูญเปล่า

เนื้อหานี้มีประโยชน์กับท่านหรือไม่ โปรดให้คะแนน

น้อยที่สุดน้อยมากมากที่สุด (2 votes, average: 2.00 out of 4)
Loading…
Views : 143 views